xs
xsm
sm
md
lg

ชัยวัฒน์ ลิ้ม ทุจริต งาบงบปลูกป่า ผิดชดใช้ 3.6 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ชัยวัฒน์ ลิ้ม ทุจริต งาบงบปลูกป่า ผิดชดใช้ 3.6 ล้านบาท 
จากข่าวครึกโครมการรุกป่าเขาใหญ่จนเกิดศึกระหว่าง ส.ป.ก. กับกรมอุทยานและกลายเป็นข้อพิพาทข้ามห้วยระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อม ๆ กับชื่อของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติโด่งดังและถูกกล่าวขานในฐานะ “ฮีโร่” ผู้ยืนหยัดพิทักษ์ป่าที่หาได้ยากยิ่งในการต่อกรกับขบวนการหากินกับการให้เอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.

แต่ใครเลยจะรู้ว่า ฉากหลังของพญาเสือชัยวัฒน์ผู้มีภาพเป็นเสมือนเทพผู้พิทักษ์ป่า ในอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นมุมมืดที่อยู่หลังฉากของเขาก็คือ การปฏิบัติหน้าที่แบบชงเองกินเอง ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย และนายชัยวัฒน์ซึ่งอยู่ในฐานะตัวการสำคัญถูกตัดสินให้ชดใช้เงินแก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นต้นสังกัดของตนเองเป็นจำนวนสูงถึง 3.6 ล้านบาท

กรณีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 ต่อเนื่องถึงปี 2556 ขณะที่นายชัยวัฒน์ดำรงตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญพิเศษ ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
โดยในห้วงเวลาดังกล่าว มีการจัดทำโครงการปลูกป่าเพื่อลดปัญหาอุทกภัยและภาวะโลกร้อนในพื้นที่ป่าแก่งกระจานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคล 84 พรรษา

นายชัยวัฒน์ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวทั้งในฐานะกรรมการกำหนดเงื่อนไขหรือ TOR ในการว่าจ้างผู้ดำเนินการและอยู่ในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้าง
แม้ว่าใน TOR จะกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่ปลูกป่าในโครงการจะต้องเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ทุ่งหญ้า พื้นที่เปิดโล่งหรือพื้นที่บุกรุก แต่นายชัยวัฒน์กลับเลือกใช้พื้นที่ซึ่งเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ในการดำเนินโครงการซึ่งมีเนื้อที่รวมกัน 4,200 ไร่

ทั้งที่การใช้ดาวเทียม 3 ดวง ตรวจสอบข้อมูลลักษณะพื้นที่ดำเนินโครงการ ปรากฏหลักฐานการวิเคราะห์ภาพถ่ายอย่างชัดเจนว่า พื้นที่ร้อยละ 70 ถึง 85 ที่นายชัยวัฒน์กำหนดไว้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง ไม่เหมาะสมที่จะนำมาทำโครงการปลูกป่าแต่อย่างใด

ดังนั้นหากมีการเดินหน้าปลูกป่าในพื้นที่เหล่านั้น ผู้ประกอบการก็จะได้ประโยชน์ กล่าวคือ ลดภาระงานอันหมายถึงลดต้นทุนตามไปด้วย แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐจะเสียประโยชน์ในแง่ที่ว่า ไม่มีพื้นที่ป่าปลูกเพิ่มขึ้นตามจำนวนเงินที่จ่ายไปจริง

อุปมาเหมือนกับกำเงินไปซื้อของ 100 บาท แต่ได้ของกลับมาเพียง 30 บาท

ยิ่งไปกว่านั้นนายชัยวัฒน์ในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้างยังใช้การขึ้นเฮลิคอปเตอร์เข้าไปตรวจรับงาน โดยระบุว่า พื้นที่ปลูกป่าบางแห่งที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างไม่สามารถเดินเท้าหรือใช้รถยนต์เข้าไปได้ ประเด็นนี้จึงย้อนแย้งกับความเป็นจริง ในแง่ที่ว่า หากไม่สามารถเดินเท้าหรือนำพาหนะเข้าไปยังบริเวณดังกล่าวได้ ผู้รับจ้างหรือรับงานจากนายชัยวัฒน์จะเข้าไปปลูกป่าในบริเวณนั้นได้อย่างไร

การย้อนแย้งในกรณีที่กล่าวมา จึงเป็นเสมือนใบเสร็จที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ไม่มีการปลูกป่าในบริเวณดังกล่าวจริง แต่นายชัยวัฒน์ก็ยังยืนกรานที่จะตรวจรับงาน จนทำให้ต้นสังกัดของตนเองคือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ก่อนจะได้ข้อยุติว่า

นายชัยวัฒน์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ทำให้ทางราชการเสียประโยชน์ คิดเป็นมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 15,485,000 บาท

และนายชัยวัฒน์ในฐานะที่เป็นทั้งกรรมการกำหนด TOR และกรรมการตรวจการจ้าง ต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนในส่วนการกระทำของตนเองเป็นเงิน 3,613,167 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับจากวันผิดนัดในสัญญา ซึ่งระบุว่า นายชัยวัฒน์ต้องชดใช้เงินภายใน 15 วันหลังได้รับแจ้ง
ทั้งนี้ข้อยุติจากผลการสอบสวนในกรณีดังกล่าว ลงวันที่ 15 มีนาคม 2566 ผู้ลงนามคือนายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ดังนั้นจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ช่วงเวลาอีก 7 เดือน ก่อนที่นายชัยวัฒน์จะเกษียณอายุราชการ เรื่องราวทั้งหมดที่มีนายชัยวัฒน์เป็นตัวละครสำคัญจะลงเอยในลักษณะใด และเขาจะทิ้งภาพจำไว้ในสังคมไทยในฐานะเทพหรือมาร ที่มีคดีความมากมาย ทั้งการพัวพันการหายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในแก่งกระจาน การถูกชี้มูลทุจริตจาก ปปช.

และล่าสุดก็คือ การทำให้รัฐเสียหายจากการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ใครก็ตามที่คิดหากินแสวงประโยชน์จากพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มักจะมีอันเป็นไปในท้ายที่สุด

และที่สำคัญก็คือ จะมีใครสะกิดเตือนให้นายชัยวัฒน์ได้ฉุกคิดหรือไม่ว่า

งาช้าง ย่อมไม่ได้งอกออกมาจากปากของสุนัข แต่มันจะต้องงดงามออกมาจากปากของพญาคชสารเสมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น