xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชวาล” อัดรัฐล้มเหลวแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ อัดย่ำอยู่กับที่ ปล่อยคนไทยถูกปล้นเงินเสียหายหลายหมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



วันนี้ (3 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

นายชัชวาล แพทยาไทย ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย กล่าวอภิปราย โดยพูดถึงปัญหาที่พี่น้องประชาชนถูกหลอกลวงจากอาชญากรทางไซเบอร์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นับแสนราย ในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัญหาที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะผู้มีอำนาจปล่อยให้คนไทยถูกปล้นเงินจากความล้มเหลวของรัฐบาล ทั้งที่รัฐบาลมีเป้าหมายอยากให้ประเทศเป็น Hub ทางดิจิทัล แต่ไม่สามารถจัดการกับอาชญากรทางไซเบอร์เหล่านี้ได้ แก๊งพวกนี้ขยัน ทำงานทุกวันโทรมาหาเราบ่อยกว่าเมียเราอีก ตนเชื่อว่าแม้แต่ท่านประธานเองก็เคยรับโทรศัพท์จากแก๊งพวกนี้ แต่ท่านประธานเป็นผู้มีประสบการณ์ รู้เท่าทันมิจฉาชีพจะมาไม้ไหนรู้หมด โอกาสถูกหลอกเป็นศูนย์ แต่พี่น้องประชาชนหลายคนไม่เท่าทันมิจฉาชีพ ถูกหลอกเป็นจำนวนมาก

นายชัชวาล กล่าวต่อว่า ในปี 2565 มีผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กว่า 45,000 ราย มูลค่าความเสียหายเฉลี่ยต่อราย อยู่ที่ประมาณ 660,000 บาท มูลค่าความเสียหายรวมน่าจะสูงถึง 30,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 มีการแจ้งความคดีอาชญากรรมจากคอลเซนเตอร์ กว่า 27,620 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 6,156 ล้านบาท และในช่วง 1 เดือนแรกของปี 2567 มีการแจ้งความคดีอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 2,345 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 589 ล้านบาท จากข้อมูลที่ผ่านมา สามารถสรุปว่าคนไทยถูกหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมกันมากกว่างบประมาณของ กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงดิจิทัลรวมกัน ถูกหลอกถ้วนหน้า โดยเฉพาะเหยื่อผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ปัญหาเรื่องคอลเซ็นเตอร์ เป็นหนึ่งในอาชญากรรมไซเบอร์ที่สำคัญ เกิดปัญหาต่อเนื่อง มีผู้เดือดร้อนเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงต้องประณามผู้รับผิดชอบทุกคน โดยเฉพาะเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี

นายชัชวาล กล่าวต่อว่า ผู้บริโภคทั่วโลกจะมีสายเรียกเข้าแบบบันทึกเสียงล่วงหน้า หรือที่ฝรั่งเรียกว่า โทรศัพท์จากหุ่นยนต์หรือ robocall เฉียดแสนล้านครั้ง จนหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกต้องงัดสารพัดวิธีมาจัดการ แล้วก็ได้ผลน่าพอใจ แต่เสียดายที่ประเทศไทยยังย่ำอยู่กับที่ ต่างจาก ประเทศที่เอาจริงเอาจัง เช่น สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมายฉบับใหม่ ควบคุมเข้มงวดยิ่งขึ้น สหภาพยุโรป ออกกฎหมายควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่เคร่งครัดที่สุดในโลก และมีกฎหมายห้ามโทรติดต่อ ผู้บริโภคเว้นแต่ว่าจะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับโครงสร้างการทำงานของ แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์จะหลอกล่อเพื่อชิงเงินเหยื่อที่พลาดท่าหลงกล เริ่มต้นจากการหารายชื่อเป้าหมาย ซึ่งเรียกว่า “lead lists” โดยรายชื่อเหล่านี้อาจซื้อมาอย่างถูกต้อง หรือซื้อมาจากเว็บไซต์ใต้ดิน ราคาหนึ่งล้านเลขหมาย เพียงไม่กี่หมื่นบาท จากนั้นคือการจัดตั้งคู่สาย จะติดต่อบริษัทที่ให้บริการด้านโทรคมนาคม ก่อนจะหาซอฟต์แวร์โทรศัพท์อัตโนมัติ และไล่โทรตามเบอร์ที่ระบุไว้ไปเรื่อยๆ ด้วยความเร็วหลักแสนเลขหมายภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง

นายชัชวาล กล่าวต่อไปว่า พร้อมกับการติดตั้งซอฟต์แวร์แก้ไขเบอร์โทรศัพท์ที่จะปรากฏ ณ ปลายทาง เช่น หากโทร.มายังประเทศไทยก็จะเป็นเบอร์ที่ขึ้นต้นด้วย 02 หรือ 08 ให้เหยื่อตายใจ จากนั้นเหล่ามิจฉาชีพจะเตรียมสคริปต์ให้พร้อม เช่น ประเทศไทยจะคุ้นเคยกับเรื่องพัสดุตีกลับ หรือการอายัดบัญชี จากนั้นก็จะเป็นกระบวนการโน้มน้าวหลอกลวง ซึ่งมาในรูปแบบของการพูดคุยหรือการส่ง SMS หากหลอกลวงสำเร็จ อาชญากรเหล่านี้ ก็จะแปลงเงินที่โอนเข้ามาในบัญชีให้เป็นเงินสด หรือสกุลเงินเข้ารหัสโดยเร็วที่สุดเพื่อกลบเกลื่อนร่องรอยทางการเงิน สำหรับปฏิบัติการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงติดตามจับกุมได้ยากเป็นเหตุผลว่าทำไมหน่วยงานกำกับดูแลหลายๆ ประเทศจึงเลือกป้องกันมากกว่าปราบปราม โดยเฉพาะกลไกสกัดไม่ให้สายเรียกเข้า เหล่านั้นผ่านไปถึงหูผู้บริโภค เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการสื่อสาร สหรัฐฯหรือ FCC จะตัดตอนปัญหาโดยกำหนดให้บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ มีอำนาจในการบล็อกการโทรที่ไม่พึงประสงค์ป้องกันไม่ให้สายอันตรายหลุดเข้าไปถึงพลเมือง

นอกจากนี้ FCC ยังกำหนดให้บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต้องใช้โปรโตคอลยืนยันตัวตนผู้โทร. ตามมาตรฐานที่ชื่อว่า STIR/SHAKEN เพื่อให้ปลายสายได้เห็นเบอร์โทรศัพท์ที่แท้จริงของต้นทาง ถือเป็นหนึ่งในความพยายามต่อสู้กับการปิดบังตัวตน ซึ่งจะช่วยป้องกันอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น