ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ไม่เอาไว้! ผบช.ภาค 8 ยืนยันต่างชาติแฝงตัวในคราบนักท่องเที่ยว เบื้องหลังทำผิดกฎหมายไทย จงใจ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเสียหาย จะต้องถูกจัดการขั้นเด็ดขาด
พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผบช.ภ.8 กล่าวในการแถลงข่าวการจับกุมชาวต่างชาติที่เข้ามากระทำความผิดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยวบังหน้า ที่ห้องประชุมกองบังคับการตำรวจภุธรจังหวัดภูเก็ต วันนี้ (4 เม.ย.) ว่า ด้วยปัจจุบันชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามระดับโลกเหมาะแก่การพักผ่อน และมีนโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว
แต่ในขณะเดียวกัน มีชาวต่างชาติที่แฝงตัวเข้ามาในคราบนักท่องเที่ยว แต่มีเจตนาที่จะเข้ามากระทำความผิดในประเทศไทยโดยจงใจ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวเสียหาย และอาจจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน
ในการนี้รัฐบาลโดย ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีความเป็นห่วงในกรณีดังกล่าว ได้กำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครองโดยกระทรวงมหาดไทยลงไปดูแล และหามาตรการในการดำเนินการ ซึ่งพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ ตำรวจภูธรภาค 8 ควบคุมกำกับดูแลให้ พล.ต.ต.สินเลิศ สุขุม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ตั้งชุดปฏิบัติงานป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดของคนต่างด้าว เป็นต้นมา เพื่อดำเนินการกับต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยในคราบของนักท่องเที่ยว แต่แอบแฝงทำผิดกฎหมายไทย คนเหล่านี้จะต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด
จนกระทั่ง พล.ต.ต.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 จัดกำลังสนับสนุนในการปฏิบัติ ในกรณีดังนี้ 1.เมื่อชาวต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักร เปลี่ยนสถานะจากนักท่องเที่ยวเป็นผู้ประกอบธุรกิจและประกอบอาชีพ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายบัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551
2.ชาวต่างชาติที่ถือหุ้นอันเป็นทุนจดทะเบียนของนิติบุคคล ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ทำให้ทุนต่างชาติจำนวนมากอำพรางตนเข้ามาประกอบธุรกิจในฐานะนิติบุคคลไทย ด้วยการถือหุ้นทางอ้อมอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการถือหุ้นผ่านบุคคลหรือนิติบุคคลไทย (nominee)
3.พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 บัญชีท้าย พ.ร.บ.ดังกล่าวห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศ ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี หัตถกรรมพื้นบ้าน หรือธุรกิจที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และด้วยเหตุผลพิเศษ
4.การตรวจสอบยังพบว่าชาวต่างชาติซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างๆ เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการเป็นผ่าฝืน พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ที่บัญญัติ การซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน สินทรัพย์ดิจิทัลต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพราะจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง
5.ต้องป้องกันไม่ให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจนไปใช้ประโยชน์หรือกระทำการหลอกลวงประชาชนหรือประกอบอาชญากรรม ผู้กระทำต้องขออนุญาตต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นกลไกการดูแลรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจ เพื่อกำกับดูแลการระดมทุนต่อประชาชนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล
พล.ต.ท.สุรพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับทั้ง 5 ข้อดังกล่าวต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ใช้ชาวต่างชาติไปกระทำผิดอีก โดยบางรายถูกจับมายังคิดว่าประกอบอาชีพได้ ทางตำรวจจึงอธิบายขั้นตอนต่างๆ ให้ฟังจนชาวต่างชาติเข้าใจ
ดังนั้น ตำรวจภูธรภาค 8 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนภาค 8 และตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ฝากประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ซึ่งจดทะเบียนบริษัทแล้วประกอบธุรกิจในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตหรือในราชอาณาจักรให้หยุดการกระทำในลักษณะดังกล่าว