xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจไทยกุมขมับ เพิ่มค่าแรงต้นทุนพุ่ง ส่งออกติดลบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เศรษฐกิจไทยกุมขมับ เพิ่มค่าแรงต้นทุนพุ่ง ส่งออกติดลบ

การประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาทในบางพื้นที่ไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดง แต่เวลานี้ดูเหมือนว่าภาคเอกชนดูจะไม่ค่อยโสภาไปกับผลงานชิ้นนี้ของรัฐบาลเท่าใดนัก ภายหลังศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจ

โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า เปิดเผยว่า ได้มีการสำรวจความคิดเห็นภาคเอกชนทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ พบว่า การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ ผลเชิงบวก คือ เมื่อผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้นตามไปด้วย กระตุ้นกำลังซื้อดีและการผลิตและการลงทุนดีขึ้น ส่วนผลเชิงลบ คือ หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป อาจเกิดการว่างงานและกำลังซื้อลดลง เช่น ฝรั่งเศส ปี 2543 ค่าแรงขึ้นมากเกินไปโดยไม่ได้คำนึงถึงผลิตภาพแรงงาน ขณะเดียวกัน นายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า เอกชน 64.7% จะปรับราคาสินค้าและบริการประมาณ 15% ขึ้นไป และ 17.2% คือ ลดปริมาณซึ่งนี่เป็นแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ และ 11.5% มีแนวโน้มที่จะนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน เพราะกำลังการผลิตของแรงงานไม่สามารถเทียบเท่ากับเครื่องจักรได้ และเครื่องจักรมีความแม่นยำ ถูกต้องกว่าแรงงานคน

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการกังวลว่าจะมีภาระต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น แต่ทักษะการทำงานของลูกจ้างยังคงเท่าเดิม ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นก็จริง แต่ภาระต้นทุนอื่นๆ ของการทำธุรกิจสูงขึ้น เช่นเดียวกับ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า แน่นอนว่าผลกระทบนอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการ 72.6% ยังคงเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ยังไม่มีความเหมาะสม และยังมองว่าค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน

นอกจากตัวเลขค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น จนเป็นที่น่าตกใจแล้ว ถ้ามาดูตัวเลขการส่งออกของประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว น่าจะตกใจยิ่งกว่า

นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม มีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 10.9% ซึ่งเป็นการกลับมาติดลบในรอบ 8 เดือน โดยสาเหตุสำคัญมาจากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนและขยายตัวต่ำ จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ อีกทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

สำหรับการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 5.1% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 0.1% แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 9.9% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนสินค้าที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์
กำลังโหลดความคิดเห็น