xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉากมหากาพย์ 11 ปี เชคสเปียร์(ไม่)ต้องตาย “กองเซ็นเซอร์” ตายแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปิดฉากมหากาพย์ 11 ปี เชคสเปียร์(ไม่)ต้องตาย “กองเซ็นเซอร์” ตายแทน

เป็นเวลากว่า 11 ปีเต็ม การต่อสู้ของ เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ภาพยนตร์ไทยอินดี้นอกกระแส ที่ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หรือที่คุ้นหูกันว่า “กองเซ็นเซอร์”ให้เรท "ห" หรือ ห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย

ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีโอกาสได้เข้าฉายตามกำหนดเดิม เม.ย.2555 มาจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นคดีฟ้องร้องที่ต่อสู้มาอย่างยาวนาน

โดยเป็นคดีที่ฝ่ายผู้สร้างภาพยนตร์ ฟ้องต่อ ศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ และให้ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ชดใช้ค่าเสียโอกาส และค่าเสียหายทั้งหมด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.พ.67 ศาลปกครองสูงสุด ได้พิพากษา​ให้ผู้สร้างหนัง ชนะคดีละเมิด ยกคำสั่งแบน​ รวมทั้งให้ กองเซ็นเซอร์​ ชดใช้ค่าเสียหาย

ศาลสั่งให้ กองเซนเซอร์ ชดใช้ค่าเสียหายส่วนละเมิดเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่านั้น จากค่าเสียหายไปเรียกร้องไปทั้งสิ้น 7,530,388.55 บาท ซึ่งเป็นเงินทุนที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีก็ตาม แต่ก็ถือเป็นการเปิดไฟเขียวให้หนังเรื่องนี้สามารถเข้าฉายได้

หลังรับฟังคำพิพากษา มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ได้โพสต์ประกาศชัยชนะทันที พร้อมระบุด้วยว่า จะแจ้งโปรแกรมเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง

ทั้งนี้ หนังเรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย เป็นหนังที่ได้รับการสนับสนุนทุนสร้างจำนวน 3 ล้านบาท จากกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง เมื่อปี 2553 (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

โดยเนื้อหาดัดแปลงจากบทละครโศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ ของวิลเลียม เชกสเปียร์ ให้เข้ากับบริบทสังคมไทย รวมถึงเสียดสีการเมืองไทย มีการอ้างอิงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และสถานการร์ชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2552-53 ด้วย

เป็นเหตุให้ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หรือกองเซนเซอร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดเรทห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย ช่วงปี 2555 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเหตุผลว่า มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ

กลายเป็นตลกร้ายที่หนังเรื่องนี้ได้ทุนจากภาครัฐ แต่ก็ถูกภาครัฐสั่งแบน และทั้ง 2 หน่วยงานก็อยู่ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม จนเป็น “หนังต้องห้าม” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ผลลัพธ์ของคดีจึงทำให้เกิดปรากฎการณ์ “ทัวร์ลง” คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ทันที ด้วยเดิมที “กองเซนเซอร์” ก็มักถูกตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่มาโดยตลอดอยู่แล้ว

เป็น กองเซนเซอร์ ที่แม้จะมีระเบียบหรือประกาศกำหนดกรอบการพิจารณาภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ต่างๆที่จะเผยแพร่ แต่ที่สุดก็เป็น “ดุลยพินิจ” ของกรรมการที่มีหลายคณะ แต่ละคณะจะมีประธานและกรรมการรวม 7 คนเท่านั้น หลายๆ ครั้งการเซนเซอร์ภาพยนตร์มักค้านสายตาสังคม จนถูกถล่มว่าเป็นตัวฉุดพัฒนาการวงการจอเงินไทย

เชื่อว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จะเป็นการเปิดประตูสิทธิและเสรีภาพ​ของผู้สร้างหนังไทยให้กว้างมากขึ้น สวนทางกับการทำหน้าที่ของ กองเซนเซอร์ ที่ย่อมมีคำถามตามมาว่า ระบบเซนเซอร์ยังจำเป็นอยู่อีกหรือไม่

โดยก่อนหน้านี้ก็มีแนวทางออกมาจาก คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่กำหนดการศึกษาและแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยมีประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎกระทรวงในส่วนของภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทยเหลือเพียงข้อกำหนดเดียว คือ เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะที่ประเด็นอื่น ๆ เรื่องศาสนา, ความมั่นคง รวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ จะถูกจัดอยู่ในเรทผู้ชมที่เหมาะสมแทนการห้ามฉาย คาดการณ์ว่า การแก้ไขจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางปี 2567 นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น