xs
xsm
sm
md
lg

ขายบ้านอองซาน ซูจี “ศึกสายเลือด” ในเกมการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ขายบ้านอองซาน ซูจี “ศึกสายเลือด” ในเกมการเมือง 
หากทำเนียบขาวคือสัญลักษณ์ของประธานาธิบดีสหรัฐ ในทุกยุคทุกสมัย บ้านหรูระดับคฤหาสน์ริมทะเลสาบอินยาของประเทศเมียนมาร์ ก็คือ สัญลักษณ์ของผู้นำการเมืองที่ชื่ออองซาน ซูจีน จนบ้านหลังดังกล่าวได้รับฉายาว่า

ทำเนียบขาวแห่งเนปิดอร์

แต่ในวันนี้ ทำเนียบขาวแห่งเนปิดอร์กำลังจะกลายเป็นตำนาน เมื่อสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 25 มกราคมว่า ศาลเมียนมาร์ได้เปิดให้มีการประมูลบ้านที่เคยเป็นที่พักของนางอองซาน ซูจีน ผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยของเมียนมาร์ ที่นครย่างกุ้ง ซึ่งเคยเป็นบ้านที่ซูจีนถูกกักบริเวณบ้านอยู่นานถึง 15 ปี

โดยข่าวเปิดเผยว่า ราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่ 315,000 ล้านจ๊าต หรือราว 3,200 ล้านบาท

ความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือ นางอองซาน ซูจี คือนักการเมืองหญิงที่ได้รับความนิยมเชื่อถือจากประชาชนอย่างท่วมท้น จะเห็นได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งกองทัพและผู้นำทหารของเมียนมาร์ จะพยายามแสดงให้โลกเห็นว่า ประเทศของตนปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งนางซูจีชนะเลือกตั้งทั้งในปี 2558 และในปี 2563 กับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ของเมียนมาร์ และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของนางซูจีได้รับชัยชนะ ครองเสียงข้างมากในสภาถึง 920 เสียง จากจำนวน ส.ส ทั้งสิ้น 1,117 เสียง

แน่นอนว่า บทบาทของนางซูจีไม่เป็นที่พอใจของกองทัพเมียนมาร์ ซึ่งเป็นผู้ ปกครองประเทศตัวจริง นางซูจีจึงถูกจับผิดและฟ้องร้องในข้อหาต่าง ๆ ถึง 19 ข้อหา และถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักหลังดังกล่าว ขณะต่อสู้คดีเป็นเวลา 18 เดือน ก่อนคดีสุดท้ายของนางซูจีจะถูกตัดสินโดยศาลทหารเมื่อเดือนธันวาคม 2565

ทำให้นางซูจีต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งสิ้น 33 ปี ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า เรือนจำจะเป็น สถานที่สุดท้ายของนาง หาใช่บ้านพักริมทะเลสาบ ซึ่งนางซูจีเคยใช้เป็นที่ต้อนรับประธานาธิบดีบารัคโอบามา ผู้นำสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งเดินทางมาเยือนเมียนมาร์ ในปี 2562

สำหรับบ้านเลขที่ 54 ริมทะเลสาบหลังดังกล่าว เป็นบ้านที่รัฐบาลทหารเมียนมาร์ มอบให้เป็นที่พักของนางดอคินจี มารดาของนางอองซาน ซูจี หลังจากที่นายพลผู้ ซูจี เป็นบิดาถูกลอบสังหาร

แต่หลังจากผู้เป็นมารดาเสียชีวิต นายอองซาน อู พี่ชายของนางซูจีก็ยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อทวงกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดิน แต่คดีก็ยืดเยื้อมาหลายปี โดยศาลไม่มีคำพิพากษาออกมาแต่อย่างใด

จนกระทั่งถึงปี 2563 ศาลชั้นต้น จึงมีคำตัดสินว่า นางอองซาน ซูจี เป็นเจ้าของบ้าน และได้ครอบครองที่ดินครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งพร้อมบ้านอีกหลังหนึ่งในบริเวณเดียวกัน เป็นของ อองซาน อู ผู้เป็นพี่ชาย แต่เรื่องก็ยังไม่จบลง เพราะอองซาน อู ยื่นฟ้องอีกครั้ง เพื่อขอให้นำบ้านและที่ดินหลังดังกล่าว ออกมาประมูลขายทอดตลาด

คราวนี้ชัยชนะเป็นของอองซาน อู เมื่อศาลสูงสุดภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลทหาร มีคำตัดสินเมื่อ 25 มกราคม ให้นำบ้านหลังดังกล่าวออกมาประมูล ทั้งที่ทนายความของนางซูจี เคยแถลงต่อศาลว่า นางซูจีต้องการจะใช้บ้านหลังดังกล่าว เป็นที่ตั้งของมูลนิธิดอคินจี ซึ่งตั้งชื่อตามมารดาผู้ล่วงลับไปแล้ว

กรณีบ้านริมทะเลสาบที่มีฉายาว่า ทำเนียบขาวแห่งเนปิดอร์จึงไม่ต่างอะไรกับบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่พี่น้องสายเลือดเดียวกัน ก็สามารถเป็นศัตรูกันได้ หากความโลภเข้าครอบงำ

และการปิดตำนานหญิงเหล็กที่ชื่ออองซาน ซูจี ด้วยการขายบ้านพัก อันเป็นสัญลักษณ์และการจำคุก 33 ปี คือสิ่งที่ยืนยันว่า กองทัพพม่าต้องการจะกลบฝังอริทางการเมืองผู้นี้ไปตลอดกาล
กำลังโหลดความคิดเห็น