xs
xsm
sm
md
lg

ยกสอง ‘พรรคก้าวไกล’ ศาล รธน.ชี้ปมแก้ ม.112 ไปไม่ถึงยุบพรรค?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ยกสอง ‘พรรคก้าวไกล’ ศาล รธน.ชี้ปมแก้ ม.112 ไปไม่ถึงยุบพรรค?

การเมืองเวลานี้คงไม่มีเรื่องไหนน่าสนใจเท่ากับอนาคตของพรรคก้าวไกลในวันที่ 31 มกราคม เพราะศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

หากจะเรียกว่าเป็นยกสองของพรรคก้าวไกลในสังเวียนศาลรัฐธรรมนูญก็คงใช่ หลังจากก่อนหน้านี้นายพิธา เพิ่งได้กลับเข้าสภาอีกครั้ง จากคดีการถือหุ้นในบริษัทไอทีวี เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมองว่าไอทีวีไม่ได้มีฐานะเป็นสื่อ อันเป็นกิจการที่รัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ส.ส.ถือครองหุ้นดังกล่าว

สำหรับคดีแก้ไขมาตรา 112 นั้น ในทางคดีถือว่ามีความแตกต่างจากคดีถือหุ้นไอทีวีพอสมควร เพราะคดีแก้ไขมาตรา 112 อาจกระทบไปถึงสถานะของพรรคก้าวไกลด้วย หากผลของคดีออกมาในทางเป็นลบต่อพรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่าปลายทางของคดีนี้จะสามารถนำไปสู่การยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลหรือไม่ เนื่องจากคำร้องที่ผู้ร้องได้ร้องนั้นเป็นการอาศัยมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ เป็นข้ออ้างอิง ซึ่งถ้าดูผลของมาตรา 49 แล้ว จะพบว่ากำหนดผลในทางกฎหมาย เฉพาะสั่งให้เลิกการกระทำเท่านั้น

มาตรา 49 บัญญัติว่า "บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้"

แต่กระนั้นมีประเด็นในทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาเช่นกัน กล่าวคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 ได้ระบุผลของการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ว่า

มีผลถึงขั้นยุบพรรคและและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง เพียงแต่เงื่อนไขของการจะวินิจฉัยตาม 92 นั้น กฎหมายกำหนดให้เฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เท่านั้นที่สามารถยื่นคำร้องในทำนองดังกล่าวได้

โดยก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีตามมาตรา 49 มาแล้ว ซึ่งมีสองคดีสำคัญที่ศาลได้วินิจฉัยวางบรรทัดฐานเอาไว้ ประกอบด้วย 1.กรณีของพรรคอนาคตใหม่ เวลานั้นมีกล่าวหาพรรคนี้มีพฤติการณ์หลายประการที่มีลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครอง เช่น การเขียนข้อบังคับพรรคที่ไม่ได้ระบุถ้อยคำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งกรณีตราสัญลักษณ์ของพรรคที่คล้ายคลึงกับองค์กรลี้ลับ ‘อิลลูมินาติ’ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่มีลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครอง

แต่กำหนดเงื่อนไขให้พรรคอนาคตใหม่แก้ไขข้อบังคับให้เกิดความชัดเจน

และ 2.กรณีการชุมนุมของนักศึกษาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ประกาศข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครอง และสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว

ทั้งนี้ ถ้ามองจากทั้งสองคดีดังกล่าว จึงไม่แปลกที่จะเห็นได้ท่าทีของแกนนำพรรคก้าวไกลในเวลานี้ ไม่ค่อยหวั่นไหวกับคดีมากนัก เมื่อเทียบกับคดีส่วนตัวของนายพิธาก่อนหน้านี้ เนื่องจากมั่นใจว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติของส.ส.

ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่อาจเข้ามาก้าวก่ายได้ หรือ ถ้าถึงที่สุดแล้วศาลจะสั่งคุ้มครองไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 อย่างมากที่สุดศาลก็น่าจะสั่งให้พรรคก้าวไกลห้ามเข้าไปยุ่งกับมาตรานี้อีกเท่านั้น

ภาษากายของพรรคก้าวไกลได้สื่อออกมาอย่างมั่นใจ แต่ไม่มีใครรู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะคิดอย่างไร จนกว่าจะถึงวันที่ 31 มกราคม
กำลังโหลดความคิดเห็น