xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกล จ่อปากเหว เล่นเอง-เจ็บเอง วิบากกรรมที่ต้องยอมรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ก้าวไกล จ่อปากเหว เล่นเอง-เจ็บเอง วิบากกรรมที่ต้องยอมรับ


แม้ที่ผ่านมาแกนนำพรรคก้าวไกล จะประกาศต่อสาธารณะในเชิงหยักไหล่ว่าไม่ได้สนใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ออกมาอย่างไร แต่เอาเข้าจริงเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยออกมาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครอง ปรากฎว่าภาษากายของพรรคก้าวไกลที่แสดงออกมานั้นพอทำให้เห็นได้ว่าไม่ได้มีความโอหังเหมือนก่อนที่ศาลจะชี้ขาดเท่าใดนัก

ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม ไม่ต่างอะไรกับสารตั้งต้นที่จะนำพาอะไรพุ่งเข้าพรรคก้าวไกลในอนาคตอีกสารพัด อย่างน้อย ๆ ก็สองเรื่อง ได้แก่ 1.การยุบพรรค ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้เฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เท่านั้นที่มีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ 2.การไต่สวนเกี่ยวกับจริยธรรม เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในการทำคดีไต่สวนและส่งฟ้องต่อศาลฎีกา เรียกได้ว่าในอนาคตข้างหน้าที่ไม่รู้ว่าจะมาเร็วหรือมาช้า พรรคก้าวไกลมีเรื่องต้องขึ้นศาลถึงสองศาล

มรสุมที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล หากแกนนำพรคก้าวไกลจะบอกว่าเป็นนิติสงคราม เพื่อต้องการเล่นงานกับพรรคโดยตรง แต่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลเองก็มีส่วนหนึ่งในการก่อสงครามนี้เช่นกัน

มองเฉพาะในประเด็นการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แน่นอนว่าเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐธรรมนูญเองก็รองรับให้ส.ส.เป็นผู้มีสิทธิในการเสนอกฎหมายได้ แต่การทำงานการเมือง จะยึดแต่เพียงตำราหรือทฤษฎีเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนบริบทแวดล้อม เป็นเรื่องยากที่จะเดินหน้ากันไปได้

ครั้งนั้นพรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยที่มี 'ชวน หลีกภัย' เป็นประธานสภาฯ แต่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวารการประชุมสภาฯ เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา6 ที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์

เรื่องควรจะจบลงตรงนั้น แต่พรรคก้าวไกล กลับนำเรื่องมาเป็นนโยบายหาเสียงอีก จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำไปดีเบตในหลายเวทีระหว่างการหาเสียง มิหนำซ้ำยังมีการอภิปรายแบบเฉียดไปเฉียดมาหลายครั้ง ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน จนกลายเป็นประเด็นที่นำมาสู่การฟ้องศาลรัฐธรรมนูญและมีคำวินิจฉัยออกมา

การเสนอกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอะไรก็ตาม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจกันของฝ่ายนิติบัญญัติทั้งจากส.ส.รัฐบาลและส.ส.ฝ่ายค้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทื่ต้องขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้จึงได้เห็นหลายครั้งที่พรรคฝ่ายค้านหรือรัฐบาลเสนอร่างกฎหมาย ต่างฝ่ายก็จะเสนอร่างกฎหมายเข้ามาประกบ เพื่อให้สภาฯพิจารณาร่างกฎหมายของทั้งสองฝ่ายไปพร้อมกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความขัดแย้งทางการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่มีฝ่ายได้หรือเสียทั้งหมด ซึ่งในสภาชุดที่แล้วกฎหมายของฝ่ายค้านก็ได้รับการพิจารณาจำนวนมาก

แต่กรณีของมาตรา 112 พรรคก้าวไกล เลือกวิธีการหักด้ามพร้าด้วยเข่า เสนอร่างกฎหมายเข้าสภาทันทีพร้อมอ้างเหตุผลอีกสารพัดก่อนตบท้ายด้วยการอ้างว่าเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งๆที่ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่งกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเสียอีก

ดังนั้น หากถึงที่สุดแล้วพรรคก้าวไกลจะต้องมีชะตากรรมเหมือนพรรคอนาคตใหม่ นอกจากจะโทษว่าเป็นนิติสงครามแล้ว พรรคก้าวไกลก็อย่าลืมโทษตัวเองด้วยที่ทำให้พรรคต้องมาถึงปากเหวอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น