xs
xsm
sm
md
lg

สงครามน้ำปลา 'นอร์เวย์' ท้ารบ 'ไทย' สะเทือนส่งออก 2 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สงครามน้ำปลา 'นอร์เวย์' ท้ารบ 'ไทย' สะเทือนส่งออก 2 พันล้าน

กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ที่น่าสนใจพอสมควร สำหรับการออกมาผลิตน้ำปลาจากปลาแซลมอนของบริษัท Noumami สัญชาตินอรเวย์ เรื่องนี้มาเป็นประเด็นได้เนื่องจากมีบทวิเคราะห์และข้อมูลออกมาจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ประเมินว่าอาจกระทบต่อการส่งออกน้ำปลาของไทยในต่างประเทศมากถึง 30 %

บทวิเคราะห์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ส่วนหนึ่งระบุว่า บริษัท Noumami ใช้จุดแข็งในอุตสาหกรรมปลาของนอร์เวย์ ก่อตั้ง และผลิตผลิตภัณฑ์น้ำปลาจากปลาแซลมอน หลังจากทำการค้นคว้า และวิจัยมากว่า 5 ปี เริ่มการผลิตน้ำปลาในปี 2561 หลังจากพัฒนาและวิจัยร่วมกับทั้งภาครัฐ และเอกชน ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 การค้าระหว่างประเทศไทย – นอร์เวย์มีมูลค่า 137 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังตลาดนอร์เวย์ 28 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11 % และไทยนำเข้าสินค้าจากนอร์เวย์รวมมูลค่า 73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 46 %

กลุ่มสินค้าอาหารของไทยที่ส่งออกไปยังตลาดนอร์เวย์มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16% ข้าว 0.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 0.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 25% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 0.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 59% และสิ่งปรุงรสอาหาร 0.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% โดยเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำปลา 0.03 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 30 %

สินค้าน้ำปลาจากบริษัท Noumami อาจก่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์น้ำปลาที่มีคุณภาพสูงในนอร์เวย์ และกลุ่มประเทศนอร์ดิก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มนี้มากนัก แต่ในอนาคตอาจกระทบต่อธุรกิจน้ำปลาจากประเทศไทย

ซึ่งบริษัท Noumami เล็งเห็นถึงโอกาสการใช้จุดแข็งของอุตสาหกรรมประมงนอร์เวย์ โดยเฉพาะปลาแซลมอนนอร์เวย์มาเป็นจุดขาย ดัดแปลง และพัฒนาจนมาเป็นน้ำปลาจากปลาแซลมอน รวมถึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่อาหารเอเชียในนอร์เวย์ กลุ่มประเทศนอร์ดิก และทั่วโลกมีความนิยมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ต้องถือว่าผลิตภัณฑ์น้ำปลาของประเทศไทยเป็นสินค้าที่แสดงถึงความเอกลักษณ์ของประเทศ เนื่องจากผลิตหลายรูปแบบให้เลือก แม้ว่าน้ำปลาไทยรัฐบาลอาจจะไม่ได้สนใจในมิติของการเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างชัดเจนมากนักถ้าเทียบกับเทศกาลสงกรานต์ แต่อีกมุมหนึ่งก็สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยในปี 2566 ตามข้อมูลของกรมศุลกากรและสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าสามารถส่งออกน้ำปลาไปต่างประเทศคิดเป็นเงินประมาณ 2,600 ล้านบาท ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่ประเทศไทยส่งออกไปมากที่สุด 517 ล้านบาท

แน่นอนว่าการขยับตัวของผู้ผลิตปลาแซลมอนรายใหญ่อย่างนอร์เวย์ ต้องกระทบประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านน้ำปลาไม่มากก็น้อย ซึ่งเอาเข้าจริงๆแล้วน้ำปลาของไทยก็อยู่ในกระแสของโลกเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากครั้งหนึ่งที่ศิลปินระดับiconic อย่างลิซ่า และ โรเซ่ BLACKPINK ออกมาปรุงพริกน้ำปลาและยกย่องว่าน้ำปลาหวานของไทยเป็นของโปรด แต่จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ค่อยเห็นการขับเคลื่อนต่อยอดมากขึ้น

ปัจจุบันคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร แต่ดูเหมือนว่าจะเน้นการโปรโมทอาหารไทยในลักษณะปลายทางที่เป็นสำเร็จออกมาอยู่บนจานพร้อมเสิร์ฟมากกว่า เช่น ต้มยำกุ้ง ผัดไท แกงมัสมั่น เป็นต้น โดยยังไม่ได้เน้นไปที่รายละเอียด องค์ประกอบ วัตถุดิบ หรือแม้แต่เรื่องราวที่รวมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นอาหารจานนั้นขึ้นมาเท่าใดนัก

ซึ่งการไปโฟกัสดังกล่าวอาจไม่ใช่การเดินหลงทางก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างจากหลายโครงการที่เคยทำกันมาในอดีตแต่อย่างใด

ดังนั้น จากข่าวเล็กๆว่าด้วยเรื่องน้ำปลาคุณภาพของนอร์เวย์ที่กำลังจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดของไทย หากหน่วยงานภาครัฐยังมองข้ามและทำเป็นทองไม่รู้ร้อน และไม่ใส่ใจรายละเอียด บางทีโลกอาจจะรู้จักอาหารไทยที่มีน้ำปลาเป็นส่วนผสม แต่เป็นน้ำปลาจากต่างประเทศ ไม่ใช่ของประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น