จับตา เลขาฯ ป.ป.ช.คนใหม่ หลัง “นิวัติไชย” เกษียณอายุสิ้นเดือน ก.ย.67 คาด “พล.ต.ต.อรุณ” เด็กสร้างของ “บิ๊กกุ้ย” ประธาน ป.ป.ช.คนปัจจุบันได้นั่งตำแหน่งแทน หลังย้ายข้ามห้วยมาจาก สตช.เมื่อ 5 ปีก่อน ชนิดที่คนลูกหม้อ ป.ป.ช.ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ฉุดความน่าเชื่อถือให้องค์กรปราบโกงต้องดำดิ่งลงไปอีก
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในยุคของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ หรือ “บิ๊กกุ้ย” เป็นประธาน กำลังถูกเพ่งเล็งถึงความเป็นกลางในการทำหน้าที่ เริ่มตั้งแต่การเข้ามาสู่ตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. ของ พล.ต.อ.วัชรพล เมื่อปี 2558 ก็มีข้อครหาพอสมควร เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าก่อนมาทำหน้าที่นี้เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ทำให้ ป.ป.ช.ต้องตกอยู่ในมรสุมเรื่องคดีนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตรซึ่งสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.มาจนถึงปัจจุบัน และยิ่งมาซ้ำเติมด้วยกรณีกรรมการ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เข้าไปช่วยเหลือ ปกปิด การกระทำซึ่งเข้าข่ายทุจริตประพฤติมิชอบของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.แล้วก็ต้องบอกว่า“เละเทะไปกันใหญ่”
แม้ พล.ต.อ.วัชรพล จะยืนยันถึงความเป็นกลางในการทำหน้าด้วยการแสดงสปิริตไม่เข้าร่วมพิจารณาคดีใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้านายเก่าอย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร แต่อีกด้านหนึ่งก็มีประเด็นที่นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์พอสมควร คือ การรับโอนข้าราชการตำรวจเข้ามาดำรงตำแหน่งระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช.
โดยเฉพาะใน ปี 2562 กับกรณีการรับโอน พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล อดีตผู้บังคับการกองยุทธศาสตร์ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบก.ยศ.) มาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 1 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ป.ป.ช.
เพราะ “การโอนย้ายข้ามห้วย” แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ในแวดวงหน่วยงานราชการ ยิ่งเป็นกรณีของการรับเข้ามาในองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตด้วยแล้วยิ่งยากขึ้นเป็นสองเท่า แต่นั่นไม่ใช่กับกรณีนี้ สาเหตุก็เพราะเพราะ พล.ต.ต.อรุณ เป็นถึงอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ.วัชรพล เมื่อครั้งยังทำงานในหน่วยงานตำรวจด้วยกัน ซึ่งเมื่อตอนสมัครตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการป.ป.ช. พล.ต.ต.อรุณ ก็ถูกตั้งข้อสังเกต และวิพากษ์วิจารณ์ มาแล้ว ว่าเป็น“เด็กเส้น”
รายงานจากสำนักข่าวอิศราเมื่อ วันที่ 18 พฤษภาคม 2562 ระบุถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การข้ามห้วยเข้ามาเสียบตำแหน่งใน สำนักงาน ป.ป.ช. ของ พล.ต.ต.อรุณไว้บางตอนดังนี้
“ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ภายในสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า การกระทำดังกล่าวอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากที่นั่งในฤดูกาลโยกย้ายผู้บริหารของสำนักงาน ป.ป.ช. ในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีที่ว่าง 11 ที่นั่ง และมีผู้สมัครมากถึง 99 ราย แต่กลับโอนย้าย ‘คนนอก’ เข้ามาเสียบแทน 1 ที่นั่ง เหลือโควตาอีกแค่ 10 ที่นั่งเท่านั้น ?
“ที่สำคัญยังถูกตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง 2 นายพลตำรวจ เนื่องจาก พล.ต.ต.อรุณ เคยเป็นอดีตนายเวร ติดตาม พล.ต.อ.วัชรพล มาตั้งแต่สมัยนั่งรอง ผบ.ตร. กระทั่งได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังเซ็นตั้ง พล.ต.ต.อรุณ มาเป็นหนึ่งในคณะทำงาน นั่งตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการประธานกรรมการ ป.ป.ช. อีก
“ว่ากันว่าในที่ประชุม กปปช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ภายในสำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีกรรมการ กปปช. บางราย ท้วงติงถึงกรณีนี้ แต่ถูก พล.ต.อ.วัชรพล ยกสารพัดเหตุผลมาท้ายที่สุดที่ประชุมโหวตให้ผ่าน ..."
สำหรับ ข้ออ้างเรื่องความจำเป็นที่ทำให้ พล.ต.ต.อรุณ ได้เข้ามาใน สำนักงาน ป.ป.ช. นั้นยกเหตุผลคือ การเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการถ่ายโอนสำนวนคดีที่ไม่ได้มีความซับซ้อนที่ค้างอยู่ในสารบบของ ป.ป.ช. เป็นจำนวนมากให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เพราะฉะนั้น ด้วยเส้นทางแบบนี้อย่าได้แปลกใจที่ พล.ต.ต.อรุณ จะกลายมาเป็นเต็งหนึ่งที่เตรียมขึ้นมาทำหน้าที่ต่อจาก นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. คนปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการในเร็ว ๆ นี้ และนั่นอาจหมายถึงการปิดโอกาสให้คนใน ป.ป.ช.ที่ถือว่าเป็นลูกหม้อขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กร จากเดิมที่ ป.ป.ช.รักษาจารีตมาเป็นเวลานานตั้งแต่ก่อตั้ง ป.ป.ช.
นอกจาก พล.ต.ต.อรุณ จะมีความใกล้ชิดกับ พล.ต.อ.วัชรพล มาอย่างยาวนานแล้ว พี่ชายของ พล.ต.ต.อรุณ ที่ชื่อ พล.ต.อมร อมรวิริยะกุล อดีตหัวหน้าสำนักงานรัฐนตรี กระทรวงกลาโหม(ระหว่าง 1 ตุลาคม 2560 - 30 กันยายน 2564)ยังเป็นลูกน้องคนสนิท โดยเป็นหน้าห้อง ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของกลุ่ม 3 ป. มาอย่างยาวนานอีกด้วย !
ดังนั้น จึงฟันธงได้เลยว่า พล.ต.ต.อรุณ เด็กสร้างของ ประธาน ป.ป.ช. คนปัจจุบัน จะสืบทอดอำนาจครอบงำองค์กรปราบโกงให้กลุ่ม พล.อ.ประวิตร และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ สองพี่น้องนี้ ต่อไปอีกหลายปี
ด้วยเหตุนี้จึงมีการคาดหมายกันว่า หากไม่มีเหตุพลิกล็อกอะไรเกิดขึ้นเสียก่อน พล.ต.ต.อรุณ ก็ จะขึ้นมาเป็นเลขาฯ ป.ป.ช.คนใหม่หลังวันที่ 30 กันยายน 2567 แน่นอน เนื่องจาก พล.ต.อ.วัชรพล กับบรรดา รรมการ ป.ป.ช. มีการรื้อหลักเกณฑ์การแต่งตั้งไว้รอแล้ว โดยจากเดิมที่พิจารณาเรื่อง“อาวุโส”ขึ้นตำแหน่งเป็นข้อพิจารณาข้อแรก แต่ตอนนี้มีการปารับเปลี่ยน ให้นับว่าใครมี “เงินเดือนสูง” เป็นอันดับแรก และให้ถือเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ
ซึ่งตรงตามสเปกของ พล.ต.ต.อรุณ เพราะถ้านับ “อาวุโส” เป็นปัจจัยแรกในการขึ้นตำแหน่ง พล.ต.ต. ก็ไม่มีโอกาสที่จะขยับขึ้นเป็น เลขาฯ ป.ป.ช. ในเร็ววันนี้ได้แต่อย่างใด เพราะเพิ่งเข้ามาทำงานใน ป.ป.ช. ได้ 5 ปีเท่านั้นเอง !
พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล ปัจจุบันอายุ 56 ปี ยังมีอีก 4 ปี ถ้าได้เป็นเลขาธิการ ป.ป.ช. ก็เท่ากับว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยังมีอิทธิพลอยู่ใน ป.ป.ช. ต่ออีก 4 ปี เพราะว่าตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. คือตำแหน่งหัวหน้าข้าราชการใน ป.ป.ช. ไม่เกี่ยวกับกรรมการ เป็นตำแหน่งจัดระเบียบ ปรับปรุงช่องทาง เอาคนที่ตัวเองต้องการมาลง ที่สำคัญที่สุดคือฝ่ายไต่สวนต่างๆ หรือที่เรียกว่า นักสืบ ป.ป.ช. คนพวกนี้พอได้รับคดีแล้ว ก็แจกไปยังคณะไต่สวนที่ตัวเองควบคุมอยู่ และมีเด็กในคาถาอยู่ในนั้นด้วย ผลออกมาก็ต้องเป็นไปตามที่นายสั่ง
ปี 2531 พล.ต.ต.อรุณ จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ 2544 จบปริญญาโทจากนิด้า 2549 จบนิติศาสตรบัณฑิต จากสุโขทัยธรรมาธิราช ประวัติการทำงานปี 2561 ก่อนที่จะย้ายมา ป.ป.ช. ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองยุทธศาสตร์ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบก.ยศ.)
ทั้งนี้ สิ่งที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่าง พล.ต.ต.อรุณ กับ พล.ต.อ.วัชรพล คือในใบสมัครเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น พล.ต.ต.อรุณ ระบุชัดเจนว่า เคยร่วมงานปฏิบัติในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ในระยะเวลาย้อนหลัง 5 ปี กับ พล.ต.อ.วัชรพล
“ผมอยากจะฝากถึงคุณนิวัติไชย เลขาฯ ป.ป.ช. ที่จะเกษียณอายุเดือนกันยายนนี้ ผมอยากจะเตือนท่านอีกครั้งหนึ่ง ท่านดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2564 กำลังจะเกษียณอายุในเร็ววันนี้ ผมไม่เคยคิดว่า ป.ป.ช. ในยุคที่คุณเป็นเลขาฯ ป.ป.ช. จะตกต่ำดำดิ่งลงเหวได้ถึงขนาดไล่เรียงเป็นกรณี
“กรณีก่อนหน้านี้มีการตีตกกรณีนาฬิกายืมเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่ยุคของคุณนิวัติไชย ดื้อด้าน ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลในสำนวนการสอบสวน
“นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ถูกไล่ออกหลังจากถูกชี้มูลความผิดร่ำรวยผิดปกติ ล่าสุด กรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่แทรกซึม แทรกแซง แล้ววางเครือข่ายของตัวเองเข้าไปทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือคดีต่างๆ ที่ขึ้นไปถึง ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นคนในระดับกรรมการ ป.ป.ช. บางคน เรื่อยไปจนถึงระดับเจ้าหน้าที่และระดับปฏิบัติการ” นายสนธิกล่าว
ณ วันนี้ ป.ป.ช. มันหมดความน่าเชื่อถือไปแล้ว, ยิ่งมีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องของวิธีการแทรกแซง-แทรกซึม เลี้ยงดูปูเสื่อ ช่วยฝากกิ๊กฝากคนรู้จักของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ให้เข้ารับราชการตำรวจ รวมไปถึง สมช. ยิ่งทำให้ Credit ในการสืบสวนสอบสวนคดีต่าง ๆ ของ ป.ป.ช. นั้นเป็นแทบจะเป็นศูนย์ไปโดยปริยาย
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์, ทีมทนาย กับ ลูกน้องตำรวจ ที่ต้องคดีถึงไม่อยากให้คดีที่พัวพันกับเว็บการพนันออนไลน์ต่าง ๆ นั้นเป็นทีมงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นคนทำ แต่พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ ป.ป.ช. ดึงไปทำให้หมด ทั้ง ๆ ที่ ป.ป.ช. เองก็ขาดศักยภาพในการทำคดี เจ้าหน้าที่ก็มีจำกัด คดีเลยถูกดองเค็มเอาไว้เต็มไปหมด
สิ่งที่นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อยทักท้วงเอาไว้ โดยนายสุชาติเป็น กรรมการ ป.ป.ช. เพียงหนึ่งเดียวที่ลงความเห็นว่า ป.ป.ช.ไม่ควรรับสำนวนคดีที่มีการกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กับพวกรวม 5 ราย มีส่วนเกี่ยวพันกับ“คดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่” ไว้ดำเนินการไต่สวนตามขั้นตอนทางกฎหมาย
โดยนายสุชาติให้เหตุผลไว้ 2 ข้อว่า
เหตุผลข้อที่หนึ่ง พฤติการณ์แห่งคดีระหว่างตำรวจกับเอกชนร่วมกันกระทำความผิดกฎหมายการพนัน โดยนำเงินที่ได้มาไปแจกจ่ายตามบัญชีต่าง ๆ นั้น เป็น “ความผิดฐานฟอกเงิน” ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่ ป.ป.ช. จะรับไว้ดำเนินการไต่สวน เพราะตำรวจในสำนวนคดีนี้ไม่ได้กระทำความผิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นการที่ ป.ป.ช. จะตั้งข้อกล่าวหาว่า ตำรวจในสำนวนคดีนี้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 149 นั้น โดยที่ตำรวจยังไม่มีพฤติการณ์เรียกรับทรัพย์สินนั้น อาจไม่ถูกต้อง
เหตุผลข้อที่สอง พนักงานสอบสวนยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น หากสำนวนนี้ถูกส่งกลับมา โดยเมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2566 พนักงานสอบสวนแจ้ง ป.ป.ช.ว่า มีการสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมและพบผู้ร่วมกระทำผิดระดับสูงด้วย เท่ากับว่าพนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่เสร็จและจะส่งให้ ป.ป.ช. พิจารณาไม่ได้จนกว่าจะการสอบสวนแล้วเสร็จ และหากพิจารณามาตรา 65 และ 66 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นั้นพบว่า ป.ป.ช. ต้องคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนแล้วจึงนำมาพิจารณาอีกครั้ง
นอกจากนี้ พิจารณาจากเงื่อนเวลา และศักยภาพในการพิจารณาคดีของ ป.ป.ช. ก็จะพบความแปลกประหลาดคือ หาก ป.ป.ช. รับสำนวนนี้มาดำเนินการนั้น ป.ป.ช. จะมีเวลาในการดำเนินการตามกฎหมาย 2 ปีและขยายเวลาได้อีก 1 ปี
แต่มีข้อมูลชี้ว่าว่า ณ เวลานี้ ป.ป.ช. คดีคงค้างกว่า 3,000 คดีและบางคดีสำคัญ ๆ ใกล้หมดอายุความ ขณะที่ ป.ป.ช. มีอัตรากำลังรวมทั้งประเทศเพียง 700 กว่าคน โดยในส่วนของพนักงานไต่สวน ป.ป.ช.นั้น ถ้าจะทำให้เท่าทันกับเงื่อนเวลาและจำนวนคดีที่คงค้างอยู่ ต้องพิจารณาสำนวนคดีให้เสร็จสิ้นมากถึงวันละ 2-3 คดี ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้
ดังนั้นการที่ ป.ป.ช. รับสำนวนเว็บพนันมินนี่มาดำเนินการอาจจะใช้เวลามากกว่าและนานกว่าพนักงานสอบสวนที่มีอัตรากำลังมากกว่า ป.ป.ช.
สิ่งที่ นายสุชาติ กรรมการ ป.ป.ช. ชี้ให้เห็นนั้นเป็นปัญหาในการบริหารงาน และการจัดการคดี เป็นปัญหาเรื่องกำลังคนในการสะสางคดี และเป็นสิ่งที่ เลขาฯ ป.ป.ช. อย่างนายนิวัติไชย ต้องออกมาพูด และจัดการ ไม่ใช่ให้ “กรรมการ ป.ป.ช.” คนใดคนหนึ่งออกมาพูด
“ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงสงสัยเหลือเกินว่า คุณนิวัติไชย เลขาฯ ป.ป.ช. ทำไมเวลาทำอะไร พูดอะไร ดูเหมือนจะขาดความน่าเชื่อถือ เพราะพูดอะไร ทำอะไร ก็เข้าทางฝั่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตลอดเวลา”
รวมไปถึงแถลงการณ์ล่าสุดของ ป.ป.ช. เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา หลังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. 3 ราย มีพฤติกรรมช่วยบิ๊กตำรวจนายหนึ่งตกแต่งพยานหลักฐานการยื่นบัญชีทรัพย์สิน หรือเกี่ยวข้องกับฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ นายนิวัติไชย แถลงว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับการประสานงานมาแล้ว ทั้งนี้ เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องก็จะเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบ ถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ดังกล่าวมีพฤติการณ์กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จะดำเนินคดีทางอาญาและทางวินัยต่อไปทันที
ประชาชนทั่วไป หลายคนก็สงสัยว่าทำไม ป.ป.ช. ต้องรอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งๆ ที่คนที่ทำผิดก็เป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ระหว่างที่รอข้อมูล ก็สามารถดำเนินการฝั่ง ป.ป.ช.ไปด้วยเลย ถ้าพบหลักฐานหรือมีมูลเหตุ ก็สั่งพักราชการไปก่อน แล้วหากพยานหลักฐานจากตำรวจส่งมาเพิ่มเติม ค่อยเอาเข้ามาประกอบในสำนวน แต่เลขาฯ ป.ป.ช.กลับไม่ทำอะไรเลย
หลักการสำคัญคือเราต้องยึดภาษิตที่ว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม
ถ้าถามว่ากรอบระยะเวลาทางกฎหมายกับประสิทธิภาพในการไต่สวนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างไร คงต้องถามคน ป.ป.ช. เองว่ามีกี่คดี ที่สามารถทำคดีตั้งแต่ไต่สวนจนถึงชี้มูลได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรม ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
สิ่งที่คนถูกร้องเรียนต้องการทราบในเวลาที่รวดเร็ว คือเขามีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ คนกลุ่มนี้น่าจะหมายถึงคนที่อาจจะไม่มีเจตนากระทำตามที่ถูกร้องเรียน
แต่คนที่กระทำความผิดโดยเจตนา รู้ตัวว่ากระทำผิด พวกนี้อาจจะไม่คิดว่าความล่าช้าคือความอยุติธรรม แต่คงอยากจะให้คดีล่าช้าไปเรื่อยๆ แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะดึงไปจนหมดอายุความในคดีอาญา แต่อยากจะให้ช้าเพราะตัวเองจะได้ยืดเวลาเสรีภาพออกไปก่อนจะต้องชดใช้กรรมตามกฎหมาย และบางคนอาจจะยืดเวลาเพื่อให้ตัวเองได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น เพราะยังไม่มีการชี้มูลจาก ป.ป.ช.
“ประเด็นสำคัญคือ คุณนิวัติไชย คุณวัชรพล และ พล.ต.ต.อรุณ ครับ ป.ป.ช. ยึดมั่นแค่ไหนที่ต้องทำคดีให้จบภายใน 2 ปี ตามมาตรา 48 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. ผมทราบว่าตอนนี้มีคดีรอชี้มูลอยู่พันกว่าเรื่อง 80% เกินกว่าข้อกำหนดของมาตรา 48 นั่นเท่ากับว่า ป.ป.ช. ได้แช่อิ่มความยุติธรรมไว้”
ประเด็นต่อมา มีคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คดีที่เข้าสู่ ป.ป.ช. จบใน 2 ปี ตามมาตรา 48 จะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นกับ ป.ป.ช. เพื่อให้มาตรการนี้มีความหมาย ไม่ใช่เพียงแต่ตัวอักษรในกฎหมายที่เขียนกันเอง แล้วก็ละเลยที่จะใช้ ต้องขยันทำงานมากกว่านี้ ถ้าล่าช้าจากองค์ประชุม แล้วมาเป็น ป.ป.ช. ได้อย่างไร เมื่อเป็นแล้ว คุณต้องทำงานให้หนัก ต้องจัดวันประชุมเพิ่มมากขึ้น
“จริงๆ แล้วผมมองว่ากรอบ 2 ปี ตามมาตรา 48 นั้นอาจจะนานไปเสียด้วยซ้ำ ที่สำคัญขณะนี้มีเรื่องที่กำลังรับการกล่าวขวัญถึงอย่างทั่วประเทศ คือคดี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตอนนี้คนของ ป.ป.ช. ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมด้วย และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ทำทุกอย่างเพื่อให้คดีของตัวเองทุกคดีเข้าไปสู่ ป.ป.ช. แสดงว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีความมั่นใจกับสายสัมพันธ์ที่ตัวเองมีอยู่ในคนของ ป.ป.ช. ซึ่งผมตอบคำถามนี้ไม่ได้ พล.ต.อ.วัชรพล ท่านน่าจะตอบได้ พล.ต.ต.อรุณ และคุณนิวัติไชย น่าจะตอบได้ ตอนนี้คนของ ป.ป.ช. ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมด้วย ควรจะทบทวนส่งเรื่องกลับไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะว่า ป.ป.ช. มีส่วนได้ส่วนเสีย
“ส่วนที่ถามว่ามาตรการทางกฎหมายข้อใดที่ท่านคิดว่าจะเป็นเครื่องมือที่จะใช้ป้องกันปราบปรามการทุจริต ระบบ ป.ป.ช. เป็นระบบไต่สวน ซึ่งเป็นข้อดีอยู่แล้ว การเพิ่มโทษให้หนักขึ้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก ทางที่ดีที่สุดครับ ป.ป.ช. คุณต้องทำให้คนทำผิดได้รับกรรมโดยเร็ว ผมก็เลยคิดง่ายๆ ว่าถ้าคุณยึดมาตรา 48 อย่างเคร่งครัด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ แล้ว ป.ป.ช. ต้องตระหนักว่าทุกเวลาที่ล่าช้าออกไปนั้น มันทำลายทั้งโอกาสของผู้ถูกร้องเรียนและประเทศ ผู้ถูกร้องเรียนถ้าเขาไม่ผิด เขาจะได้พ้นพงหนามเร็วๆ ถ้าเขาผิดก็จะได้เอาคนอย่างนั้นออกจากระบบราชการและนำตัวมาลงโทษโดยเร็ว
“คุณนิวัติไชย และคุณวัชรพล ครับ ไม่ทราบว่าผมกำลังสีซอให้ควายฟังหรือเปล่า แต่ซอที่ผมสีนั้น เป็นเสียงแห่งธรรม เมื่อคุณชี้มูลความผิดแล้ว คุณก็เร่งส่งฟ้องไป แล้วก็ไปจบตรงที่ศาล ศาลจะต้องเป็นคนชี้เองว่าสิ่งที่คุณไปสอบสวนสืบสวนมาถูกต้องหรือผิด ถ้าไม่ผิดก็ยกฟ้อง แต่คุณนิวัติไชย คุณวัชรพล ครับ คุณต้องรู้ว่าจากกระบวนการวันที่คุณชี้มูลความผิด จนกระทั่งคุณสรุปสำนวนและส่งฟ้องศาลนั้น และถ้าศาลยกฟ้องในที่สุดแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่ถูกคุณกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมนั้นต้องตกนรกหมกไหม้ พวกคุณนี่อำมหิตจริงๆ ครับ” นายสนธิ กล่าว