xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายแอม-ไซยาไนด์” ร้องเอาผิด “บิ๊กโจ๊ก” ผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อ้างคุมตัวไว้สโมสรตำรวจ-ไปกดดันในคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณรัตน์ หรือ “พัช” ทนายความของ น.ส.สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ “แอม ไซยาไนด์”
“ทนายเเอม-ไซยาไนด์” ยื่นร้องเอาผิด “บิ๊กโจ๊ก” กับพวก ผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ 7 ประเด็น อ้างคุมตัวมาไว้สโมสรตำรวจ-เข้าไปกดดันในคุก “อัยการวัชรินทร์” สั่งสอบข้อเท็จจริงเพียงพอหรือไม่ พร้อมเผยอัตราโทษหนัก จำคุก 5-15 ปี

วันนี้ (26 เม.ย.) ที่สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารถนนบรมราชชนนี น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณรัตน์ หรือ “พัช” ทนายความของ น.ส.สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ “แอม ไซยาไนด์” เข้ายื่นหนังสือ ต่อ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และ นายปรัชญา ทัพทอง อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 5 ให้ตรวจสอบดำเนินคดี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.พร้อมตำรวจชุมจับกุม น.ส.สรารัตน์ หรือ แอม กรณีกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เมื่อครั้งดำเนินการจับกุม น.ส.สรารัตน์ หรือไม่

น.ส.ธันย์นิชา ทนายความ กล่าวว่า วันนี้มาร้องเรียน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เเละชุดจับกุมให้คณะกรรมการป้องกันการอุ้มทรมานฯได้พิจารณาทั้งหมด 7 ประเด็น ซึ่งอาจจะมีคนเข้าข่ายกระทำผิดเป็นร้อยคน แต่มุ่งให้ตรวจสอบชุดจับกุมก่อน เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้ว่าเวลามาจับกุมต้องจะต้องมีวิธีการบันทึกวีดีโอบันทึกภาพในลักษณะที่ต่อเนื่องจนกว่าจะถึงมือของพนักงานสอบสวน แต่วันดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการพาตัวผู้ต้องหาไปที่สโมสรตำรวจไม่ได้พาไปที่กองบังคับการกองปราบปรามทันที

และที่น่าสังเกตคือ จับกุมตัวกี่โมงและกว่าจะนำไปถึงกี่โมงและกว่าจะได้ส่งตัวผู้ต้องหาไปส่งให้กับพนักงานสอบสวนโดยเร็วที่สุด และที่สำคัญ ควรจะต้องมีการบันทึกวีดีโอเอาไว้อย่างต่อเนื่องเวลาใด มีช่วงเวลาที่หายไป แล้วพาไปสโมสรตำรวจ สนามฟุตบอลอยากถามว่าพาไปทำอะไร เพราะตามหลักการควรทีโดยเร็วที่สุด และที่สำคัญ ควรจะต้องมีการบันทึกวีดีโอเอาไว้อย่างต่อเนื่อง โดยวันเกิดเหตุที่ถูกจับกุม คือ จับกุม 26 เม.ย. 2566 ก็ครบ 1 ปี ต้องเรียนว่าพนักงานสอบสวนจะประจำอยู่ที่กองปราบฯ แต่ตอนจับกลับพาไปที่สโมสรตำรวจ ซึ่งอยากถามว่ามันใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือไม่ เเละพอนำตัวไปที่สโมสรตำรวจก็ไม่ได้มีการสอบสวนอะไรเพิ่มเติมใดๆ ด้วย เพราะว่าทนายความก็ได้ไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดและภาพข่าวย้อนหลังว่ามีการสอบปากคำหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรเลยไปนั่งเฉยๆ เหมือนมีการพาไปแห่นางแมว พาไปเจอนักข่าว พาไปนั่งกับตำรวจ

เเละยังมีกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กับพวก ประกอบด้วย พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจน์พงษ์ พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย มีการเข้าไปในเรือนจำไปลักษณะให้ น.ส.สรารัตน์ หรือ แอม รับสารภาพใช่หรือไม่ โดยเข้าไปจำนวนหลายครั้งไปวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไปวันหยุดพิเศษ จนกระทั่งไปนอกเวลาทำการ ทั้งที่ น.ส.สรารัตน์ กำลังตั้งครรภ์อยู่และภายหลังเเท้งลูก ยืนยันว่า ไม่ใช่มาร้อง เพราะ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขาลง แต่เพราะเราได้รวบรวมพยานหลักฐานเเละครบกำหนด 1 ปี ที่โดนคุมตัว ไม่ได้เป็นการดิสเครดิต

ด้าน นายวัชรินทร์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน กล่าวว่า เราเป็นศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและสูญหาย เรื่องนี้เท่าที่ทราบ คือ เหตุการณ์เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ เราก็จะรับเรื่องเพื่อที่จะตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงต่อไปว่าพยานหลักฐานจะเข้าข้อกฎหมายใด โดยมอบให้อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 5 เป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเราจะต้องพิจารณาดูสิ่งที่ทนายความนำเอกสารหลักฐานมายื่นให้ว่าจะเข้า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ มาตรา 5, 6, 7 ที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ได้หรือไม่ ส่วน มาตรา 42 ที่ น.ส.ธันย์นิชา ระบุ เป็นเรื่องผู้บังคับบัญชาซึ่งเราก็ต้องดูว่ามีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

ก็ขึ้นกับ น.ส.ธันย์นิชา ว่า วันนี้ พร้อมที่จะให้การหรือไม่ ถ้าพร้อมเราก็จะเชิญเข้าไปเพื่อบันทึกปากคำได้เลย เพราะศูนย์นี้จะทำแบบรวดเร็ว ฝากไปถึงชาวบ้านใครมาร้องเรียนในเรื่องที่ญาติตัวเองถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำการข่มขู่ หรือ ซ้อมให้รับสารภาพในการจับกุม หรือแม้กระทั่งควบคุมตัวโดยไม่รู้ว่าญาติพี่น้องตัวเองหายไปไหน ศูนย์นี้เปิดรับตลอดเวลา ถ้าเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ก็ต้องแจ้งมาที่ศูนย์นี้เลย หลังจากสอบพยานหลักฐานก็อาจจะสอบปากคำทนายความก่อน

เมื่อถามว่า น.ส.ธันย์นิชา ทนายความ มีสิทธิยื่นเรื่องหรือไม่

นายวัชรินทร์ กล่าวว่า คือกฎหมายฉบับนี้ขยายความไปมาก ไม่ว่าจะเป็นใครก็ยื่นได้หมดรวมกระทั่งนักข่าว ประชาชนทั่วไป ถ้าทราบว่า มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถมายื่นได้หมด และหากเป็นการยื่นโดยสุจริต เชื่อว่า มีการกระทำจริงแต่มาตรวจพบว่าไม่มีการกระทำคนที่ยื่นก็ไม่มีความผิด ส่วนจะต้องเรียก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มาหรือไม่ ขั้นตอนนั้นจะต้องตั้งเป็นคดีก่อน เบื้องต้นเราจะประเมินว่าข้อมูลพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ก่อนจะนำเสนออธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ถ้าอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนพิจารณาเเล้วเห็นว่ามีมูลจริงมีการกระทำผิด ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้จริง เราก็จะตั้งคณะทำงานขึ้นมา ซึ่งช่องทางในการสอบสวนตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้มี 4 ช่องทาง คือ 1. มาร้องอัยการโดยตรง 2. ร้องทางตำรวจ 3. ร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ และช่องทาง 4. ร้องกรมการปกครอง แต่ถ้าไปร้องหน่วยอื่นที่ไม่ใช่อัยการ กฎหมายฉบับนี้บอกขัดเจนว่าต้องเชิญอัยการเข้าไปตรวจสอบกำกับการสอบสวน แต่ถ้ามาร้องอัยการโดยตรงอัยการก็จะเข้าไปสอบสวนเอง เพราะอัยการมีอำนาจสอบสวน ส่วนที่ถามกรณีตามมาตรา 42 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่เข้าไปในเรือนจำอาจจะโดนในฐานะผู้บังคับบัญชาที่ต้องโทษกึ่งนึงหรือไม่นั้น ตนไม่ขอยกตัวอย่างเคสนี้เพราะไม่ได้ดูในเนื้อหา แต่ตนยกเรื่องทั่วไปถ้าเป็นผู้บังคับบัญชา แล้วร่วมกันทำการกับลูกน้องโดยร่วมกันทรมานหรือขู่บังคับก็จะผิดตามมาตรา 5, 6, 7 ซึ่งมาตรา 7 ก็บัญญัติไว้ว่าจับเเล้วไม่ส่งพนักงานสอบสวนนำไปเซฟเฮาส์ ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดตามมาตรา 5, 6, 7 ด้วย จะต่างกับมาตรา 42 ที่ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ไปทำเเต่รู้ว่าลูกน้องทำอยู่เเล้วไม่ห้ามปรามหรือสอบสวน อันนี้ถึงจะโดนตามมาตรา 42 ที่มีโทษเเค่กึ่งหนึ่ง

นายวัชรินทร์ เปิดเผยอีกว่า มาตรา 5 มีอัตราโทษจำคุกตั้งเเต่ 5-15 ปี มาตรา 6 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี มาตรา 7 ที่ไม่พาไปพบพนักงานสอบสวนจำคุก 5-15 ปี ซึ่งเคสที่ดังๆ ที่ผ่านมา ก็มีคดีเป้รักผู้การ 140 ล้าน เเละคดีลุงเปี๊ยก
กำลังโหลดความคิดเห็น