xs
xsm
sm
md
lg

3 ศาลยกฟ้องทัวร์ศูนย์เหรียญ ผลงานอัปยศ “บิ๊กโจ๊ก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



3 ศาลยกฟ้องทัวร์ศูนย์เหรียญ ผลงานอัปยศ “บิ๊กโจ๊ก” 
“บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ชอบตีปิ๊บป่าวประกาศการทำคดี จนเรียกได้ว่าเป็นเสมือน “ลายเซ็น” ของนายตำรวจคนดังผู้นี้ที่ถนัดในการทำคดีไปให้ข่าวไปในลักษณะชี้นำให้สังคมเชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปตามที่ตนเองลั่นวาจาออกมาทั้งสิ้น

แต่ในความเป็นจริงแล้วใช่ว่าบิ๊กโจ๊กจะเอาผิดผู้ต้องหาที่ถูกเหวี่ยงแหจับมาได้เสมอไป เพราะยังมีคดีอีกมากมายที่นายตำรวจผู้นี้รับผิดชอบและดำเนินการแบบอึกทึกครึกโครม เพื่อให้ตนเองได้หน้าคว้าคะแนนนิยมพร้อมเสียงสรรเสริญยกย่อง

แต่ในท้ายที่สุด ศาลกลับตัดสินว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่โดนบิ๊กโจ๊กเล่นงาน เป็นผู้บริสุทธิ์มิได้กระทำความผิดตามสำนวนคดีที่บิ๊กโจ๊กปั้นมากับมือ จึงพิพากษายกฟ้อง

1 ในคดีลักษณะดังกล่าวที่คำพิพากษาไม่ต่างอะไรกับการกระชากหน้ากากการทำงานของบิ๊กโจ๊กว่า มั่วซั่ว ถนัดในการยัดข้อหาทิพย์ก็คือ

คดีทัวร์ศูนย์เหรียญอันโด่งดังก่อนที่คดีจะถึงที่สุดในชั้นศาลฏีกาเมื่อปี 2565 นั่นเอง

สำหรับจุดเริ่มต้นของคดีนี้เกิดขึ้นในปี 2559 ขณะที่บิ๊กโจ๊กมียศ พล.ต.ต. ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่คุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันนั้น

ในฐานะตำรวจท่องเที่ยว บิ๊กโจ๊กจึงเปิดศึกกับบริษัททัวร์จีนที่อยู่ในเมืองไทยและนำคนจีนมาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต โดยตั้งข้อหาว่ามีการกระทำเป็นอั้งยี่ ฟอกเงิน เอาเปรียบผู้ประกอบการชาวไทย

โดยเป้าใหญ่ที่บิ๊กโจ๊กพุ่งเข้าถล่มก็คือบริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด ซึ่งทำทัวร์จีนเข้าไทยและบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งมีรถบัสถึง 2,500 คัน ทำหน้าที่ให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวพาไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซี่งบิ๊กโจ๊กระบุว่าเป็นร้านค้าและโรงแรมในเครือข่าย ทำให้เม็ดเงินวนอยู่ใสกลุ่มนอมินีของจีน หลบเลี่ยงภาษี เป็นการสร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวที่มีคนไทยเป็นผู้ประกอบการมูลค่านับพันล้านบาท

และแน่นอนว่าสไตล์การทำงานของบิ๊กโจ๊กต้องตีข่าวให้ดังและดุดันเข้าไว้ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมซึ่งมีถึง 13 คน จึงไม่ได้รับการประกันตัว ต้องเข้าไปตกระกำลำบากในคุกกันถ้วนหน้า

ทั้งนี้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของบิ๊กโจ๊กในครั้งนั้น ประกอบด้วยบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งทั้งหมดถูกบิ๊กโจ๊กระบุว่าเป็นเครือข่ายเดียวกัน

“แต่แล้วเมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ผลปรากฏว่า ศาลชั้นต้นยกฟ้องทุกข้อหา เมื่อโจกท์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องทุกข้อหาเช่นกัน แต่ลงโทษเฉพาะตาม พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวให้ปรับ จำเลยที่ 1 กับ 2 และ 13 คนละ 500,000 บาท ทั้งโจกท์และจำเลยจึงยื่นฎีกา”

ครั้นถึงวันที่ 3 มีนาคม 2565 ศาลฏีกานัดอ่านคำพิพากษาสรุปว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 13 ร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันอั้งยี่

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของพวกมีลักษณะ ร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยเป็นการตกลงกันเข้าลักษณะเป็นสมาชิกของคณะบุคคล ในการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมีความมุ่งหมายเพื่อหารายได้จากการที่นักท่องเที่ยวมาซื้อสินค้าแล้วนำรายได้มาแบ่งปันผลประโยชน์กัน

การกระทำดังกล่าวซึ่งโจทก์ระบุว่า เป็นการดำเนินธุรกิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมุ่งหมายให้ได้ผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยว เป็นการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ขัดต่อศีลธรรม อันดี และขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย ทั้งยังเป็นการ ผูกขาดระบบเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้ร้านค้ารายย่อยไม่มีโอกาสขายสินค้า ผู้ประกอบการรายอื่นที่มีเงินทุนน้อยกว่าไม่สามารถแข่งขันได้
ศาลฏีกาเห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นการคาดคะเนเอาเองของโจทก์ โดยใช้เพียงข้อมูลที่เกิดจากการรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้มาของเจ้าพนักงาน ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งไม่ใช่พยานโดยตรง

โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีเหตุผลสนับสนุน ตรงกันข้ามทางพิจารณากลับได้ความว่ากลุ่มจำเลยต่างประกอบธุรกิจนำเที่ยว และประกอบกิจการการขนส่งคนโดยสารเพื่อให้เช่ารถโดยสาร จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ และของที่ระลึก รวมทั้งธุรกิจร้านอาหาร หาใช่ผูกขาดมีเฉพาะกลุ่มจำเลยเท่านั้นไม่ จึงมีการแข่งขันกันสูงแต่ก็เป็นการแข่งขันอย่างเสรี

และทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าการเลือกและตัดสินใจซื้อสินค้าที่ร้านค้าในเครือของจำเลยที่ มีการบังคับข่มขู่หรือชักจูงใจ ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพและราคาสูงกว่าปกติมากในลักษณะที่เอาเปรียบเกินควร สินค้าแต่ละประเภทมีป้ายติดแสดงราคาไว้ กับมีใบรับประกันและสามารถนำมาคืนได้ในภายหลัง

ดังนั้นการกระทำ ของจำเลยจึงมิใช่การร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวหาประโยชน์ ที่ไม่เป็นธรรมจากนักท่องเที่ยวมิใช่การร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวจัดบริการนำเที่ยว ให้แก่นักท่องเที่ยวโดยไม่ได้รับค่าบริการหรือรับค่าบริการในอัตราที่เห็นได้ว่าไม่เพียงพอ กับค่าใช้จ่าย และมิใช่การร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยว หรือนักท่องเที่ยว

สำหรับความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 13 ร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ กรณีจึงไม่มีความผิดมูลฐานอันจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1, 2 และ 13 ฟังขึ้น
ศาลฏีกาจึงพิพากษายกฟ้อง

ปิดฉากคดีทัวร์ศูนย์เหรียญโดยสมบูรณ์

ทั้งหมดนี้จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่านายตำรวจผู้โด่งดังเจ้าของฉายา “แมว 9 ชีวิต” อย่างบิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล หาใช่เทพพิทักษ์แห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แต่ฉายาที่ควรได้คือ จอมปาหี่ ซึ่งกำลังถูกกฎแห่งกรรม ตามเอาคืนให้ชดใช้ ในวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น