xs
xsm
sm
md
lg

จำคุกอ่วม! คนละ 15 ปี 5 ตำรวจ ตม.กับพวกรีดเงินนักธุรกิจจีน 10 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศาลอาญาคดีทุจริตสั่งจำคุก 5 ตำรวจ ตรวจคนเข้าเมืองคนละ 15 ปี ปมรีดเงิน 10 ล้าน นักธุรกิจชาวจีน ส่วนคนชี้เป้าโดนคุก 10 ปี

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (12 ก.พ.) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลอ่านคําพิพากษาคดีรีดเงินชาวจีน คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 94/2566 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท 24/2567 ที่อัยการสํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบรามการทุจริต 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ด.ต.พีระศักดิ์ ยิ้มไพบูลย์ ผบ.หมู่ สืบสวน บก.ตม.1กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลยต่อศาล กรณีพวกจำเลยร่วมกันรีดเงินจำนวน 10 ล้านบาทจากชาวจีนโดยืจริต

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า จําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจ สังกัดกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1(บก.ตม.1 ) ควบคุมตัวผู้เสียหายชาวจีนทั้งสองขึ้นรถยนต์เป็นพาหนะ ไปที่ทำการกองบังคับ การตรวจคนเข้าเมือง 1 บริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ แล้วไม่นำตัวผู้เสียหายเข้าสำนักงานฯ แต่กลับขับรถพา ผู้เสียหายทั้งสองวนไปสถานที่ต่าง ๆ และเจรจาต่อรองเรียกเงินจากผู้เสียหายที่ 1 เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี แก่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวมีบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยโดยมิชอบ จําเลยที่ 5 ไม่ได้เป็น เจ้าพนักงานแต่เป็นผู้ร่วมวางแผนและนัดหมายผู้เสียหายให้ไปพบ เพื่อให้จําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จับกุมและ เรียกรับเงิน ขอให้ลงโทษจําเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 26, 149, 253, 30, 310
 
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักให้ฟังได้มั่นคงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งได้รับข้อมูลจากจำเลยที่ 6 แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 1 บุคคลสัญชาติจีน บัตรประจําตัวประชาชนที่ออกให้โดยมิชอบ ออกปฏิบัติหน้าที่ติดตามไปพบผู้เสียหายที่ 1 ลักษณะเป็นบุคคล ต่างด้าวมีพฤติการณ์อันควรสงสัย มีผู้เสียหายที่ 2 เป็นล่ามให้ จึงเชิญตัวบุคคลทั้งสองขึ้นรถยนต์ แล้วเจรจา เรียกเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จนกระทั่งตกลงกันได้เป็นเงิน 10 ล้านบาท โดยบุตรชายผู้เสียหายที่ โอนเงินดิจิทัลเข้าหมายเลขบัญชีที่จําเลยที่ 2 แจ้งให้โอนเข้า แล้วจําเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงปล่อยตัวบุคคลทั้งสองไป อันเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดย มิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตำาแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมีชอบด้วยหน้าที่ และเป็น เจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยมีจําเลยที่ 5 ร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวในลักษณะแบ่ง หน้าที่กันเป็นตัวการสมคบร่วมกระทำความผิดกับจําเลยที่ 1ถึงที่ 5 แต่เมื่อจําเลยที่ 5 มิได้เป็น เจ้าพนักงาน ขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และสนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยการกระทำของจำเลยทั้งหกดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็น ความผิดต่อกฎหมายหลายบท และเมื่อการกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 แล้ว ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในการเชิญผู้เสียหาย ทั้งสองไปเพื่อตรวจสอบสืบเนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 เป็นบุคคลต่างด้าวมีลักษณะอันควรสงสัยว่ากระทำผิด กฎหมาย โดยมีผู้เสียหายที่ 2 ร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อเป็นล่าม ไม่ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อันมีลักษณะเป็นการใช้กำลังบังคับ ข่มขืนใจ หรือทำให้บุคคลทั้งสองกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวหรือของผู้อื่น นอกจากนี้เมื่อตามพฤติการณ์ช่วงเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 ก็ไม่ต้องการให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ดำเนินคดีแก่ตน จึงได้เจรจาต่อรองจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โดยผู้เสียหายที่ 2ก็ช่วยผู้เสียหายที่ 1 เจรจาต่อรองและขอแบ่งเงินจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการ ใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอม ต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ นั้นเองหรือของผู้อื่น การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นความผิดดังกล่าว
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คนละ 15 ปี และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 6 เป็นเวลา 10 ปี

ทั้งนี้ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจำนวน 6 นัด รวมระยะเวลานับตั้งแต่วันฟ้อง วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ถึงวันอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 7 เดือน 30 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมูลเหตุคดีนี้ สืบเนื่องจากเหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม. ก่อเหตุร่วมกันอุ้ม น.ส.นามี แซ่ลี อายุ 38 ปี หญิงชาวไทยที่เป็นล่ามภาษาจีน พร้อมนายฉี เพื่อนชายชาวจีนอีก 1 คน จากบ้านพักย่านซอยประชาสงเคราะห์ 2 แขวงดินแดง เขตดินแดง ก่อนรีดทรัพย์เป็นเงินคริปโตเคอร์เรนซี ไป ที่ผ่านมา ต่อมา น.ส.นามีได้เข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ก่อนตำรวจขอศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกหมายจับตำรวจรวม 5 นาย และติดตามจับกุมได้ตามลำดับ ได้แก่ พ.ต.ต.สรวิศ อินทร์ลับ สว.กก.สืบสวน บก.ตม.1, ร.ต.ท.สุริยะ รุกขชาติ รอง สว.สืบสวน บก.ตม.1, ด.ต.พีระศักดิ์ ยิ้มไพบูลย์ ผบ.หมู่ สืบสวน บก.ตม.1, ร.ต.ท.ประวิต พลจังหรีด รองสว.กก.สืบสวน บก.ตม.1 และ พ.ต.ต.จิรภัทร บุญนำ สว.กก.สืบสวน บก.ตม.1 ทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัวร่วมกันจับกุม และนายสุรชัย พัฒนาชัยเจริญ อายุ 58 ปี ในฐานะคนชี้เป้า ให้ตำรวจ ตม.อุ้มเหยื่อชาวจีน ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ จ.59/2566 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2666
กำลังโหลดความคิดเห็น