xs
xsm
sm
md
lg

“ปลาหมอสีคางดำ” ประโยชน์และรสชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ปลาหมอสีคางดำ” ประโยชน์และรสชาติ

โดย มีนา รัตนากรพิสุทธิ์

ขึ้นชื่อว่า “ปลาหมอสีคางดำ” ทุกคนคงรู้จักดีว่ามันเป็นปลาต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่มีความสามารถในการขยายพันธุ์สูงมาก จนถึงขณะนี้ระบาดไปแล้วหลายจังหวัด กระทั่ง “กรมประมง” ต้องออกปฏิบัติการล่าปลาชนิดนี้ เพื่อลดปริมาณและควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด

โดยได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ” ขึ้นเพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเครือข่ายชาวประมงและเกษตรกรในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ ด้วยเรือประมงขนาดไม่เกิน 3 ตันกรอส ติดอวนรุน ร่วมกับการปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง ในแหล่งน้ำที่พบการแพร่ระบาด เพื่อควบคุมและลดจำนวนประชากรปลาหมอสีคางดำขนาดเล็กที่พบในธรรมชาติ

เมื่อเร็วๆ นี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดปฏิบัติการ “การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ” นำร่องพร้อมกันใน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และ กทม. ล่าสุด เมื่อวันก่อนจังหวัดสมุทรสงคราม เดินหน้ากิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ต่อยอดการกำจัดปลาชนิดนี้ด้วยอีกกิจกรรมหนึ่ง


อีกมาตรการที่ขาดไม่ได้หากต้องการให้ชาวบ้านช่วยกันจับปลาขึ้นมา คงหนีไม่พ้นการให้ความรู้ถึงประโยชน์ของปลาชนิดนี้ที่สามารถนำมารับประทานได้ไม่ต่างกับปลาชนิดอื่นๆ เพื่อสร้างพลังของการบริโภค (เฉกเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยสามารถใช้จัดการกับปลาซัคเกอร์และหอยเชอรี่ได้สำเร็จ) เพราะอันที่จริงปลาชนิดนี้มีรสชาติอร่อยไม่แพ้ปลานิล ยิ่งถ้าวัตถุดิบชนิดนี้อยู่ในมือแม่ครัวหัวป่าด้วยแล้ว จะพบว่าสามารถทำให้อร่อยได้สารพัดเมนูทีเดียว

เริ่มกันที่ของง่ายที่สุดอย่าง “ปลาแดดเดียว” ที่หากเป็นปลาไซส์เล็กต้องทอดให้กรอบสุดๆ ทั้งตัว หรือยิ่งถ้าได้ปลาตัวใหญ่หน่อยสามารถแล่เอาแต่เนื้อออกมาได้ง่าย เพราะปลาชนิดนี้ก้างใหญ่ เลาะไม่ยาก นำมาปรุงรสและทอดให้เหลืองกรอบกำลังดี ได้ชิมเมื่อไหร่รับรองจะติดใจ ชิ้นเดียวไม่พอ

หรืออีกเมนู “ปลาหวาน” ที่ใช้วิธีแล่เฉพาะเนื้อปลาออกมาหั่นเป็นเส้นๆ แล้วปรุงรสตามกรรมวิธีทำปลาหวาน เมื่อนำลงทอดแล้ว ทุกเสียงยืนยันว่า อร่อยเหมือนปลาริวกิวหวานที่เราๆ ท่านๆ ชอบกินกันเลย

เมนูขนมจีนน้ำยาปลาและแกงส้มปลาก็ไม่ควรพลาด ไม่น่าเชื่อว่าปลาหมอสีคางดำจะนำมาทำ 2 เมนูนี้ได้อร่อยขนาดนี้ ยิ่งถ้าได้เครื่องเคียงขนมจีนครบสูตร กินกับไข่ต้มสักฟอง เห็นทีต้องมีคนขอเบิ้ล ส่วนแกงส้มปลาใส่หน่อไม้ดองราดบนข้าวสวยร้อนๆ นี่ก็กินหมดจานไม่รู้ตัวเหมือนกัน รวมถึงของกินเล่นอย่าง ไส้อั่วปลาและข้าวเกรียบปลา ก็เป็นอะไรที่ต้องชิม ทั้งยังนำไปทำปลาร้า และน้ำปลา ที่หลายจังหวัดที่ทดลองทำแล้ว ถึงกับยกนิ้วชื่นชมรสชาติกันทั้งนั้น ... นี่ล่ะ ปลาหมอสีคางดำที่สามารถรังสรรค์ได้หลากหลายเมนูจริงๆ


นอกเหนือจากการปรุงเป็นเมนูอาหารและขนมของกินเล่นแล้ว ประโยชน์ของปลาหมอสีคางดำ ยังนำขึ้นมาขายให้โรงงานปลาป่น เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ หรือนำไปทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ สำหรับใช้รดต้นไม้ให้ดอกผลงดงาม ได้อีกด้วย

ปัจจุบัน ราคาปลาหมอสีคางดำ (คละขนาด) ที่ยังไม่นำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า อยู่ที่ประมาณ 7-10 บาท/กก. สามารถจับขึ้นมาได้โดยไม่ต้องลงทุนเลี้ยง ซึ่งเป็นการช่วยฟื้นฟูสมดุลธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้สิ่งแวดล้อมในชุมชน ขณะที่ปลาที่ถูกนำไปแปรรูปแล้ว เช่น ปลาแดดเดียวแบบทั้งตัวจะอยู่ที่ 80-90 บาท/กก. แต่ถ้าแล่เฉพาะเนื้อ จะอยู่ที่ 160 บาท/กก. ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องสร้างมูลค่าให้ปลาชนิดนี้มีราคาสูงจนเกินเหตุ เพราะนั่นอาจทำให้เกษตรกรบางคนทำการลักลอบขยายพันธุ์ปลาจนเกิดภาวะที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะผิดเป้าประสงค์และเกิดหายนะของน่านน้ำตามมาอีกระลอกใหญ่ ขอเพียงช่วยกันจับ-ช่วยกันกิน-ช่วยกันใช้ ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ ตามแผนของกรมประมง เช่น กิจกรรมลงแขกลงคลอง การปล่อยปลากะพง ปลาอีกงเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด พร้อมๆ ไปกับการประเมินสถานการณ์ปริมาณปลา รวมถึงต้องไม่ลืมการให้ความรู้เกษตรกรและชาวบ้านที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเช่นกัน หรืออย่างน้อยที่สุดขออย่าได้มีใครนึกพิเรนทร์ นำปลาชนิดนี้ไปเป็นเหยื่อตกปลาในแหล่งน้ำอื่นๆ ที่ทำให้มันแพร่ระบาดมากขึ้นไปอีกก็แล้วกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น