คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ภูฏานเป็นประเทศล่าสุดของเอเชียและของโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเปลี่ยนแปลงในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นับมาจนถึงบัดนี้ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานมีอายุได้ 15 ปี
มีผู้กล่าวว่า ภูฏานเป็นประเทศที่สองในโลกถัดจากเดนมาร์กที่สามารถเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้อย่างสันติสงบและราบรื่น แต่ด้วยระยะเวลาที่เพิ่งผ่านไป 15 ปี ยังไม่สามารถที่จะตัดสินว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองของภูฏานประสบความสำเร็จและเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มั่นคงและมีเสถียรภาพเฉกเช่นประเทศอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในโลก
ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงกรณีการเปลี่ยนผ่านการปกครองของภูฐานไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองสู่ประชาธิปไตยของภูฏานถือว่าดำเนินไปบนเส้นทางที่ผิดแผกแตกต่างจากประเทศอื่นๆ (unusual path to democracy) การเปลี่ยนแปลงในภูฏานจึงกลายเป็นกรณีที่ได้รับความสนใจศึกษาอย่างยิ่งและอาจจะส่งผลให้เกิดทฤษฎีหรือตัวแบบใหม่ๆ ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในกรณีของภูฏานคือประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือหากไม่เกิดทฤษฎีใหม่ ก็อาจจะลงเอยด้วยความล้มเหลวของประชาธิปไตยในภูฏานในที่สุดก็เป็นได้ !
หนึ่งในคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของภูฏาน ค.ศ. ๒๐๐๘ คือ “ประชาธิปไตยภูฏาน” เกิดจากการพระราชทานจากองค์พระมหากษัตริย์ของภูฏานในฐานะที่เป็น “ของขวัญ” ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมอบให้แก่พสกนิกรชาวภูฏาน และที่น่าสนใจศึกษาคือ ประชาชนชาวภูฏานกลับไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยยืนยันว่าต้องการอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป
ในเรื่องนี้ ดาโซะ กรรมะอุระ ได้กล่าวอธิบายว่า “เพราะว่าสถาบันกษัตริย์ทรงเสียสละตัวตน และเสียสละอำนาจให้แก่ประชาชน ชาวภูฎานไม่ได้อยากให้ราชาธิปไตยลดเลิกละบทบาทหน้าที่ที่สำคัญที่ทรงทำมาโดยตลอด ชาวภูฎานรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ หากปราศจากการนำโดยพระราชา”
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ภายใต้บริบทดังกล่าวนี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครองในภูฏานจะสามารถเป็นประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงไร ?
จากการที่ภูฏานริเริ่มและชูประเด็น คุณค่าความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) มากกว่าที่จะมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้น การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(Gross Domestic Product: GDP) อย่างรวดเร็วนั้น นำมาซึ่งข้อสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่การเกิดชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานที่เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย นั่นคือ หากเศรษฐกิจของภูฏานไม่เอื้อให้เกิดชนชั้นที่เป็นตัวแสดงสำคัญในการพัฒนาทางการเมือง (political agent) ระบอบประชาธิปไตยของภูฏานจะเติบโตและพัฒนามั่นคงได้อย่างไร ? และในทางกลับกัน ก็อาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่าการใช้ดัชนีคุณค่าความสุขมวลรวมประชาชาติแทนผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) นี้เป็นเพราะต้องการลดความรู้สึกลดหลั่นของความยากจน ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ทันสมัย ซึ่งดูจะไปได้ดีกับสังคมที่มีความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ซึ่งในแง่นี้ก็ถือว่าเป็นกุศโลบายที่แยบคายของราชวงศ์วังชุก
จากข้อสังเกตข้างต้น จึงนำมาสู่คำถามเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
หนึ่ง ภูฏานสามารถคงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่านช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งและเพิ่งมาเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2551 อย่างสงบสันติได้อย่างไร โดยไม่เกิดวิกฤตภายในและระหว่างประเทศ ?
สอง โดยทั่วไป การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมักมีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งนั่นคือ บทบาทของกองทัพ ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมกำลังอาวุธหลักในสังคม ในกรณีของภูฏาน กองทัพมีบทบาทหรือไม่ ? อย่างไร ?
สาม “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ของภูฏานสามารถบริหารจัดการรองรับปัญหาความหลากหลายทางเชื้อชาติดังกล่าวนี้อย่างไรภายใต้การครอบงำทางการเมืองและวัฒนธรรมของพวก “Ngalop” ?
สี่ เมื่อประชาธิปไตยของภูฏานเกิดจากการพระราชทานจากองค์พระมหากษัตริย์ การเปลี่ยนแปลงการปกครองในภูฏานจะสามารถเป็นประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงไร ?
ห้า ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมของภูฏานจะเห็นได้ชัดว่าหาได้มีแรงกดดันจากภายในประเทศต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ปัจจัยภายนอกประเทศที่ทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก และพระราชบิดาตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคืออะไร
หก หากเศรษฐกิจของภูฏานไม่เอื้อให้เกินชนชั้นกลางซึ่งเป็นตัวแสดงสำคัญในการพัฒนาทางการเมือง (political agent) ระบอบประชาธิปไตยของภูฏานจะเติบโตและพัฒนามั่นคงได้อย่างไร ?
เจ็ด เมื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของภูฏานไม่สามารถอธิบายได้ด้วยตัวแบบที่มีอยู่ การศึกษาการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของภูฏานจึงอาจนำไปสู่การพัฒนาตัวแบบและแนวทางการอธิบายใหม่และ/หรือยืนยัน “พลังการอธิบาย” ของตัวแบบที่มีอยู่
แปด การใช้แนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness: GNH) ควบคู่กับการประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ สภาวะความเป็นอยู่และทัศนคติของชาวภูฏานมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร
กล่าวโดยสรุป เนื่องจากประเทศภูฏานเป็นประเทศล่าสุดที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และจนถึงบัดนี้ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานก็มีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น อีกทั้งภูฎานยังเป็นประเทศที่สองในโลกถัดจากเดนมาร์กที่สามารถเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้อย่างสันติสงบและราบรื่น การศึกษานี้จึงน่าจะสะท้อนให้เห็นความเป็น “ต้นแบบ” ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเดนมาร์กได้ไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การสังเคราะห์แนวทางการอธิบายการการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแนวใหม่และ/หรือเป็นแนวทางการศึกษาเปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านของประเทศอื่นๆ ต่อไป
ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญของภูฏานที่ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
(ผู้เขียนขอขอบคุณ ผศ. ดร. บุหลันฉาย อุดมอริยทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตที่กรุณาให้ผู้เขียนใช้ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงการปกครองในภูฏาน ค.ศ. 2008 /พ.ศ. 2551)