xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) “เกาะหูยง” เกาะอนุรักษ์เต่าทะเล พบแนวโน้มแม่เต่าขึ้นวางไข่เพิ่มขึ้น ปีที่แล้ว 167 รัง 3 เดือนแรกปีนี้พบแล้ว 16 รัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:





ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เกาะหูยง หนึ่งในหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา เกาะเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล ให้แม่เต่าขึ้นมาวางไข่ ทัพเรือภาคที่ 3 เข้าเฝ้าดูแลแม่เต่าขึ้นมาวางไข่ อนุบาลไข่เต่าจนฟักออกเป็นตัว ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ เผยแนวโน้มแม่เต่าขั้นวางไข่ดีมาก ปีที่แล้วพบถึง 167 รัง 3 เดือนแรกปีนี้ 16 รังแล้ว ทั้งหมดเป็นแม่เต่าตนุ


เมื่อเร็วๆ นี้ ทัพเรือภาคที่ 3 ได้จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ นำสื่อมวลชนจากจังหวัดภูเก็ต และพังงาเยี่ยมชมภารกิจของทัพเรือภาคที่ 3 ที่เกาะสิมิลัน และเกาะหูยง จ.พังงา โดยเฉพาะโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล ที่เกาะหูยง ที่ทางทัพเรือภาคที่ 3 ได้เข้าไปดำเนินการ มาตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา


เกาะหูยง หรือเกาะหนึ่ง เป็นหนึ่งในหมู่เกาะอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เป็นที่ตั้งของโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่กองทัพเรือได้จัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลฝั่งอันดามัน และมอบหมายให้ทัพเรือภาคที่ 3 จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เมื่อปี 2538 กำหนดจุดอนุบาลเต่าทะเลไว้ 2 จุด พื้นที่แรกเป็นการอนุรักษ์เพาะฟักไข่เต่า ที่เกาะหูยง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือพังงา


นายชาลี ปัดกอง เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เกาะหูยง กล่าวว่า การขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเลที่เกาะหูยงมีแนวโน้มที่ดีมาก ซึ่งจากข้อมูลเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา มีแม่เต่าขึ้นมาวางไข่และเจ้าหน้าที่สามารถเก็บไข่เต่าได้ทั้งหมด 164 รัง ลูกเต่าเพาะฟัก 11,000 กว่าตัว ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วแม่เต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่ปีละประมาณ 80-90 รัง โดยแม่เต่า 1 ตัว จะขึ้นมาวางไข่ครั้งละ 100-150 ฟอง ปีละประมาณ 8 ครั้ง ทำให้แม่เต่าแต่ละตัวขึ้นมาวางไข่ประมาณ 1,000 ฟอง

และในช่วง 3 เดือนของปี 2567 นี้ ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. มีแม่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่แล้ว 16 รัง และช่วงมรสุมระหว่างเดือน พ.ค.-ต.ค. จะมีแม่เต่าขึ้นมาวางไข่มากที่สุด เกือบจะทุกคืน โดยเจ้าหน้าที่จะเดินลาดตระเวนตรวจพื้นที่ต่อวันดูตามตารางน้ำเป็นหลัก


นายชาลี กล่าวต่อว่า แม่เต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ที่เกาะหูยง เป็นเต่าตนุทั้งหมด มีทั้งแม่เต่าทะเลตัวเดิมที่เคยขึ้นมาวางไข่แล้ว และแม่เต่าทะเลตัวใหม่ โดยแม่เต่าที่ขึ้นมาวางไข่ทางเจ้าหน้าที่จะฝังชิปไว้ เพื่อติดตามตัวและเพื่อบันทึกประวัติการขึ้นมาวางไข่ รวมไปถึงขนาดลำตัว กว้างยาว วันที่ขึ้นมาวางไข่ เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาวงจรชีวิตและการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อมูลที่ได้จัดเก็บไว้ ณ ปัจจุบันนี้บนเกาะหูยงจะมีแม่เต่าสลับกันขึ้นมาวางไข่ประมาณ 300 ตัว และแม่เต่าขึ้นมาวางไข่เมื่ออายุประมาณ 15 ปีขึ้นไป


โดยเมื่อแม่เต่าทะเลขึ้นมาว่างไข่จะใช้เวลาในการฟักประมาณ 2 เดือน อัตราการรอดต่อรังอยู่ประมาณ 70% เมื่อลูกเต่าฟักออกมาจะปล่อยสู่ธรรมชาติที่เกาะหูยง 50% และอีก 50% จะนำกลับฐานทัพเรือพังงาและแบ่งให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ภูเก็ต) ไปทำวิจัยต่อไป


อย่างไรก็ตาม ศัตรูตัวร้ายของลูกเต่าทะเล บนเกาะหูยง คือ ปูลม หากปล่อยให้ไข่เต่าฟักเองตามธรรมชาติ เมื่อลูกเต่าฟักออกมาในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ปูลมจะออกหากิน เมื่อปูลมพบลูกเต่าขึ้นจากหลุมจะหนีบที่ช่วงคอและพายของลูกเต่า จึงจำเป็นต้องนำไข่เต่ามาอนุบาลในบ่อฟัก และต้องเฝ้าดูแลอนุบาลเป็นอย่างดีจนกว่าไข่จะฟักออกมาเป็นตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น