xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้อง “อ.ไชยันต์” คดี “ณัฐพล” ฟ้องหมิ่น ชี้มีสิทธิ์โต้แย้งปริญญานิพนธ์ฉาว-บิดเบือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศาลยกฟ้อง “อ.ไชยันต์” คดี “ณัฐพล” ฟ้องหมิ่น ชี้มีสิทธิ์โต้แย้งปริญญานิพนธ์ฉาว-บิดเบือน
.
วันนี้ (5 มี.ค.) ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่นายณัฐพล ใจจริง ผู้แต่งหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 พร้อมเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา หลัง ศ.ดร.ไชยันต์โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กของตนเองในชื่อ Chaiyan Chaiyaporn ต่างกรรมต่างวาระหลายครั้ง เช่น วันที่ 9 พ.ย. 2564 กล่าวหาว่า นายณัฐพลใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เอกราช ที่ไม่มีอยู่จริงมาอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ และพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างกระแสความรู้สึกให้ผู้อ่านเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์
.
โดยศาลเห็นว่า โจทก์จัดทําวิทยานิพนธ์และผลงานโดยใช้เสรีภาพทางวิชาการ ดังนั้น จําเลยในฐานะประชาชนทั่วไปย่อมมีเสรีภาพในการเห็นต่างจากเนื้อหาหรือข้อความในผลงานของโจทก์เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จําเลยเป็นหัวหน้าโครงการงานวิจัยและดําเนินการวิจัยผลงานต่างๆ ของนักวิชาการจนตรวจพบจุดบกพร่องในวิทยานิพนธ์ของโจทก์ และจําเลยแจ้งไปยังบัณฑิตวิทยาลัย จนมีคําสั่งระงับเผยแพร่วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี 2562 แต่โจทก์กลับนําเนื้อหาที่มีจุดบกพร่องดังกล่าว ไปพัฒนาเขียนเป็นหนังสือ และมีการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชน จําเลยในฐานะประชาชน ทั่วไปย่อมมีสิทธิตรวจสอบว่าเนื้อหาในบทความ หรืองานเขียนดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ แม้ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของโจทก์ หรือแม้แต่จําเลยไม่ได้รับผลกระทบจากเนื้อหาในวิทยานิพนธ์หรือบทความและหนังสือของโจทก์ก็ตาม
.
ยิ่งกว่านั้นในฐานะที่จําเลยเป็นนักวิชาการซึ่งมีประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา เมื่อจําเลยตรวจสอบแหล่งอ้างอิงโดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ มาเบิกความสนับสนุนถึงว่าจําเลยได้ ทําการตรวจสอบตามหลักวิชาการแล้ว ปรากฏว่าไม่มีข้อความที่โจทก์เขียนจากแหล่งอ้างอิง อีกทั้งมีแต่การตีความข้อความเห็นโดยไม่มีข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง อันมีลักษณะที่จําเลยเห็นว่าเป็นการบิดเบือน จําเลยย่อมมีสิทธิทางวิชาการ หรือโต้แย้งและนําเสนอต่อสาธารณชนได้ ไม่ว่ารูปแบบใด เช่น สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชันเฟซบุ๊ก และให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบข้อความอีกด้าน อีกทั้ง เพื่อความเป็นธรรมต่อบุคคลที่โจทก์กล่าวถึงในผลงาน โดยเฉพาะผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและไม่มีโอกาส โต้แย้งหรือให้ข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น
.
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความเป็นธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งโจทก์เขียนถึงโดยไม่ปรากฏแหล่งอ้างอิง การโพสต์ข้อความของจําเลยตามฟ้องนับว่าจําเลยได้กระทําหน้าที่ของบุคคลในฐานะปวงชนชาวไทยในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 50 (1) รวมทั้ง นับได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทําได้ ปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) จําเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้อง ข้อต่อสู้ของจําเลยฟังขึ้น ข้อเท็จจริงอื่นนอกจากนี้ไม่จําต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น