xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : นโยบาย ‘ยาบ้า 5 เม็ด’ หลักการดี แต่มีช่องโหว่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ตอน นโยบาย ‘ยาบ้า 5 เม็ด’ หลักการดี แต่มีช่องโหว่



สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดถือว่ามีความเป็นห่วงต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาก็จะพยายามทุ่มเทใส่งบประมาณลงไปจำนวนมหาศาล แต่ก็ไม่ได้มีผลทำให้ปัญหาลดลงอย่างมีนัยสำคัญเท่าใดนัก ซึ่งรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ก็เผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน จึงเป็นที่มาของการใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการกับปัญหา

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขสัดส่วนการถือครองยาเสพติดที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อการเสพ เช่น แอมเฟตามีน (amphetamine หรือ amfetamine) หรือ ยาบ้า มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัมเฮโรอีน (heroin หรือ diacetylmorphine) มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 300 มิลลิกรัม เมทแอมเฟตามีน (methamphetamine หรือ metamfetamine) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม เป็นต้น

เดิมทีการแก้ไขกฎกระทรวงในเรื่องนี้มีความพยายามมาตั้งแต่เมื่อครั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการเสนอให้ผู้ถือครองยาบ้า 1 เม็ด เป็นผู้เสพ หากมากกว่านั้นจะถือว่าเป็นผู้ค้า แต่ปรากฎว่ามีเสียงท้วงติงพอสมควร ประกอบกับเป็นช่วงปลายอายุของรัฐบาล และเมื่อพรรคภูมิใจไทยได้กลับเข้ามาร่วมรัฐบาล แต่ไม่ได้โควต้ากระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้แนวคิดดังกล่าวถูกพับเก็บไป ก่อนที่ในยุคนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะได้มีการแก้ไขกฎกระทรวงตามที่ประกาศใช้ออกมา

ตามแนวคิดของรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวนั้น เป็นความต้องการที่จะแยกระหว่างผู้เสพและผู้ค้าให้เกิดความชัดเจน เปลี่ยนผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย เพื่อเป็นการสร้างแรงรูงใจในเชิงจิตวิทยาว่าผู้เสพไมได้เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย เป็นเพียงผู้หลงผิด และยังมีโอกาสกลับเข้ามาเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมได้ เพียงแต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการต้องเข้ารับการบำบัดทางการแพทย์และทางสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปเสพยาซ้ำอีก

อย่างไรก็ตาม มีเสียงท้วงติงพอสมควรโดยเฉพาะกรณีการถือครองยาบ้า 5 เม็ด เนื่องจากอาจเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายที่อาจแสวงหาประโยชน์ได้ทั้งฝั่งผู้ถือครองยาเสพติดและเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย

กล่าวคือ จำนวน 5 เม็ดที่กฎหมายถือว่าเป็นผู้ป่วยนั้นอาจสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้คนที่คิดว่าเป็นผู้ป่วยกลายเป็นผู้ค้าได้ เพราะมองว่าผู้เสพที่ไม่มีภาวะเสพติดรุนแรง อาจนำยาบ้าส่วนเกินที่ถือครองอยู่ไปแบ่งจำหน่ายให้กับผู้เสพคนอื่น และเมื่อตัวเองมียาบ้าครอบครองไม่ถึง 5 เม็ด กฎหมายก็ไม่อาจเอาผิดได้ แม้ว่าหมอชลน่านจะย้ำว่าหากมีพฤติการณ์เป็นผู้จำหน่ายก็ยังต้องรับฐานผู้ค้าอยู่ดี โดยไม่สนว่าจะมียาบ้าจำนวนกี่เม็ด แต่ถามว่าในทางปฏิบัติจะสามารถตามไล่ล่าขนาดนั้นได้หรือไม่

ในทางกลับกัน การเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีดุลพินิจในเรื่องการทำผิดของผู้จำหน่ายบ้าต่ำกว่า 5 เม็ด อาจเป็นจุดเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการใช้ดุลพินิจและแสวงประโยชน์ในทางมิชอบเช่นกัน จริงอยู่ที่การใช้กฎหมายควรเปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจ เพื่อให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ แต่หลักการนี้อาจไม่เหมาะกับการใช้กฎหมายของประเทศไทยเท่าใดนัก บางที่กำหนดกติกาที่ชัดเจนและลดการใช้ดุลพินิจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดูจะเป็นการเหมาะสมมากกว่า

ดังนั้น กฎกระทรวงนี้อาจเป็นเหรียญสองด้านที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะบางทีนโยบายที่รัฐบาลคิดว่าดีอาจจะไม่ดีต่อความเป็นจริง และอาจสงผลกระทบตามมาอย่างคาดไม่ถึง

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
กำลังโหลดความคิดเห็น