xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้อง "ธนา-ต่อศักดิ์" กับ พนง.สอบสวน 244 คน หลังลูกน้อง "บิ๊กโจ๊ก" ฟ้องคดีพัวพันเว็บพนัน ชี้ทำตามขั้นตอน กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศาลยกฟ้อง "ธนา-ต่อศักดิ์" กับ พนง.สอบสวน 244 คน หลังลูกน้อง "บิ๊กโจ๊ก" ฟ้องคดีพัวพันเว็บพนัน ชี้ทำตามขั้นตอน กม.


วานนี้ (26 มี.ค.) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลอ่านคำพิพากษาในชั้นตรวจฟ้องคดีที่ อท.244/2566 ที่ พ.ต.อ.เขมรินทร์ พิสมัย หรือ เปียก ผกก.ตม.จ.จันทบุรี ลูกน้องคนสนิท พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร.กับชุดพนักงานสอบสวน รวม 244 คน รวมทั้งพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล บิ๊กต่อ ผบ.ตร.ด้วย เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ,รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ , พยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเชื่อว่าได้มีความผิดอาญาอย่างใดเกิดขึ้น หรือเชื่อว่าความผิดอาญาที่เกิดขึ้นร้ายแรงกว่าที่เป็นความจริง ฯขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,157, 162 (4), 179 , 200พรป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561มาตรา 4 ,172

ประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งหมด ขณะเกิดเหตุ พล.ต.อ.ธนา จำเลยที่ 1 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จำเลยที่ 2 เป็นผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำเลยที่ 3 เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จำเลยที่ 4 เป็นผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี รักษาราชการแทนผู้บัญชาการ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ จำเลยที่ 5 เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รักษาราชการแทนจเรตำรวจ (สบ.8) จำเลย ที่ 6 เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำเลยที่ 7 เป็นผู้บังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จำเลยที่ 8 เป็นรองผู้บัญชาการ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ จำเลยที่ 9 เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จำเลยที่ 10 เป็นผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 จำเลยที่ 11 เป็นผู้บังคับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จำเลยที่ 12 เป็นผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ จำเลยที่ 13 เป็นผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 จำเลย ที่ 14 เป็นผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 จำเลยที่ 15 เป็นสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 11 และที่ 16 ถึงที่ 105 เป็นพนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 593/2566 ภาคผนวก ก จำเลยที่ 106 ถึงที่ 242 เป็นคณะพนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 593/2566 ภาคผนวก ข จำเลยที่ 243 เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และจำเลยที่ 244 เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 244 จึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 ประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิด โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 4 ที่ 8 ที่ 106 และที่ 108 สั่งการให้จำเลยที่ 205 ที่ 192 ที่ 176 ที่ 180 ที่ 182 ที่ 181 ที่ 224 ที่ 172 ที่ 188 ที่ 187 ที่ 152 และที่ 242 ร่วมกันจับกุมโจทก์กับพวก

โดยจำเลยที่ 4 สั่งการให้จำเลยที่ 60 และที่ 192 ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ขอออกหมายจับโจทก์กับพวกโดยปกปิดไม่ระบุอาชีพ ยศ และตำแหน่ง จำเลยที่ 60 ลงลายมือชื่อในคำร้องขอออกหมายจับโดยไม่มีอำนาจ และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่า โจทก์กับพวกมีพฤติการณ์หลบหนีและยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จำเลยที่ 8 ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอออกหมายค้นบ้านพักของโจทก์กับพวก และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นเหตุให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 29 นำตัวโจทก์ไปฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในเวลาใกล้ปิดทำการ และคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์กับพวกยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับจำเลยที่ 244 เพื่อเปลี่ยนคณะพนักงานสอบสวน แต่จำเลยที่ 244 เพิกเฉย ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่โจทก์กับพวกโดยมิได้มีพยานหลักฐานใหม่ จึงเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาที่มิชอบ และขัดแย้งกับข้อกล่าวหาเดิม กับเป็นข้อกล่าวหาที่ซ้ำซ้อนทำให้โจทก์กับพวกหลงต่อสู้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ที่ 11 ที่ 16 ถึงที่ 105 ร่วมกันทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อปรักปรำโจทก์กับพวก

เห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่าไม่ปรากฏหลักฐานการกระทำความผิด การแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมไม่ชอบ มีการปรุงแต่งเรื่องราวนำมากล่าวหาโจทก์กับพวก ล้วนแต่เป็นข้อต่อสู้ที่โจทก์ต้องนำไปพิสูจน์ว่าโจทก์กับพวกมิได้กระทำความผิด มิใช่ข้อที่จะนำมาฟ้องจำเลยกับพวกในคดีนี้ และการวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวนนี้มิใช่การวินิจฉัยว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) มีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเช่นกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ทั้งเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะเรียกบุคคลใดมาเป็นพยานหรือไม่ก็ได้ หรือจะรวบรวมหรือไม่รวบรวมพยานหลักฐานใดเข้าไว้ในสำนวนการสอบสวนก็ได้ และการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมนั้นหมายความว่า ข้อกล่าวหาเดิมยังคงอยู่มิใช่ต้องตกไปเพราะพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ตามที่โจทก์เข้าใจ ส่วนที่ข้อกล่าวหาเดิมจะขัดแย้งหรือซ้ำซ้อนกับข้อกล่าวหาใหม่หรือไม่ ก็เป็นข้อกฎหมายที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย สำหรับการยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายจับและหมายค้นต่างศาลกันเป็นเพราะศาลที่มีอำนาจออกหมายจับ คือศาลที่มีเขตอำนาจชำระคดีหรือศาลที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่ที่จะทำการจับ ส่วนศาลที่มีอำนาจออกหมายค้น คือศาลที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่ที่จะทำการค้น

ส่วนการยื่นขอออกหมายจับโดยไม่ระบุอาชีพ ยศ และตำแหน่ง ในหมายจับนั้น เห็นว่า ยศของข้าราชการตำรวจเป็นเพียงการแสดงถึงจำนวนปีที่รับราชการเท่านั้น อีกทั้งฐานความผิดที่ระบุในหมายจับก็เป็นฐานความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กับทั้งการที่ศาลอาญากรุงเทพใต้จะพิจารณาออกหมายจับตามคำร้องของผู้ร้องหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของผู้ร้องที่เสนอมาตามสมควรซึ่งเป็นสาระสำคัญยิ่งกว่าการระบุยศ ตำแหน่ง หรืออาชีพ ที่มิได้เกี่ยวข้องกับฐานความผิดดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น

ส่วนจำเลยที่ 60 ที่มียศร้อยตำรวจเอกจึงเป็นการลงชื่อในคำร้องขอออกหมายจับที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว สำหรับการนำตัวโจทก์กับพวกไปฝากขังต่อศาลในเวลาใกล้ปิดทำการ การคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว และเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับคำร้องขอฝากขังนั้น

เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว กรณีจึงไม่ใช่เหตุถึงขนาดที่จะฟังว่าจำเลยกับพวกปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อจำเลยที่ 244 (พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ) เพื่อเปลี่ยนคณะพนักงานสอบสวนนั้น

โจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงให้เห็นว่า จำเลยที่ 244 ได้ดำเนินการหรือไม่ดำเนินการอย่างใดในหน้าที่ อันจะแสดงให้เห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนข้อกล่าวอ้างอื่น ๆ ได้แก่ การค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เป็นเหตุให้ไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ดี การโอนคดีไปอยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ก็ดี และการนำพยานหลักฐานเดิมมาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ก็ดี ล้วนแต่เป็นเพียงมูลเหตุจูงใจที่ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น