xs
xsm
sm
md
lg

สางวิกฤตลูกหนี้ กยศ.ถูกดำเนินคดี รื้อสัญญา ปลดแอกผู้ค้ำประกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กล่าวสำหรับ  “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)”  แม้เป็นโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทย แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ  “หนี้ กยศ.” กลายเป็นภาระผูกพัน จะเรียกว่าหนักอึ้งก็ไม่เกินความจริงนัก เพราะผู้กู้เรียนจบทำงานกันมาหลายปีก็ยังใช้หนี้ไม่หมด โดยหนึ่งในปัญหาที่ยังคั่งค้างและแก้ไม่ตกเสียทีก็คือ ผู้กู้ยืมประมาณ 60,000 ซึ่งถูกดำเนินคดีในช่วงปี 2557 และก่อให้เกิดปัญหาลามไปถึง  “ผู้ค้ำประกัน” ที่ต้องมาแบกรับภาระแทน

ทั้งนี้ ปัญหาในอดีตที่ผ่านมา ก็คือเงื่อนไขของ “เจ้าหนี้ กยศ.” ทำให้เกิดปัญหาจ่ายเท่าไหร่จะถูกตัดจ่ายแค่เบี้ยปรับส่วนเงินต้นกลับไม่ลดลง กระทั่งเกิดการเรียกร้องนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 มีการคำนวณยอดหนี้ใหม่ที่เป็นธรรม จากการเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ให้ตัดเงินต้นเป็นอันดับแรก และการปรับลดอัตราเบี้ยปรับเดิม 18% ต่อปี เป็น 0.5% ต่อปี โดยกฎหมายจะมีผลย้อนสำหรับผู้กู้ กยศ. ที่ยังมีบัญชีกู้ยืมกับ กยศ.

 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าตามกฎหมายฉบับใหม่จะมีการคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ กยศ. ใหม่ โดยปรับลำดับการตัดยอดหนี้ จากเดิมเมื่อลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้มาแล้ว จะตัดยอดดอกเบี้ยผิดนัดชำระก่อน ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่และเงินต้น แต่การคำนวณใหม่จะปรับลำดับเริ่มจากตัดเงินต้นก่อน แล้วจากนั้นจึงตัดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่และดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ทำให้เงินต้นลดลงเร็วมากกว่าเดิม ซึ่งจะครอบคลุมลูกหนี้ประมาณ 3.5 ล้านราย ที่ยังมีสถานะเป็นลูกหนี้ของกองทุน กยศ.

“ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระมาแล้ว เมื่อคำนวณใหม่ จะมีภาระหนี้ลดลงอย่างชัดเจน ส่วนลูกหนี้บางรายที่ยังผ่อนอยู่ยังไม่หมด เมื่อคำนวณใหม่อาจจะหมดหนี้และปิดหนี้ได้เลย แต่ที่ต้องดูเพิ่มเติมหลังกฎหมายใหม่ออกมานั่นคือกลุ่มของลูกหนี้ที่ปิดยอดไปแล้ว กยศ.จะตามไปคำนวณยอดหนี้ให้เช่นกัน” นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

สำหรับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในแต่ละปีปล่อยเงินกู้ให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการเงินกู้เพื่อการศึกษาราวๆ 4 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1% ต่อปี โดยปัจจุบันสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาท มีลูกหนี้ 3.5 ล้านคน

  ภาพรวมสถานการณ์ดำเนินงานของกองทุนฯ กยศ. ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 มีผู้กู้ยืม กยศ. ทั้งสิ้น 6.8 ล้านราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืม 7.52 แสนล้านบาท จำแนกเป็น ผู้กู้ที่อยู่ในช่วงการศึกษา หรือ ปลอดหนี้ จำนวน 1.4 ล้านราย ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1.8 ล้านราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านราย เสียชีวิตและทุพพลภาพ 7.2 หมื่นราย

ผู้กู้ที่ไม่นัดชำระหนี้ จำนวน 3.12 ล้านราย คิดเป็น 58% โดยชำระปิดบัญชีจำนวน 1.8 ล้านราย ชำระหนี้ตามปกติ 1.3 ล้านราย และผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ จำนวน 2.2 ล้านราย หรือ 41% คิดเป็นเงินต้นที่ผิดนัดชำระจำนวน 9.74 หมื่นล้านบาท 

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์  ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่ายอดหนี้เสียของกองทุนในปัจจุบัน ปี 2567 มีอยู่ราวๆ 1 แสนล้านบาท ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวนับจากปี 2560 ที่มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งประเมินว่ายอดหนี้เสียดังกล่าวจะทยอยลดลง หลังจากที่กองทุนฯ ได้ปรับวิธีการคำนวณการชำระหนี้ใหม่

โดยประเมินสาเหตุที่หนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยของ กยศ. ที่คิดในอัตราต่ำเพียง 1% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของ กยศ. ดังนั้น จึงมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่อาจจะมีภาระหนี้หลายทาง ไม่ว่าหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนรถยนต์ เลือกที่จะชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อนการชำระหนี้ให้กับ กยศ.

นายชัยณรงค์ ระบุว่า ตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2566 ได้ปรับวิธีการคำนวณหนี้ใหม่ จากเดิมในกรณีที่ลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้ต่อกองทุน และภายหลังมีการทยอยชำระเข้ามา เงินที่ชำระเข้ามา จะต้องนำไปตัดค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ต่อมาก็นำมาตัดดอกเบี้ยที่ค้างชำระ สุดท้ายจึงมาตัดเงินต้น ทำให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ค้างชำระ เมื่อนำเงินเข้ามาชำระหนี้ เงินต้นจะลดลงน้อยมาก แต่การคำนวณหนี้ใหม่ เมื่อมีการชำระเข้ามา เงินนั้นจะไปตัดที่เงินต้นก่อน แล้วจึงค่อยมาตัดภาระดอกเบี้ยค้าง และสุดท้ายมาตัดที่ค่าปรับ

รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา โดยตามกฎหมายเดิม กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1% ต่อปี แต่กฎหมายใหม่ กำหนดให้ ไม่เกิน 1% ต่อปี หมายความว่า จะกำหนดให้ต่ำกว่า 1% ก็ได้ ส่วนค่าปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้นั้น กฎหมายเดิม กำหนดให้คิดค่าปรับ 7.5% แต่กฎหมายใหม่ คิดเพียง 0.5 % เท่านั้น ซึ่งการคำนวณหนี้แบบใหม่ดังกล่าว จะทำให้ลูกหนี้ต้องการมาชำระหนี้ที่ค้างอยู่มากขึ้น เนื่องจากภาระหนี้จะลดเร็วกว่าเดิม

นอกจากนี้ สถานการณ์ปัญหาที่ต้องติดตาม กรณี  “ลูกหนี้ กยศ.” ออกมาจากระบบการศึกษา แต่ไม่จ่ายเงินให้กองทุน กยศ. จำนวนมาก ด้วยประสบปัญหาใดก็ตามแต่ มีการไล่บี้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ซ้ำร้ายยังเดือดร้อนไปยังผู้ค้ำประกัน

ล่าสุด ตรวจสอบพบว่ามีผู้กู้ยืมประมาณ 60,000 ถูกดำเนินคดีในช่วงปี 2557 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ยังมีภาระหนี้ค้าง โดยทาง กยศ. มีแนวทางแก้ปัญหาได้เปิดให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้กู้ยืม โดยเชิญให้ผู้กู้ยืมติดต่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้มีโอกาสผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาใหม่ เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้อีก 15 ปี และผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดทันทีหลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยทางกองทุนฯ มีความจำเป็นต้องบังคับคดีไว้ก่อน เพื่อป้องกันการขาดอายุความ แต่จะงดการขายทอดตลาดไว้ ขอให้ผู้กู้ยืมกลุ่มดังกล่าวไม่ต้องกังวลใจ

สำหรับเงื่อนไขในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กำหนดให้ผู้กู้ยืมผ่อนชำระเงินคืนกองทุนฯ เป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน และต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี โดยในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ เมื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้นกองทุนฯจะให้ส่วนลดเบี้ยปรับเดิมที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด

สำหรับประเด็น “แก้หนี้ กยศ.” เป็นสถานการณ์ปัญหาที่รัฐบาลโดยที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้แก้ไขเร่งด่วนและแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย

 นายชัย วัชรงค์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ระบุว่า ลูกหนี้ กยศ. ในปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้มีกว่า 3.5 ล้านราย คิดเป็นเงินมูลค่าจำนวน 454,645 ล้านบาท ในส่วนของหนี้ที่คงค้างอยู่ในขณะนี้ 5.3 ล้านราย ผิดนัด 49% มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วตั้งแต่ปี 2547 จำนวน 5 ล้านคน โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดูแลและให้บูรณาการความร่วมมือกัน

โดยการดำเนินงาน กยศ. ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการที่รองรับกฎหมายหลายประเด็น รวมทั้งออกประกาศปรับปรุงยอดหนี้ กองทุน หลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการคืนเงิน ส่วนที่ชำระเงินที่ปรับปรุงใหม่ รวมถึงระเบียบกองทุนที่งดบังคับคดีชั่วคราวสำหรับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกัน

โดยเชื่อว่าแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ที่กล่าวมาจะส่งผลให้ผู้กู้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน รวมถึงลดกระบวนการดำเนินคดีและบังคับคดี และกองทุนฯ กยศ. จะมีเงินกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สามารถนำไปหมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไป

 สถานการณ์ “แก้หนี้ กยศ.” นับเป็นโจทย์อีกข้อใหญ่ ของ “รัฐบาลเศรษฐา” 


กำลังโหลดความคิดเห็น