ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูล “กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เออร์บานา (URBNPF)” ด้วยความระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุน กรณีกองทุนอาจมีเหตุถูกบอกเลิกสัญญาสิทธิการเช่าและเลิกกองทุนรวม ซึ่งเป็นที่จับตาของบรรดา “ผู้ประกันตน” อยู่ไม่น้อย เพราะกองทุนนี้ปรากฎรายชื่อ “สำนักงานประกันสังคม” เป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่” อยู่ที่ 30%
ที่น่าหวาดวิตกก็คือ ผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี กองทุนรวม URBNPF ปี 2562 รายได้ 54.63 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 38 ล้านบาท, ปี 2563 รายได้ 39.36 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 68 ล้านบาท, ปี 2564 รายได้ 38.47 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3.8 ล้านบาท, ปี 2565 รายได้ 26.51 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 36.5 ล้านบาท และ ปี 2566 รายได้ 29.88 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 9.6 ล้านบาท
แน่นอน สิ่งที่ผู้ประกันตนอยากรู้ก็คือ ปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมได้ใช้เงินไปในการลงทุนต่างๆ สักกี่มากน้อย และสถานการณ์ ณ ปัจจุบันของตัวเลขเม็ดเงินและรายได้เป็นเช่นไร
สำหรับเงินลงทุนรวมของประกันสังคม 2,439,912 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินจาก 2 ส่วนหลัก คือเงินสมทบสะสมจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล 1,551,479 ล้านบาท (63.59%) และเงินผลประโยชน์สะสมที่ได้รับ จากการลงทุน 888,433 ล้านบาท คิดเป็น (36.41%)
อ้างอิงตามรายงานผลการดำเนินงานสำนักงานประกันสังคม ประจำปี 2566 มีผู้ประกันตนในระบบกว่า 24.61 ล้านคน ประกอบด้วย มาตรา 33 จำนวน 11.83 ล้านคน มาตรา 39 จำนวน 1.88 ล้านคน มาตรา 40 จำนวน 10.96 ล้านคน
ทั้งนี้ การลงทุนของประกันสังคมเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการระกันสังคมว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า 60% และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่เกิน 40% โดยมีการกระจายการลงทุนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ (72.41%) และต่างประเทศ (27.59%)
ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เดือน มี.ค. 2567 พบว่าประกันสังคมเข้าไปลงทุนทั้งสิ้น 94 หลักทรัพย์ ถือกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 32 หลักทรัพย์ โดยเข้าถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 10 หลักทรัพย์ ซึ่งเป็นกองทุนอสังหาฯ ทั้งสิ้น มีมูลค่ากว่า 2,974.32 ล้านบาท (ข้อมูล 10 ม.ค. 2567)
1. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอราวัณ โฮเทล โกรท หรือ ERWPF ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 50,821,200 หุ้น หรือ 28.86% มูลค่า 393.86 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67 ที่ 7.75 บาท)
2. ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แกรนด์ โฮสพีทาลิตี้ หรือ GAHREIT ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 37,876,100 หุ้น หรือ 21.58% มูลค่า 284.07 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67ที่ 7.50 บาท)
3. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เคพีเอ็น หรือ KPNPF ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 37,948,100 หุ้น หรือ 21.08% มูลค่า 141.93 ล้านบาท
4. ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ หรือ LHSC ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 53,387,700 หุ้น หรือ 10.94% มูลค่า 533.88 ล้านบาท
5. กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ หรือ POPF ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 68,277,500 หุ้น หรือ 14.18% มูลค่า 443.80 ล้านบาท
6. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แสนสิริ ไพร์มออฟฟิศ หรือ SIRIP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 46,820,800 หุ้น หรือ 27.54% มูลค่า 313.70 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67ที่ 6.70 บาท)
7. ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา หรือ SRIPANWA ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 63,129,815 หุ้น หรือ 22.62% มูลค่า 314.39 ล้านบาท
8. กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์ หรือ TU-PF ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 80,000,000 หุ้น หรือ 76.75% มูลค่า 48.80 ล้านบาท
9. กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เออร์บานา หรือ URBNPF ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 21,600,000 หุ้น หรือ 30.00% มูลค่า 34.99 ล้านบาท
10. ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ บิสซิเนส คอมเพล็กซ์ หรือ WHABT ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 55,017,500 หุ้น หรือ 27.24% มูลค่า 464.90 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงเพื่อความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว และหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน อาทิ พันธบัตรรัฐบาล ธปท. รัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน มูลค่า 1,326,502 ล้านบาท หรือคิดเป็น 56.81%, หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือ มูลค่า 273,987 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.73%, ตราสารทุนไทย (หุ้นไทย) มูลค่า 233,017 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.98%, หน่วยลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ มูลค่า 265,688 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.38%, หน่วยลงทุนอสังหา, โครงสร้างพื้นฐาน, ทองคำ มูลค่า 100,965 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.32%, หุ้นกู้เอกชนหรือ securitized debt ที่ได้รับอันดับความ น่าเชื่อถือ มูลค่า 76,659 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.28%, เงินฝาก มูลค่า 56,525 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.42%, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลัง ไม่ค้ำประกัน มูลค่า 1,840 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.08%
อย่างไรก็ดี ประกันสังคมมีผลประโยชน์สะสมจากการลงทุน ปี 2566 ที่รับรู้แล้วทั้งสิ้น 58,418 ล้านบาท ประกอบด้วยดอกเบี้ยรับและกำไรจากการขายตราสารหนี้ 40,757 ล้านบาท และเงินปันผลรับและกำไรจากการขายตราสารทุน 17,661 ล้านบาท
อีกประเด็นใหญ่ คือ “ภาวะเสี่ยงล้มละลาย” ของ “กองทุนประกันสังคม” ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าเงินในกองทุนประกันสังคมจะไม่พอจ่ายให้กับผู้ประกันตน โดยเฉพาะกรณีของเงินชราภาพ
เริ่มต้นด้วยการศึกษาของ “องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)” ประมาณการณ์สถานะภาพของกองทุนประกันสังคม ปี 2560 ประเมินว่าประกันสังคมเสี่ยงล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยระบุว่าประกันสังคมเสี่ยงล้มละลายในปี 2597 หรือประมาณอีก 31 ปีข้างหน้า โดยปัจจัยและความเสี่ยงที่จะทำให้กองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย คือไม่มีเงินสำหรับการจ่ายเบี้ยบำเหน็จเบี้ยบำนาญชราภาพ ซึ่งเกิดจากภาวะสังคมไทยที่เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบเต็มขั้น อีกนัยหนึ่งคืออนาคตจะมีวัยแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อยลง ทำให้ระบบประกันสังคมจะมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ
สอดคล้องกับ “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)” ประเมินสถานะกองทุนประกันสังคมอาจจะขาดสภาพคล่อง หรือ ล้มละลายใน 30 ปี เนื่องจากสัดส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพมากกว่าการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน และแม้จะขยายการลงทุนสุดกำลังก็ได้กำไรไม่ถึง 10 % โดยมีข้อเสนอให้พิจารณาการปรับวิธีการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เพื่อความอยู่รอดของกองทุนประกันสังคม
ในประเด็นนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มั่นใจว่ากองทุนประกันสังคมยังไม่มีความเสี่ยง โดยวางเป้าหมายเพิ่มรายได้เงินในกองทุนประกันสังคมโดยตั้งเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุน จาก 2.4% เป็น 5 % หรือจากปีละ 60,000 ล้าน เป็น 120,000 ล้าน โดยไต่ระดับขึ้นไปตั้งแต่ปี 2567 - 2570 โดยเสนอแนวทางหลังจากปี 2568 เป็นต้นไป จะต้องนำกองทุนประกันสังคมไปหาดอกผลให้ได้ไม่น้อยกว่า 5%
นอกจากนั้น ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก อย่างเช่น 1. การขยายเพดานการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน จากเดิมเพดานการจ่ายเงินสมทบจะคิดจากเดือนที่ 15,000 บาท ก็จะต้องขยายเพดานไปที่ 17,500 บาทไปจนถึง 20,000 บาท 2. การขยายอายุเกษียณของผู้ประกันตนจากเดิมที่ 55 ปีก็ขยับไปที่ 60 ปีไปจนถึง 65 ปี 3. การเพิ่มจำนวนผู้ประกันตนในมาตรา 33 และ 39 โดยเฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่เป็นแรงงานอิสระ ปัจจุบันมีผู้ประกันตนเพียง 11 ล้านคน ซึ่งจะต้องจูงใจให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้ามาสู่มาตรา 40 ให้ใกล้เคียง 25 ล้านคนให้มากที่สุด
สำหรับการจ่ายเพิ่มเงินสมทบประกันสังคม ปี 2567 กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอร่างกฎหมายปรับขึ้นเพดานเงินสมทบประกันสังคมเป็นขั้นบันได โดยเพดานเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรา 33 เพิ่มจาก 750 บาทต่อเดือน เป็น 875-1,150 บาทต่อเดือน แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 - 31 ธ.ค. 2569 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 875 บาทต่อเดือน ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2570 - 31 ธ.ค. 2572 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,000 บาทต่อเดือน และระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,150 บาทต่อเดือน
ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาล กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมจะหาบทสรุปในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร