จาก “เวคา” ข้ามอ่าวไทย สู่การแข่งขันเรือใบ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2509 หน้าประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึกชื่อของเรือใบประเภทโอเค หมายเลข TG 18 ขนาด 3.96 เมตร นาม “เวคา” (VEGA) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับดาวสุกใสที่สุดในกลุ่มดาวพิณ และมีความหมายว่ากำลังความเร็วเหนือสายน้ำ เรือเวคาแล่นฝ่าเกลียวคลื่นฝ่าฝืนน้ำกว้างใหญ่สุดประมาณเพื่อพิชิตเส้นทางที่ไม่มีผู้แล่นใบใดได้เคยแล่นผ่านเพียงลำพังสำเร็จมาก่อน
04.28 น. เวลาเช้าตรู่แสงอาทิตย์ยังไม่ทอฟ้าสว่างดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงนำเรือใบเวคาที่ทรงออกแบบและต่อขึ้นเองลงน้ำที่ชายฝั่งหาดวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแล่นใบระยะทาง 60 ไมล์ทะเลข้ามอ่าวไทย โดยมีจุดหมายที่หาดอ่าวเตยงาม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
เวลา 21.28 น. เรือใบเวคาก็มาถึงหาดอ่าวเตยงาม รวมเวลากว่า 17 ชั่วโมงที่ทรงแล่นใบอย่างมิได้ย่อท้อ ท่ามกลางความโล่งใจของผู้ที่ติดตามเฝ้าคอยจำนวนมาก หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือใบถึงอ่าวเตยงามหรืออ่าวนาวิกโยธินแล้ว จึงทรงฉลองพระองค์ชุดสนามทหารนาวิกโยธินเป็นครั้งแรก และทรงนำ “ธงราชนาวิกโยธิน” ที่ทรงนำติดตัวข้ามอ่าวไทยมานั้นปักลงอย่างมั่นคงเหนือก้อนหินใหญ่ แท่นหิน
ประวัติศาสตร์ของหาดเตยงาม พร้อมกับทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลาจารึก
หลังจากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดแพรคลุมแผ่นศิลาหน้าก้อนหินใหญ่ที่ปักธงราชนาวิกโยธิน มีข้อความจารึกเป็นเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า
“ณ ที่นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จอมทัพไทย ได้ทรงเรือใบขนาด 13 ฟุต ด้วยพระองค์เองพระองค์เดียว จากหัวหินมาถึงสัตหีบ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2509 เริ่มเวลา 0428 ถึงเวลา 2128 ทั้งนี้เป็นพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ กองทัพเรือได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้เป็นสิริมงคล และเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่กองทัพเรือสืบไป”
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่มาของบทเพลง “เวคาแห่งสยาม” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์กองทัพเรือ โดยนาวาตรีตระกูล บุญสร้าง ได้ประพันธ์คำร้อง ทำนอง และเรียบเรียงเพลงชื่อ “เวคาแห่งสยาม” ซึ่งยังคงถูกขับขานมาจนทุกวันนี้
จากวันนั้นถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 เป็นเวลา 58 ปี การแล่นใบข้ามอ่าวไทยจากหัวหินสู่อ่าวเตยงามสัตหีบตามรอยเรือใบเวคาได้บังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
โดยสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยได้จัดการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าว ในมหกรรมเรือใบเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบข้ามอ่าวเส้นทาง หาดชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ไปยังอ่าวเตยงาม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 45 ไมล์ทะเล ทรงลงแข่งขันในทีมวายุ เลขที่เรือ THA72 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงทำหน้าที่หลัก คือ บังคับหางเสือเรือ ให้แล่นไปตามทิศทางที่ต้องการ และจะสลับไปทรง ชักใบเรือ ปรับใบเรือ เป็นต้น
สำหรับทีมแข่งขันเรือใบข้ามอ่าว มีทั้งหมด 8 ทีม จากประเทศต่างๆ อาทิ ออสเตรเลีย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย ไทย และ ไต้หวัน รวม ประมาณ 115 คน
ต่อมาเมื่อเวลา 15.18 น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเสร็จสิ้นจากการทรงร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบข้ามอ่าว โดยใช้เวลารวม 4.33 ชั่วโมง จากหาดชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเรือใบทีมวายุเริ่มสตาร์ทในเวลา 10.45 น. ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศอันดับที่ 1 ในการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าว ในมหกรรมเรือใบเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งใช้กติกาตามมาตราฐานสากลโดยใช้แต้มต่อ(Handicap)ตัดสินตามประเภทของเรือ และอายุของเรือ
จากนั้น เวลา 19.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ ห้องพิธี อาคารอเนกประสงค์ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการจัดการแข่งขันฯ เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร และเหรียญที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร และเหรียญที่ระลึกแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการจัดการแข่งขัน กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และกราบบังคมทูลเบิก นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย เฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลนิรันดร หางเสือเรือพระที่นั่ง “เวคา” ของพระบาทสมเด็จบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้วเชิญรางวัลนิรันดร หางเสือเรือพระที่นั่ง “เวคา” ไปประดิษฐานบนแท่นพิธี เสร็จแล้ว กราบบังคมทูลรายงานผลการแข่งขัน และเบิกผู้ชนะเลิศการแข่งขัน เข้ารับพระราชทานรางวัล
ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นผู้แทนนักกีฬาเรือใบทีมวายุ ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบข้ามอ่าว เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลนิรันดร หางเสือเรือพระที่นั่ง “เวคา” ของพระบาทสมเด็จบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเข้าเส้นชัยที่อ่าวเตยงาม อำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นลำดับที่ 1 ด้วยเวลา 4.33 ขั่วโมง
นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในด้านกีฬาเรือใบอย่างยอดเยี่ยม โดยก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม ทรงเข้าร่วมการแข่งขันในรายการ “ภูเก็ต คิงส์คัพ” พร้อมกับทีมวายุและคว้าชัยชนะเป็นอันดับ 1 มาแล้ว
ทั้งหมดนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจกีฬาเรือใบมากขึ้นและเป็นไปตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ว่า
“การแล่นใบ สอนให้คนคิดเอง ทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปแล่นเรือใบแล้ว เรือไม่วิ่ง จะไม่มีใครมาคอยสอน เราต้องคิดเอง ทำเอง...ฯลฯ
ถ้าเราเล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้แล้วนำมาใช้ในชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้ ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต เด็กไทยจะรู้จักและเข้าใจในการคิดเอง ทำเอง”