xs
xsm
sm
md
lg

แจกหมื่นดิจิทัล ขับวนชนด่าน “กฤษฎีกา” นายกฯ สั่งเคลียร์ปมล้วงเงิน ธ.ก.ส.ได้หรือไม่? “เอกสารลับแบงก์ชาติ” ให้เน้นกลุ่มเปราะบาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นโยบายเรือธงแจกดิจิทัล วอลเลต หัวละหมื่น 50 ล้านคน ยังอยู่ในสภาพลงเรือน้อยลอยวนในสายชลที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวางกั้น โขดหินแข็งแกร่งอย่างแบงก์ชาติซึ่งไม่เห็นด้วยก็ยังฟันฝ่าไปไม่สะเด็ดน้ำ มิหนำซ้ำ “ด่านกฤษฎีกา” ที่วนไปขอให้ตีความ “แหล่งเงิน ธ.ก.ส.” ก็ต้องลุ้นหนัก


ความเห็นต่างคล้ายเส้นทางคู่ขนานระหว่าง “เศรษฐา” กับ “เศรษฐพุฒิ” ยังเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในโครงการแจกหมื่นดิจิทัล ล่าสุดก็มีการปล่อย “เอกสารลับ” ที่แบงก์ชาติคัดค้านออกมา ซึ่งเนื้อหาก็เป็นข้อทักท้วงอย่างที่รู้กัน โดยประเด็นสำคัญที่แบงก์ชาติเน้นย้ำคือ อยากให้แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยากลำบากจริง ๆ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลพิจารณาแล้วหลายครั้งหลายครา และยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการแบบ “แจกเกือบถ้วนหน้า 50 ล้านคน” ต่อไป

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แจกแจงกรณีเอกสารลับจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทบทวนพร้อมตั้งข้อสังเกตในโครงการแจกดิจิทัล วอลเลต ว่าเป็นหนังสือให้ความเห็นประกอบเรื่องนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เสนอความเห็นมา ทั้งกฤษฎีกา กระทรวงการคลัง กระทรวงดีอีเอส ส่วนข้อกังวลว่าจะสร้างความเสี่ยงด้านการคลังเพิ่มขึ้นนั้น การดูแลความเสี่ยงทางการคลังเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ไม่ใช่หน้าที่ของแบงก์ชาติ ทางคลังเองก็ทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว มั่นใจว่าจะไม่กระทบความเสี่ยงใด ๆ

เมื่อมีการจุดประเด็นเป็นกระแสร้อนแรงขึ้น ทางนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกตัวว่า ธปท.ไม่ได้ขัดขวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่เรื่องรูปแบบถ้าเป็นไปได้อยากให้ช่วยกลุ่มที่มีความยากลำบากจริง ๆ ซึ่งคุ้มค่ากับเม็ดเงิน และในหลักเศรษฐศาสตร์ถ้ากระตุ้นคนที่ขาดจะมีแรงส่งสูงต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่คุยกันว่าถ้าเป็นไปได้เป็นแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายน่าจะดี ประหยัดงบประมาณ และในแง่เสถียรภาพทางการเงินอยากจะมั่นใจว่าทำให้ยั่งยืนและตามกรอบที่ควรจะเป็น

เป็นการโต้กลับกันไปมาในท่วงทำนองที่ว่าเรื่องการคลังเป็นเรื่องของรัฐบาล แบงก์ชาติซึ่งดูแลด้านการเงิน เป็นห่วงได้แต่ไม่ต้องมายุ่งให้เยอะ แบงก์ชาติก็ว่าไม่ได้ขวางแต่อยากให้ทำแล้วคุ้มค่า ตอกย้ำความเห็นขัดแย้งที่คุกรุ่นระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายยก ไม่แต่โครงการแจกดิจิทัล วอลเลต เท่านั้น เรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบายที่รัฐบาลขอให้พิจารณาปรับลดลง แบงก์ชาติก็ยืนกระต่ายขาเดียวว่าไม่ลด พร้อมยกแม่น้ำร้อยสายคงดอกเบี้ยสูงเหมาะสมดีแล้วด้วยประการทั้งปวง

วนกลับมาดูประเด็นเรื่องแหล่งเงินในโครงการดิจิทัล วอลเลต ซึ่งยังมีปมปัญหาอยู่ว่าจะเอาเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาใช้ได้หรือไม่ เพราะมีหลายเสียงเป็นห่วงว่าไม่น่าจะทำได้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ว่า ข้อห่วงใยใด ๆ เช่น ประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. นั้น ได้สั่งการว่าหากมีประเด็นข้อสงสัยให้ส่งเรื่องไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายกรัฐมนตรี แจงว่า ทุกพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบในหลักการโครงการเติมเงินหมื่นบาท ผ่านดิจิทัล วอลเลต แล้ว โดยที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ความเห็นของคณะทำงานฯ และมีมติเห็นชอบหลักการและกรอบการดำเนินงานโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเลต ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการฯ แนวทางเข้าร่วมโครงการของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า และการลงทะเบียนร้านค้า รวมถึงแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงบประมาณ จะดำเนินการศึกษาในรายละเอียดต่อไป

นายจุลพันธ์ กล่าวย้ำว่า นายกฯ ได้สั่งหากมีข้อสงสัยประเด็นใดในเรื่องที่เป็นข้อกฎหมายให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด

เมื่อถามว่า จะมีการเสนอบอร์ด ธ.ก.ส. เพื่อให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการเติมเงิน หมื่นบาท ผ่านดิจิทัล วอลเลต ได้เมื่อใด นายจุลพันธ์ ระบุว่า การดำเนินการกระบวนการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ถือเป็นกระบวนการงบประมาณประเภทหนึ่งที่เรียกว่าการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ซึ่งการดำเนินการตามกรอบของมาตรา 28 จะเริ่มต้นประมาณเดือนตุลาคม 2567 ใกล้ ๆ ช่วงนั้นจึงจะพิจารณาผ่านบอร์ด ธ.ก.ส. การดำเนินการตามมาตรา 28 จะต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติอีกครั้ง

ส่วนเรื่องที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (สร.ธ.ก.ส.) เป็นห่วงที่สุด คือ กรอบอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. จะส่งเรื่องสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า เรื่องที่จะส่งให้กฤษฎีกาตีความ คือ เรื่องอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส.

ขณะที่ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงประเด็นแหล่งเงิน ธ.ก.ส.ที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเลต ว่า ธปท. กำกับดูแล ธ.ก.ส.ในแง่เสถียรภาพของระบบการเงิน ธปท.ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร ขึ้นอยู่กับการตีความของกฤษฎีกาว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 28 หรือไม่ และคณะกรรมการธนาคาร ธ.ก.ส. (บอร์ด) จะพิจารณา

มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นั้น แบงก์ชาติได้ตั้งข้อสังเกตถึงแหล่งเงินในโครงการดิจิทัล วอลเลต ซึ่งใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส. ว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 28 หรือไม่ และมองว่าจะผิดวัตถุประสงค์ แต่ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าทำได้

ขณะที่ สร.ธ.ก.ส. เคลื่อนไหวต่อเนื่องขอให้ส่งเรื่องให้หน่วยงานกำกับดูแล ธ.ก.ส. ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาว่ารัฐบาลสามารถกู้เงิน ธ.ก.ส. ไปดำเนินการโครงการดิจิทัล วอลเลต ได้หรือไม่ พร้อมกับขอให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาข้อกฎหมายว่า รัฐบาลสามารถกู้เงิน ธ.ก.ส.ไปดำเนินการโครงการฯ ได้หรือไม่

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตประธาน ธ.ก.ส. ก็ออกมาเตือนว่าให้ระวังการใช้เงิน ธ.ก.ส.ผิดวัตถุประสงค์ เช่นเดียวกัน ซึ่งนับตั้งแต่มี พ.ร.บ.วินัยทางการคลัง ปี 2561 มาตรา 28 ย้ำชัดเจนว่ารัฐบาลจะใช้เงินของรัฐวิสาหกิจโดยขัดหรือไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ไม่ได้

วิจัยกรุงศรี ออกรายงานระบุว่า แม้แหล่งเงินที่ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลตจะชัดขึ้น กล่าวคือ 1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท 2.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 1.527 แสนล้านบาท และ 3.การใช้เงินตามมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยใช้เงินจาก ธ.ก.ส. วงเงิน 1.723 แสนล้านบาท สำหรับเกษตรกร 17 ล้านคน ทั้งนี้ ทางการมีแผนเปิดให้ประชาชนและร้านค้าเริ่มลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในไตรมาส 3 และกำหนดจะให้ใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่ยังมีอุปสรรคและความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า เช่น กระบวนการระดมทุน เงื่อนไขการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กในระดับอำเภอ และระหว่างร้านค้ากับร้านค้าไม่จำกัดพื้นที่ การขึ้นเงินสดของร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีและต้องใช้จ่ายในรอบที่สองขึ้นไป

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าโครงการนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจรวมแล้วคิดเป็น 0.5-1.1% ของ GDP ซึ่งผลกระทบในแต่ละปีจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับรายละเอียด เงื่อนไข ช่วงเวลา และการเริ่มโครงการ นอกจากนี้ ในส่วนของงบประมาณปี 2567 เป็นเงินที่รวมอยู่ในประมาณการเศรษฐกิจแล้วทั้งนี้ โครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตแม้เพิ่มความหวังการใช้จ่ายภาคเอกชนที่จะเติบโตเร่งขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่การบริโภคในระยะนี้อาจถูกปัจจัยกดดันจากกำลังซื้อที่อ่อนแอลงในไตรมาส 2/2567 หลังจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ Easy E-Receipt ในเดือนกุมภาพันธ์ แนวโน้มรายได้เกษตรกรที่หดตัวจากการลดลงของผลผลิต และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 91.3% ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 4/2566

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ มีมุมมองว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทว่า การใช้แหล่งเงินจาก ธ.ก.ส. และจากงบประมาณปี 2567 ไม่ใช่ “แหล่งเงินใหม่” เป็นแต่เพียงการ “สูบออกสูบเข้า” ซึ่ง ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อธิบายแบบภาษาชาวบ้าน รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้ขาดเลือด ต้องเอาเลือดสูบเข้าร่างกาย แต่เลือดที่จะสูบเข้านี้ ไม่ได้มาจากไหน เป็นเลือดที่รัฐบาลสูบออกไปจากคนไข้นั่นเอง

การ “สูบออกสูบเข้า” จึงไม่ใช่พายุหมุนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตามคำโฆษณาของรัฐบาลที่ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 5 เปอร์เซนต์ แต่เป็นแค่ “ลมโชย” เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น