xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลสำรวจ ปปช.ระบบราชการไทย เอื้อเปิดช่องทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดผลสำรวจ ปปช.ระบบราชการไทย เอื้อเปิดช่องทุจริต

การแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น เป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามแก้ไขต่อเนื่องแต่ดูเหมือนว่าอาจยังไม่เข้าเป้าเท่าใดนัก เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เผยแพร่ผลสำรวจการรับรู้การทุจริตในประเทศไทย ประจำปี 2566 จากการสำรวจเจาะลึกในการประเมินการรับรู้พฤติกรรมการทุจริตในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการขอการลงทุนในประเทศไทย จากกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้เสีย 4 กลุ่มรวม 4458 คน ได้แก่ 1. ภาคเอกชน ประกอบด้วย นักลงทุนชาวไทย นักลงทุนชาวต่างชาติ 2.หน่วยงานภาครัฐ บุคลากรผู้ให้บริการในหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศไทย 3. ภาคประชาชน ประกอบด้วยเยาวชน อายุระหว่าง 15 – 24 ปี และประชาชนวัยทำงาน อายุ 25 ปี ขึ้นไป 4.ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย สื่อมวลชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรสาธารณประโยชน์ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)

ทั้งนี้ ผลการสำรวจ พบว่า การรับรู้การทุจริตด้านการลงทุนในประเทศไทยในภาพรวม ประจำปี พ.ศ.2566 อยู่ในระดับปานกลาง มีค่าคะแนนระดับการรับรู้ 3.17 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 โดยช่องทางที่ทำให้เกิดการรับรู้การทุจริตในระดับสูง คือ โซเชียลมีเดีย สำหรับกระบวนการขอรับการลงทุนที่เป็นความเสี่ยงมีโอกาสทำให้เกิดการทุจริต อันดับ 1 ได้แก่ความล่าช้าในการให้บริการ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเรียกรับเงินหรือสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อแลกกับการให้บริการที่รวดเร็วขึ้น อันดับ 2 การขออนุมัติ อนุญาต ใช้ระยะเวลานานเพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาหลายชั้นหลายหน่วยงาน อันดับ 3 การใช้ดุลยพินิจในการอนุมัติ อนุญาต เกินสมควรและไม่เป็นธรรม

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศไทย คือ 1. ระบบการขอการลงทุนที่มีเอกสารมาก ติดต่อหลายหน่วยงานใช้เวลานานตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐยังไม่เป็นระบบที่ดี รวมทั้งระบบการควบคุมตรวจสอบที่ทำได้ไม่ครอบคลุมทั้งระบบ 2.เจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้ให้บริการด้านการขอการลงทุนบางส่วน ขาดคุณธรรมจริยธรรมการปฏิบัติงาน 3.ผู้ขอรับบริการบางกลุ่มขาดจริยธรรมในการทำธุรกิจ 4.มีระบบอุปถัมภ์ ระบบอิทธิพลในหน่วยงาน

นอกจากนี้ ผลการสำรวจร้อยละ68.24 ยังเห็นว่าการทุจริตด้านการลงทุนในประเทศไทยอาจมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากยังมีช่องทางการใช้ดุลยพินิจ การมีอำนาจและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ขาดจิตสำนึกด้านความซื่อสัตย์ นักลงทุนไม่อยากเสียเวลาร้องเรียน ชี้เบาะแส เพราะไม่มั่นใจ ในระบบการคุ้มครอง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนประชาสังคมในการร่วมต่อต้านการทุจริตมีไม่มากพอ

สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอแนะแนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยรณรงค์ให้ภาคประชาชน ประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันปราบปรามการทุจริต การใช้มาตรการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) 3.ใช้ระบบ IT ในการกำกับควบคุมและตรวจสอบระบบการขอลงทุน ลดการใช้ดุลยพินิจ 4.เปิดเผยขั้นตอนการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ชัดเจน 5.ศึกษา ทบทวนปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต
กำลังโหลดความคิดเห็น