xs
xsm
sm
md
lg

เวียงวังหมื่นปี (8) สู่พระที่นั่งองค์กลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


พระที่นั่งมัชฌิมาบรรสาน (จงเหอเตี้ยน) ภาพ : วิกิพีเดีย
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 การที่พระที่นั่งบรมบรรสานหรือไท่เหอเตี้ยนถูกใช้ในการสำคัญต่างๆ นั้น ทำให้เห็นว่า การจัดให้พระที่นั่งองค์นี้อยู่ตรงส่วนหน้าสุดของพระราชวังต้องห้ามนั้น น่าเป็นไปตามหลักการปกครองที่มีมาแต่โบราณ ที่พึงให้รัฐกิจมีความสำคัญสูงสุด โดยบรรดาเสนามาตย์จะเข้ามาทางด้านหน้าของวัง ส่วนจักรพรรดิจะเข้ามาจากทางด้านหลังของวัง แล้วทั้งหมดก็มาพบกันที่พระที่นั่งนี้ 


เหล่าเสนามาตย์ที่มาจากด้านหน้าของวังย่อมมาจากนิวาสถานของตน คงไม่มีประเด็นอะไรให้ต้องกล่าวถึง แต่กับจักรพรรดิที่พำนักอยู่ในวังและมาจากด้านหลังของวังแล้วย่อมมีประเด็นคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วจักรพรรดิเสด็จมาทางใด

จักรพรรดิเสด็จมาจากด้านหลังของวังจริง โดยก่อนที่จะเสด็จเข้ามายังพระที่นั่งบรมบรรสานนั้นจะต้องเสด็จผ่าน พระที่นั่งมัชฌิมาบรรสาน (จงเหอเตี้ยน)  ก่อน อันเป็นพระที่นั่งที่ตั้งอยู่ระหว่าง  พระที่นั่งบรมบรรสานกับพระที่นั่งพิทักษ์บรรสาน (เป่าเหอเตี้ยน)  โดยที่พระที่นั่งทั้งสามองค์นี้ตั้งเรียงกันเช่นนี้ตามลำดับ พระที่นั่งทั้งสามองค์นี้จึงถูกเรียกว่า สามพระที่นั่งใหญ่ (ซันต้าเตี้ยน, Three Great Halls) 

สามพระที่นั่งใหญ่นี้จงเหอเตี้ยนเป็นพระที่นั่งองค์เล็กที่สุด ขนาดของพระที่นั่งองค์นี้จะกว้างและยาวห้าห้อง หรือประมาณ 24.15 เมตร มีพื้นที่ 580 ตารางเมตร โดยเมื่อมองจากมุมสูงแล้วจะเห็นได้ว่า สถาปนิกผู้ออกแบบตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงมิให้แบบของพระที่นั่งที่ซ้ำกัน แต่ก็ไม่ต้องการให้แบบที่ออกมาผิดรูปจนไม่สอดคล้องต้องกัน ด้วยเหตุนี้ จงเหอเตี้ยนแม้จะเป็นพระที่นั่งองค์ที่มีขนาดเล็ก แต่ก็มีความลงตัวกับอีกสองพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่อยู่หน้าหลัง

กรณีนี้ทำให้เห็นถึงฝีมือชั้นครูของสถาปนิกผู้ออกแบบโดยแท้

หลังคาของจงเหอเตี้ยนยังคงเรืองรองเปล่งประกายสีทองดังไท่เหอเตี้ยน แต่ที่แตกต่างออกไปก็คือ พระที่นั่งองค์นี้ถูกตกแต่งอย่างเรียบง่าย ถึงแม้กลางพระที่นั่งจะมีบัลลังก์ตั้งอยู่ด้วยก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เวลาที่จักรพรรดิจะเสด็จในการราชพิธีหรือเทศกาลใดที่ไท่เหอเตี้ยนก็ตาม พระองค์จักต้องผ่านจงเหอเตี้ยนเพื่อทรงพักผ่อนพระอิริยาบถก่อน ต่อเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วจึงจะเสด็จไปยังไท่เหอเตี้ยน

การเสด็จจากด้านหลังสุดของวังอันเป็นที่พำนักของจักรพรรดินี้จะมิได้ทรงเดิน หากแต่เสด็จโดยประทับบนเสลี่ยงองค์ใดองค์หนึ่งจากที่มีอยู่สององค์ องค์หนึ่งเป็นเสลี่ยงสีดำ อีกองค์หนึ่งเป็นเสลี่ยงที่มีสีสันและการประดับประดา ที่เหมือนกันคือ ทั้งสององค์ต่างก็มีมังกรดั้นเมฆประดับอยู่ ทั้งนี้เสลี่ยงองค์แรกจะใช้คนหามแปดคน องค์หลังจะใช้คนหาม 16 คน

นอกจากนี้ เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิที่ชาวนาเริ่มทำการไถหว่านบนที่ดินของตนนั้น จักรพรรดิจะทรงทำพิธีแรกนาขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่การเกษตรด้วย ในพิธีนี้จักรพรรดิจะทรงเริ่มด้วยการเสด็จไปเซ่นบวงสรวงยัง ศาลเทพเจ้าแห่งการเกษตร (เซียนหนงถัน, Altar of Agriculture)  ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงปักกิ่ง หลังจากนั้นก็จะทรงไถดินและหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงบนแปลงที่เตรียมไว้ คล้ายกับพิธีแรกนาขวัญที่เราเห็นในไทย

โดยก่อนที่จะทำพิธีดังกล่าว จักรพรรดิจะเสด็จมายังจงเหอเตี้ยนเพื่อทรงเตรียมความพร้อม และทรงตรวจตราเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตร และเมล็ดพันธัญพืชที่จะใช้ในพิธีแรกนาขวัญดังกล่าว

วันต่อมาจักรพรรดิจะเสด็จไปเซ่นบวงสรวงที่ศาลเทพเจ้าแห่งการเกษตร โดยมีเหล่าเสนามาตย์และราชองค์รักษ์ตามเสด็จไปด้วย การเซ่นบวงสรวงนี้จะดำเนินไปท่ามกลางเสียงกลองและฆ้อง เสียงนี้จะดังแม้

ในยามที่จักรพรรดิทรงไถดินและหว่านเมล็ดพันธุ์พืช จักรพรรดิจะทรงไถหว่านบนแปลงที่ดินจนครบสี่ร่องจึงเสร็จพิธี

จากนั้นจึงทรงให้ประกาศการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ

 นอกจากนี้ ในสมัยราชวงศ์ชิงจงเหอเตี้ยนยังถูกใช้เป็นที่สำหรับตรวจทานสาแหรกพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย โดยในสมัยนี้จะมีการจัดทำสาแหรกพระบรมวงศานุวงศ์ทุกสิบปี เมื่อแล้วเสร็จจักรพรรดิจะทรงเป็นผู้ตรวจทานครั้งสุดท้ายภายในพระที่นั่งองค์นี้ 

ในกรณีหลังนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า จักรพรรดิจีนซึ่งมีโอรสและธิดาอยู่มากมาย เพราะจักรพรรดิจีนทรงมีปฏิสัมพันธ์ด้วยมเหสีและสนมอันมากมาย โดยผู้เป็นโอรสมักมีตำแหน่งทางการเมืองที่สูง และย่อมมีชายาและสนมมากมายเช่นกัน ยิ่งมีโอรสมากก็ยิ่งมีลูกหลานที่สืบสายโลหิตจักรพรรดิมากไปด้วย
เหตุดังนั้น ในทุกสิบปีที่มีการชำระสะสางสาแหรกพระบรมวงศานุวงศ์จึงเป็นกิจที่จำเป็น เพื่อที่จักรพรรดิจะได้รู้ว่าพระองค์ทรงมีลูกหลานมากน้อยเพียงใด การตรวจทานอย่างละเอียดจึงจำเป็นจะต้องทำและหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่ก็คงเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของโอรสแห่งสวรรค์ ไม่ว่าจักรพรรดิจักทรงเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

พูดถึงเรื่องสืบสาแหรกแล้วก็มีประเด็นที่ควรบอกกล่าวกันด้วยว่า จีนก่อนยุคคอมมิวนิสต์หรือพูดให้ชัดที่สุดคือก่อนการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น ครอบครัวจีนโดยทั่วไปไม่ว่าจะยากดีมีจนต่างก็ทำสาแหรกของวงศ์ตระกูลของตนเอาไว้ทั้งสิ้น

 วิธีพื้นฐานที่ถือปฏิบัติกันก็คือ จะบันทึกว่าบรรพชนรุ่นที่หนึ่งเป็นใครมาจากไหนและแต่งงานกับหญิงใด เมื่อแต่งแล้วมีลูกชายหญิงกี่คน แต่ละคนมีชื่อเสียงเรียงใด จนเมื่อโตขึ้นแต่ละคนได้แต่งงานกับใคร การแต่งงานตามประเพณีจีนแล้วผู้ชายจะแต่งเข้า ผู้หญิงจะแต่งออก คือผู้หญิงภายนอกจะแต่งเข้าบ้านผู้ชาย ส่วนผู้หญิงในตระกูลจะแต่งออกไป และเมื่อแต่งออกไปแล้วบันทึกสาแหรกก็จะไม่กล่าวถึงผู้หญิงอีกเลย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตระกูลที่ผู้หญิงแต่งออกไปอยู่ด้วยนั้นเป็นฝ่ายบันทึกต่อไป 

จะเห็นได้ว่า วิธีการบันทึกเช่นนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดผู้ชายเป็นใหญ่ เนื่องจากผู้ชายได้ถูกกำหนดให้เป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล และมีหน้าที่ที่จะต้องรักษาตระกูลเอาไว้ให้มั่นคง โดยผ่านอาชีพการงาน ความซื่อสัตย์กตัญญู การศึกษา การเป็นหัวหน้าครอบครัว ฯลฯ

ภายใต้วิธีบันทึกดังกล่าว สิ่งตามมาจึงคือ การแบ่งรุ่นในตระกูล โดยบรรพชนรุ่นแรกที่เริ่มทำการบันทึกจะถูกนับเป็นรุ่นที่ 1 ผู้เป็นลูกคือรุ่นที่ 2 ผู้เป็นหลานคือรุ่นที่ 3 ผู้เป็นเหลนเป็นรุ่นที่ 4 ไล่ไปเช่นนี้ต่อไปจนนับเป็นสิบรุ่นร้อยรุ่น สุดแท้แต่ว่าตระกูลนั้นจะสืบทอดวงศ์ของตนได้ยาวนานแค่ไหน

การนับรุ่นเช่นนี้ทำให้มีการกำหนดไปด้วยว่า นับแต่รุ่นที่ 2 เป็นต้นไปผู้ชายและผู้หญิงจะมีชื่อว่ากระไร ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วชาวจีนจะมีชื่อสองพยางค์ (ไม่นับชื่อสกุลหรือแซ่) การกำหนดชื่อไว้ล่วงหน้าให้แก่รุ่นต่อๆ ไปมักจะเป็นวิธีนี้คือ ชื่อในพยางค์แรกของผู้ชายที่อยู่รุ่นเดียวกันจะเหมือนกันหมด ในส่วนผู้หญิงจะมีชื่อในพยางค์ที่สองเหมือนกันหมดในรุ่นเดียวกัน

เมื่อการนับรุ่นเป็นเช่นนี้แล้ว ลูกหลานในชั้นหลังซึ่งจะมีอยู่กี่สิบกี่ร้อยคนก็ตาม ก็คงยากที่ใครจะรู้จักใครได้หมด เพราะต่างแยกย้ายกันไปตามหน้าที่การงาน แต่ถ้ามาเจอกันในวันรวมญาติในเทศกาลหรืองานใดแล้วถามไถ่ชื่อกันแล้ว ทุกคนก็จะรู้ว่าใครอยู่รุ่นใดของตระกูลทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในแง่นี้ก็หมายความว่า คนที่อยู่ในรุ่นก่อนหน้าจะมีฐานะเป็นญาติผู้ใหญ่ของคนรุ่นหลัง

จากเหตุนี้ คนรุ่นหลังจะต้องเรียกคนรุ่นก่อนหน้าว่า ปู่ย่าตาทวด ลุงป้าน้าอา หรือพี่น้องหลานเหลนอย่างไรก็ว่ากันไปตามอันดับของรุ่น ผลก็คือ บางคนที่มีอายุมากกว่าหรืออยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันก็อาจต้องเรียกญาติที่อ่อนวัยกว่าเป็นปู่ย่าตาทวดหรือลุงป้าน้าอา เพราะแต่ละรุ่นจะเกิดและโตไม่เท่ากันหรือแต่งงานเร็วหรือช้าต่างกัน

 เหตุฉะนั้น บางคนที่มีอายุเท่ากัน แต่กลับมีศักดิ์เป็นอาหลานก็มีให้เห็นเป็นปกติ 


กำลังโหลดความคิดเห็น