xs
xsm
sm
md
lg

“โรงพิมพ์รุ่งศิลป์” ฉะ องค์การค้า สกสค.แจงมั่ว แฉซ้ำพิมพ์แบบเรียนขัด กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“โรงพิมพ์รุ่งศิลป์” ฉะ องค์การค้า สกสค.แจงมั่ว แฉซ้ำพิมพ์แบบเรียนขัด กม.

“รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ” ลากไส้ “องค์การค้าของ สกสค.” ยิบ ย้ำจ้างพิมพ์แบบเรียนปี 66-67 ขัด กม. แฉปี 66 หาเรื่องตัดแต้ม ทำองค์การค้าฯเสียหาย 61 ล้านบ. บี้เกณฑ์แบ่ง 30 กลุ่มแบบเรียน เอื้อ 5 โรงพิมพ์ใหญ่ ส่อฮั้วประมูลชัดเจน จี้เปิดข้อมูลเสนอราคาแต่ละรายการ

จากกรณีที่ องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) โดย นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. แถลงข่าวยืนยันว่า โครงการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียน ประจำปี 2567 จำนวน 151 รายการ ขององค์การค้าของ สกสค.มีความโปร่งใส และไม่มีการล็อกสเปก หรือฮั้วประมูล ตามที่ถูกร้องเรียน นั้น

วันนี้ (27 มี.ค.67) บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด (บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ)ในฐานะผู้ร้องเรียน โดย นายอภิชาติ จิวัจฉรานุกูล กรรมการผู้จัดการ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้ออกแถลงการณ์โต้แย้ง องค์การค้าของ สกสค. ในหลายประเด็น โดยสาระสำคัญระบุว่า บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียนขององค์การค้าของ สกสค. ในส่วนของปี 2566 และปี 2567 โดยในปี 2566 เป็นการวิจารณ์ร่างการประกวดราคา (ทีโออาร์) 3 ข้อ และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อกำหนดทีโออาร์ดังกล่าว ซึ่งต่อมาศาลสูงสุดได้มีคำสั่งตามศาลปกครองกลางในการทุเลาการบังคับใช้ข้อกำหนดทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ตามที่ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ยื่นฟ้อง โดยที่ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ไม่ได้ร้องให้ยกเลิกประกาศทีโออาร์ ขณะที่ปี 2567 ได้ร้องเรียนให้ยกเลิกประกาศทีโออาร์ เพียง 4 ครั้ง แต่มีการสำเนาถึงผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

“ที่องค์การค้าของ สกสค. ได้แจ้งต่อสื่อมวลชน ว่าปี 2566 ได้มีการส่งหนังสือร้องเรียนให้ยกเลิกทีโออาร์ทั้งหมด 7 ฉบับ และในปี 2567 มีหนังสือร้องเรียนยกเลิกทีโออาร์ ทั้งหมด 17 ฉบับ จากผู้ร้องจาก
โรงพิมพ์เดียวกัน ในระยะเวลา 17 วันนั้น จึงไม่เป็นความจริง ทำให้ภาพพจน์ของ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก” แถลงการณ์ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ระบุ

บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ระบุด้วยว่า การพิจารณาราคาจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียนปี 2566 มีการพิจารณาราคาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องด้วยทางองค์การค้าของ สกสค. มีการกำหนดหลักเกณฑ์การให้คะแนน โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้เข้าประกวดราคารับทราบ ทำให้ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ถูกตัดคะแนนในส่วนของผู้รับรองกระดาษไป 6 คะแนน ทำให้รายการที่ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะ จะต้องเสนอต่ำกว่าผู้เสนอรายอื่น 12% ทำให้ได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะ จาก 12 รายการ จาก 96 รายการที่ยื่นเสนอราคาต่ำสุด ส่งผลให้องค์การค้าของ สกสค.เสียหายเป็นมูลค่า 61,851,180.00 บาท

ในส่วนของการร้องเรียนโครงการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์แบบเรียนขององค์การค้าของ สกสค. ปี 2567 นั้น บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้ร้องเรียนจำนวน 4 ครั้ง และมีการสำเนาถึงผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย (จากที่องค์การค้าของ สกสค.ระบุว่าร้องเรียน 17 ฉบับใน 17 วัน) โดยครั้งแรกร้องเรียนเกี่ยวกับการให้ยกเลิกทีโออาร์ เนื่องด้วยทีโออาร์มี
การแบ่งกลุ่ม หนังสือเรียนเป็น 30 กลุ่ม จาก 151 รายการ และให้โรงพิมพ์ยื่นข้อเสนอได้เพียง 1 รายการ จาก 5 รายการในแต่ละกลุ่ม ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าออกข้อกำหนด เอื้อให้เอกชนทั้ง 5 รายใหญ่ฮั้วประมูลกัน

แถลงการณ์ บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ระบุถึงการร้องเรียนครั้งที่ 2-3 ว่า เป็นการร้องเรียนต่อ รมว.ศึกษาธิการ ให้ทราบถึงปัญหาในองค์การค้าของ สกสค. และแจ้งผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ทางเอกชนทั้ง 4 รายรับงานไปผลิตเมื่อปี 2566 พิมพ์แบบเรียนที่ไม่ตรงตามทีโออาร์กำหนด ส่วนการร้องเรียนครั้งที่ 4 เป็นการร้องเรียนให้ตรวจสอบการยื่นข้อเสนอราคาของแต่ละโรงพิมพ์ เนื่องจากการเสนอราคาของ 5 โรงพิมพ์ มีลักษณะที่ทำให้เห็นว่ามีการฮั้ว หรือสมยอมในการยื่นข้อเสนอราคา

บจ.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ระบุอีกว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าการเสนอราคาของเอกชนทั้ง 4 ราย ในปีการศึกษา 2565 และ 2566 มีความผิดปกติเป็นอย่างมาก โดยปี 2565 ในแต่ละรายการ จะมี 3 โรงพิมพ์ที่เกินราคากลางและอีก 1 บริษัท ต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อย และในปี 2566 ทั้ง 4 รายมีการเสนอราคาเกินกว่าราคากลางเฉลี่ยประมาณ 6% เกือบทุกรายการ และการเสนอราคาก็เป็นรูปแบบเดิมตลอดมา ประเด็นดังกล่าวส่อให้เห็นถึงการแบ่งงานกันมาล่วงหน้า น่าจะมีการสมยอมในการเสนอราคาอย่างชัดเจน ซึ่งการกระทำของเอกชนทั้ง 4 รายเป็นการเอาเปรียบนักเรียน และผู้ว่าจ้างเป็นอย่างมาก แต่องค์การค้าของ สกสค.ก็มิได้ดำเนินการตรวจสอบแต่อย่างใด

มิหนำซ้ำ ในปีการศึกษา 2567 องค์การค้าของ สกสค. ยังออกทีโออาร์เอื้อประโยชน์ให้เอกชน 4 ราย บวกกับเอกชนรายใหม่กระทำการเช่นนี้อีก.
กำลังโหลดความคิดเห็น