xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติ3ครั้ง นัดละ 3.200 ล้าน พท.แบกรับความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ประชามติ3ครั้ง นัดละ 3.200 ล้าน พท.แบกรับความเสี่ยง

รัฐบาลเพื่อไทย กดปุ่มเดินหน้ากับการให้ประเทศไทย มีการออกเสียงประชามติเพื่อเปิดประตูไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อโละทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

โดยเพื่อไทย ใช้มติครม.เมื่อ 23 เมษายนที่ผ่านมา เห็นชอบให้มีการทำประชามติสามครั้ง ตามข้อเสนอของ คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ฯ ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำรัฐบาลเพื่อไทยเป็นประธาน

เบื้องต้น ครม.รับทราบอย่างเป็นทางการแล้วว่า การทำประชามติแต่ละครั้ง จะใช้งบประมาณร่วมๆ 3,200 ล้านบาท และหลังจากนี้ จะส่งเรื่องไปยัง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. เพื่อให้ไปจัดให้มีการออกเสียงประชามติ
ซึ่งเคาะไทม์ไลน์ออกมาแล้ว

ประชามติรอบแรก จะเกิดขึ้น ในช่วง  21 ก.ค.ถึง 21 ส.ค.ปีนี้ โดยคำถามที่จะถามประชาชนในการลงประชามติก็คือ จะถามว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์” 

ที่เป็นคำถามที่ชงมาจากคณะกรรมการชุดภูมิธรรม ที่เดินตามแนวที่พรรคร่วมรัฐบาล ประกาศตั้งแต่ตอนจัดตั้งรัฐบาล ว่า จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 เพื่อตัดความระแวงและลดแรงต้าน จากบางฝ่ายที่จะไปปลุกกระแสล้มการทำประชามติและขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาจจะมีการไปแตะหมวดว่าด้วยเรื่องสถาบันฯ และลดทอนพระราชอำนาจ

โดยหากการทำประชามติครั้งแรกผ่าน ขั้นตอนต่อไป สมาชิกรัฐสภา -พรรคการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล  ก็จะเข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อแก้ไขมาตรา 256 โดยร่างที่เสนอ จะมีเนื้อหาหลักๆ คือ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่ก็คือการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

และพอเสนอร่างเข้าไป ทางสมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส.และสว.เป็นสว.ชุดใหม่ที่จะเข้าไปกลางปีนี้ ก็จะต้องพิจารณาสามวาระ ซึ่งวาระแรกต้องมีสว.ลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสว.ชุดใหม่ 200 คน ก็คือ 67 เสียง ขึ้นไป ร่างถึงจะได้ไปต่อวาระสองและวาระสาม และพอผ่านวาระสาม ก็ส่งไปทำประชามติครั้งที่สอง
หากประชามติผ่าน ถึงค่อยนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ

เมื่อโปรดเกล้าฯ ลงมา ก็ค่อยมีการเลือกส.ส.ร. ตามช่องทางที่เขียนไว้ในร่างแก้ไข 256 เพื่อมายร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป แต่หากประชามติ ไม่ผ่าน ก็จบ ช้อยเก็บฉาก

ส่วนประชามติครั้งที่สาม เกิดหลัง สภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ ก็ส่งไปทำประชามติครั้งที่สาม เพื่อให้ประชาชนออกเสียงว่าจะเอาด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ผ่านก็จบข่าว เท่ากับเสียเวลา เสียงบประมาณไปหลายพันล้านบาทไม่ได้อะไร แต่หากผ่าน ก็นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การทำประชามติ อาจจะเกิดขึ้นแค่ครั้งแรกกลางปีนี้ ก็ได้ ไม่มีการทำประชามติครั้งที่สอง และสามเพราะตาม พรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 ที่ใช้หลักเสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น หรือDouble majority ทำให้การทำประชามติ แต่ละครั้งให้ผ่านไปได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เอาเฉพาะแค่ครั้งแรกก่อน ว่าถ้าจะให้ผ่านไปได้ ต้องผ่านด่านดังนี้

หนึ่ง ผลการออกเสียง ต้องมีผู้มีสิทธิออกเสียง มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ หากไม่เกิน ก็เท่ากับ เป็นโมฆะ นี้คือด่านแรก ที่ต้องเจอ เพราะไม่แน่ หากประชาชนไม่ตื่นตัว มองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเลยอาจไม่ออกไปใช้สิทธิ จนทำให้การทำประชามติล่ม ไม่มีผลใดๆ

สอง การลงประชามติ คำถามที่ใช้ถามในการทำประชามติ ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง ประชามติครั้งแรกถึงจะผ่าน  

ดังนั้น หากมีประชาชนไม่เห็นด้วยกับการจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ก็ผ่านการทำประชามติมาตอนช่วงปี 2559 ด้วยคะแนนเสียงร่วม 16 ล้านเสียง ถ้าเกิดกระแสว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันดีอยู่แล้ว ไม่ควรโละทิ้ง ก็อาจมีการจุดกระแส ปลุกคนให้ออกไปลงคะแนนไม่เห็นชอบ จนทำให้ผลลงประชามติ คะแนนเเสียงเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง ที่ก็คือ ประชามติ ก็เป็นหมัน ไม่ผ่านเช่นกัน

แบบนี้ เพื่อไทย ก็เตรียมโดนด่าเปิง คนจะด่ากันจนหูชาว่า ดันทุรังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้เสียงบประมาณสามพันกว่าล้านบาท ทั้งที่คนเสนอให้แก้ไขรายมาตราในรัฐสภาก็ทำได้ แต่กลับจะดันทุรังทำให้ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ รัฐบาลเพื่อไทย เครื่องอาจรวนได้

ดังนั้น จึงเป็นเดิมพันการเมืองของเพื่อไทยไม่ใช่น้อยที่ต้องดันให้ประชามติแก้รัฐธรรมนูญทุกรอบ ผ่านไปให้ได้

ขณะเดียวกัน ต้องวางแผน เพื่อปลดล็อกการทำประชามติให้ออกมาเซฟตี้ที่สุด เช่น แก้กฎหมายการทำประชามติ ลดเพดานผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ต้องเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ เพื่อไทยก็เสนอเข้าสภาฯไปแล้ว แต่จะทันการหรือไม่ รอติดตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น