xs
xsm
sm
md
lg

มฤตยูลอยฟ้า สายสีเหลือง สีชมพู ชุ่ย! อุบัติเหตุซ้ำซาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 วันพุธที่ 3 เมษายน 2567 นำเสนอรายงานพิเศษ มฤตยูลอยฟ้า สายสีเหลือง สีชมพู ชุ่ย! อุบัติเหตุซ้ำซาก



ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถไฟฟ้าคือ บริการสาธารณะที่เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนไทยในยุคปัจจุบัน ที่ช่วยให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วหลีกเลี่ยงการสัญจรบนท้องถนนที่การจราจรติดขัด เป็นการประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย แต่รถไฟฟ้าใต้ดินและลอยฟ้า กลับกลายเป็นมฤตยูเคลื่อนที่สำหรับผู้คนที่อยู่เบื้องล่าง

เมื่อเกิดเหตุชิ้นส่วนที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นชิ้นส่วนใดหลุดร่วงลงมาใส่ยวดยานและผู้คนบนท้องถนนที่สัญจรไปมา จนได้รับความเสียหายและบาดเจ็บ เกิดเหตุเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และไม่ใช่เป็นอุบัติภัยครั้งแรกเพราะก่อนหน้านี้

เพราะเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ตอนเช้ามืด ได้เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้าของรถไฟสายสีชมพู ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM ในเครือ รถไฟฟ้า BTS ได้หลุดร่วงลงมากระแทกพื้นราบเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร

ยังผลให้เสาไฟฟ้าด้านล่างหักโค่น และรถยนต์หลายคันได้รับความเสียหายจนต้องประกาศปิดให้บริการชั่วคราว ถึง 7 สถานี
หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว รถไฟฟ้าสายสีเหลืองของบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ก็ได้เกิดอุบัติเหตุล้อยาง ซึ่งเป็นล้อประคองตัวรถหลุดร่วงลงมาใส่ ผู้สัญจรไปมาบริเวณถนนเทพารักษ์ หลักกิโลเมตรที่ 3 ทำให้มีรถยนต์ได้รับความเสียหาย 1 คัน แต่โชคดีไม่มีผู้บาดเจ็บ

จนกระทั่งล่าสุดได้เกิดเหตุ อุบัติภัยจากรถไฟฟ้า สายสีเหลืองอีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ได้เกิดเหตุ รางนำไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองร่วงหล่น เป็นระยะทางยาวถึง 5 สถานี ตั้งแต่สถานีกันตันถึงสถานีสวนหลวงร.9 รวมเป็นระยะทาง เกือบ 5 กิโลเมตร และหล่นใส่รถยนต์และผู้คนด้านล่างจนได้รับความเสียหายและบาดเจ็บ

ทั้งนี้ผู้โดยสารที่อยู่บนรถเล่านาทีเกิดเหตุว่า ขณะที่รถวิ่งมาตามปกติ จู่ๆ ก็มีเสียงดังคล้ายการระเบิดก่อนที่รถจะหยุดนิ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการอพยพผู้โดยสารเพื่อความปลอดภัย เพราะไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น

อุบัติภัยดังกล่าว ทำให้มีรถยนต์ได้รับความเสียหาย 12 คัน และผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้รับบาดเจ็บ 2 คน หลังจากนั้นนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขารัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ซึ่งลงพื้นที่เกิดเหตุได้ออกมายืนยันว่า อุบัติภัยที่เกิดขึ้นไม่ใช่การระเบิด และชิ้นส่วนที่ร่วงลงมาเป็นพลาสติกแข็ง เท่านั้น

ในการนี้ได้คาดโทษกับบริษัทที่รับสัมปทานว่า จะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และบริษัทจะต้องจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่

ทั้งหมดนี้ คือ วิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า วันหนึ่งตนเองจะโชคร้ายตกเป็นเหยื่อของการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าที่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่

ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูเป็นรถไฟฟ้ารุ่น อินโนเวีย โมโนเรล 300 จากบริษัทอัลสตอม ซึ่ง ผลิตให้โดยบริษัทซีอาร์อาร์ซี ผู่เจิ้น อัลสตอม ทรานสปอร์เทชัน ซิสเท็ม (CRRC-PATS) ในมณฑลอานฮุย ประเทศจีน ปัจจุบันมีใช้อยู่ใน 4 ประเทศคือ จีน ซาอุดิอาระเบีย ไทย และบราซิล

รถไฟฟ้ารุ่นนี้เป็นรถไฟฟ้าที่มีความทันสมัย ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัยสูงสุด และรองรับการเดินรถไฟฟ้าแบบไม่ใช่คนควบคุมขบวนรถ

แต่สิ่งเดียวที่ได้แต่สวดภาวนาก็คือ ขออย่าให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีคนตายเพราะถูกรถไฟฟ้า หรือชิ้นส่วนหล่นลงมาทับร่างเลย

--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
กำลังโหลดความคิดเห็น