xs
xsm
sm
md
lg

“ธรรมนัส” อวดราคายางพุ่ง ผลงานปราบยางพาราเถื่อน ทำต่างชาติเชื่อมั่น สั่งซื้อเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ธรรมนัส” มั่นใจราคายางเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลเอาจริงกับการปราบสินค้าเถื่อน สร้างความมั่นใจต่างชาติ สั่งยางเพิ่ม ยืนยัน นโยบายเดินมาถูกทาง ช่วยชาวสวนยางลืมตาอ้าปากได้



วันที่ 3 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีการอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวชี้แจงถึงข้อสังเกตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่า ในเรื่องของราคายางพารา ที่ถือว่าเป็นสินค้าภาคการเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และพี่น้องชาวสวนยาง ที่ทำให้ช่วงนี้สามารถลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งรัฐบาลมีโครงการที่ยั่งยืนให้พี่น้องชาวสวนยาง อย่างเช่น การทำการเกษตรผสมผสาน มีการปลูกพืชแซม ยกตัวอย่างกาแฟ หรือประเภทอื่น เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร
นอกจากนั้น ก็ยังมีโครงการที่เราเรียกว่า โครงการชะลอการขายยางก็เป็นโครงการที่ทำให้พี่น้องชาวสวนยางมีชีวิตที่ดีขึ้นระดับหนึ่ง ถ้าเรามาเปรียบเทียบโครงการของรัฐบาลในปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศในเวทีแห่งนี้ ที่มีการประชุมสภาวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงนโยบายให้สภาทั้งสองสภาได้รับทราบ ว่าเราจะทำการภาคเกษตรเรื่องอะไรบ้าง เราน้อมแนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร ขึ้นเป็น 3เท่า ในช่วงระยะเวลาการบริหารราชการ 4 ปี

“นโยบายแรกที่ผมได้แถลงให้กับพี่น้องข้าราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 คือ การประกาศสงครามกับสินค้าเถื่อนทุกประเภท เราจะไม่พูดว่ามันเกิดขึ้นในยุคสมัยไหน หรือไปก้าวล่วงกับรัฐบาลอื่นๆ แต่พอเราประกาศทำสงครามกับสินค้าเถื่อน สิ่งที่ปรากฏเห็นตามสื่อที่นำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทปศุสัตว์ ประมง พืชไร่ พืชสวน และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางพารา คือ การปราบปรามยางพาราที่เข้าสู่แผ่นดินสยาม 2 ประเภท 1. คือ เถื่อน แบบไม่ถูกต้องเลย ดำสนิท เรามีการจับยางเถื่อนในพื้นที่ที่เป็นแนวตะเข็บชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านทุกอาทิตย์ ทั้งจังหวัดระนอง กาญจนบุรี หรือจังหวัดแถบอีสาน และภาคเหนือ เรามีชุดพญานาคราชที่มีอยู่ตามตะเข็บชายแดนทุกจังหวัด เฝ้าคอยระวังร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ทั้งกองทัพบก ทัพเรือ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราปราบปรามอย่างจริงจัง” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว


ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า เราได้เช็กดูถึงแหล่งกำเนิดยางเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นอย่างของกลุ่มทุนในประเทศไทยที่ไปลักลอบปลูกในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากต้นทุนถูก ค่าแรงงานถูก ไปปลูกประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็แปลงเป็นยางพาราส่งข้ามเขตแดน (Transit) ส่งเข้ามาในประเทศ โดยอ้างข้อตกลงของ WTO บ้าง หรือต่างๆ นานา แต่โชคดีของพี่น้องชาวสวน เพราะเรามีฝ่ายตรวจสอบคือ ฝ่ายนิติบัญญัติโดยกรรมาธิการต่างๆ กับฝ่ายบริหาร คือ กระทรวงเกษตรกรฯ และท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้กำชับให้ฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วยว่าจะต้องร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปราบปรามอย่างจริงจัง และก็ต้องขอบคุณ  ส.ส.รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์

จากการปราบปรามยางพาราอย่างจริงจัง ปริมาณมันก็ลดลงอย่างที่เราเห็นชัดเจนนะครับผลที่ทำให้ราคานะครับสูงขึ้นสอดคล้องกับที่ท่านผู้อภิปรายอภิปรายสักครู่ซัปพลายสมดุลกันนะครับนโยบายสองท่านท่านก็พูดชัดเจนครับในเรื่องของมาตรฐานให้สอดคล้องและสอดรับกับเอดีอาร์อีดีถือว่าเป็นเรื่องสำคัญนะครับที่ประเทศไทยที่เรามีสวนยาง มีภาคอุตสาหกรรมการยาง ที่พูดได้เต็มปากว่า เรายึดตลาดโลกแล้ว เราเป็นผู้นำทางด้านยางพารา เราคลองตลาดโลก

สิ่งสำคัญที่สุดนะครับในเรื่องของอียูดีอาร์ ตนทำหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรีให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมสินค้าโภคภัณฑ์ภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยการส่งสินค้าต่อจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป ตนมีโอกาสพบกับท่านทูตสหภาพยุโรป ซึ่งมาเสวนาในเรื่องของภาคการเกษตร

ในเรื่องอียูดีอาร์ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ สินค้าโภคภัณฑ์ที่จะส่งไป หากมีการนำสินค้าประเภทที่ว่า ตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกป่า ตลาดโลกไปว่าจะเป็นสินค้าภาคการเกษตรประเภทใด เขาต่อต้าน แต่พอเขาเห็นเราตั้งคณะกรรมการระดับชาติขับเคลื่อนเตรียมความพร้อม ตลาดยุโรปเขาจึงมีความมั่นใจว่า รัฐบาลไทยเดินมาถูกถูกต้องแล้ว เขาถึงสั่งยางจากเราเป็นปริมาณเพิ่มขึ้น เขาก็ทราบว่าการประเทศไทยขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงเป็นเหตุและผลทำให้มีความต้องการยาง ตลาดไปถึงอนาคต 30 ปี อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ


นอกจากนั้น การยางแห่งประเทศไทย ยังดำเนินการสำรวจที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญ ปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้ขึ้นทะเบียนกับการยางประเทศไทยให้มีการระบุพิกัด และรูปแปลง ซึ่งปัจจุบันดำเนินไปแล้ว 90% คือ 2,202,940 ไร่ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ราคายางพารายกระดับขึ้น นอกจากนั้น เรายังจัดระบบซื้อยางพาราผ่านตลาดเทรด หรือทีดีอาร์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบผลผลิตที่ได้ว่า ได้มาจากยางที่ปลูกในพื้นที่บุกรุกป่าไม้หรือเปล่า

“เราดำเนินการประชาสัมพันธ์กับประเทศผู้ใช้ยางที่มีความต้องการใช้ยาง ภายใต้กฎของอียูดีอาร์ เช่นประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศแถบยุโรป ผมเปิดบ้านรับแขกเมือง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ที่เป็นการสร้างมาตรฐานในการผลิตสินค้า เกษตรกรให้มีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดโลก ซึ่งวันนี้ผมก็มีนัดประชุมกับผู้นำของบริษัทที่เราเรียกว่า RSPO ในเรื่องของปาล์มน้ำมัน ซึ่งกลุ่มบริษัทเหล่านี้ได้ยอมรับจากสากลโลกว่า สร้างมาตรฐานการผลิตสินค้าการเกษตร ผมจะเป็นผู้แทนประเทศไทยในการเจรจา” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า ราคายางที่ดิ่งลงเหว ไม่ต้องพูดถึงในเรื่องที่ผ่านมา แต่ตนจะพูดนโยบายที่ตอนนี้เรามาถูกทางแล้วคือต้องทำทุกเรื่อง ทั้งเจรจากับพ่อค้ายางบริษัทใหญ่ๆต้องเจรจา ตนจึงตั้ง กรอ. ขับเคลื่อนราคาพืชผลทางการเกษตร โดยปลายปี 66 โดยการนำของรัฐบาลนายเศรษฐา มาบริหารและประกาศชัดเจนว่าเราเอาจริงเอาจริงราคายาง มันจึงดีดขึ้นๆ ดังนั้น ที่นายกฯพูดตลอดว่ายางราคาดีแบบนั้น ท่านพูดถูกต้องแล้ว

ร.อ.ธรรมนัส ยังกล่าวต่อว่า นโยบายการรักษาเสถียรภาพราคาประเทศไทยข้อมูลที่ปรากฏสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ยางพาราของเราเป็นตัวกำหนดทิศทางของโลก ราคายาง ณ วันที่ 19 มีนาคม 2567 อยู่ที่ 98 บาทต่อกิโลกรัม เป็นยางแผ่นรมควัน คู่แข่งของเราอย่างประเทศญี่ปุ่น ราคายางประเภทเดียวกัน ราคาอยู่ที่ 88 บาท และประเทศมหาอำนาจใกล้ๆ บ้านเรา อย่างประเทศจีน ราคาอยู่ที่ 77 บาท แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ยางพาราของประเทศไทยฃชี้นำตลาดโลก นโยบายที่ตนทำมามันมาถูกทางแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น