xs
xsm
sm
md
lg

รับทราบ! ‘บลิงเคน’ ยันสหรัฐฯ แบนส่งออกชิป ‘ไม่มีเจตนา’ เตะถ่วงความเจริญของจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์วานนี้ (26 เม.ย.) ว่า การที่สหรัฐฯ จำกัดการส่งออกชิประดับก้าวหน้าไปยังจีนนั้นไม่ได้มุ่งหมายเตะถ่วงความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีนเลยแม้แต่น้อย

ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการคุมเข้มชิปคอมพิวเตอร์ที่จะสามารถส่งออกไปจีนได้ ซึ่งส่งผลให้บริษัทอย่าง Nvidia, Advanced Micro Devices และ Intel ไม่สามารถส่งออกชิปบางตัวให้ลูกค้าในแดนมังกร และก่อนหน้านั้นสหรัฐฯ ก็ยังออกคำสั่งแบนการส่งออกชิปให้หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของจีนมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้เคยออกใบอนุญาตให้บริษัทอเมริกันอย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ Intel และ Qualcomm ในการส่งออกชิปแก่หัวเว่ย ส่งผลให้ยังคงมีชิปของ Intel ถูกนำไปใช้เป็นขุมพลังให้แล็ปท็อปตัวใหม่ของหัวเว่ยที่เพิ่งจะเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้

สมาชิกพรรครีพับลิกัน 2 คนได้ออกมาวิจารณ์ “ข้อยกเว้น” ดังกล่าวสำหรับ Intel ทว่า บลิงเคน ได้อ้างในบทสัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ NPR เมื่อวานนี้ (26) ว่า นี่คือสัญญาณบ่งบอกว่าวอชิงตันไม่ได้ตั้งใจปิดกั้นการพัฒนาของจีนแต่อย่างใด

“ผมได้ทราบมาว่า หัวเว่ยเพิ่งจะเปิดตัวแล็ปท็อปรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเอไอจากชิปของ Intel” บลิงเคน ให้สัมภาษณ์กับ NPR ระหว่างเยือนกรุงปักกิ่ง

“ผมคิดว่า นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเราโฟกัสไปที่เทคโนโลยีซึ่งเซนซิทีฟมากๆ และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของเราเท่านั้น เราไม่ได้ต้องการตัดตัดสัมพันธ์การค้า หรือว่าควบคุมและฉุดรั้งจีนเลย”

ใบอนุญาตส่งออกชิปของ Intel และ Qualcomm ไปยังหัวเว่ยถูกออกตั้งแต่สมัยรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และยังคงมีผลบังคับใช้มาจนถึงยุคของ โจ ไบเดน ในขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง AMD และ MediaTek ไม่ได้รับข้อยกเว้นในลักษณะนี้ ซึ่งทั้ง ทรัมป์ และ ไบเดน ก็ไม่เคยออกมาชี้แจงว่าเป็นเพราะเหตุใด

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น