วัดใจ”อัยการสูงสุด” อุทธรณ์คดี ปูยิ่งลักษณ์ หรือจะเปิดทางกลับไทย
ความเคลื่อนไหวของ ถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ที่ทำหนังสือด่วนพร้อมกับเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการเมื่อ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา
เพื่อเรียกร้องให้ นาย“อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด” ใช้อำนาจอัยการสูงสุด ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ในคดีที่ ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา ยกฟ้อง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี”
ในคดีที่ ถูกอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง กรณีย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ฯ สมัยยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ
โดยคดีดังกล่าว อัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้องขอให้ ศาลฎีกาฯ ลงโทษ ยิ่งลักษณ์ ว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฯ
แต่ต่อมาช่วงปลายปีที่แล้ว 26 ธ.ค. 2566 ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง”ยิ่งลักษณ์”
ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเจตนาสั่งย้ายไม่เป็นธรรม ไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
ส่งผลให้ ยิ่งลักษณ์ พลิกชนะคดี แบบหลายคนคาดไม่ถึง
จนทำให้กระแสข่าว ยิ่งลักษณ์ อาจเดินทางกลับไทยในปีนี้ ตามรอย พี่ชาย ทักษิณ ชินวัตร แล้วขอพระราชทานอภัยโทษ ในคดีจำนำข้าว กระหึ่มตามมาทันที
เพียงแต่ ยิ่งลักษณ์ กำลังงรอให้ศาลฎีกาฯตัดสิน คดีจัดโรดโชว์ สร้างอนาคตไทย 240 ล้าน ที่ยิ่งลักษณ์ ถูกป.ป.ช.ยื่นฟ้อง มีคำตัดสินออกมาเสียก่อน ที่คาดว่าอาจจะเป็นปีนี้
หาก ศาลยกฟ้องอีก ก็ทำให้ ยิ่งมีความเป็นไปได้มาก ที่ยิ่งลักษณ์จะกลับไทย
โดยคดี ศาลฎีกาฯยกฟ้องยิ่งลักษณ์ กรณีย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จะครบกำหนดเดทไลน์ ในปลายสัปดาห์นี้แล้ว เพราะศาลฎีกาฯ ตัดสินยกฟ้องยิ่งลักษณ์วันที่ 26 ธ.ค. 2566
เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 195 บัญญัติไว้ว่า
"คําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษา”
งานนี้ก็วัดใจกันแล้วว่า อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน “อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์”จะยื่นอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดเส้นตาย หรือไม่?
โดยหาก อัยการสูงสุดไม่ยื่นอุทธรณ์ ก็จะทำให้ ยิ่งลักษณ์ เป็นคนที่สามแล้วในตระกูล”ชินวัตร”ที่อัยการสูงสุด ไม่อุทธรณ์คดี
คนแรกก็คือ “คุณหญิงพจมาน ชินวัตร”ที่ในช่วงปี 2554 นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดเวลานั้น มีคำสั่งไม่ยื่นฎีกา คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ตกเป็นจำเลยในคดีเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นบริษัทชินวัตรฯ ให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก คุณหญิงพจมาน สามปี แต่ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง และเมื่อ นายจุลสิงห์ ไม่ยื่นฎีกาฯ เลยทำให้ คดีสิ้นสุดลง ไม่ไปถึงศาลฎีกาฯ
ส่วนคนที่สอง ก็คือ พานทองแท้ ชินวัตร ในคดีร่วมกันกันฟอกเงินทุจริตเงินปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวน 10 ล้านบาท
ที่ พานทองแท้ ตกเป็นจำเลย ในชั้นศาลอาญาคดีทุจริตฯ แต่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2562
ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานะผู้สอบสวนคดีดังกล่าว มีความเห็นให้อุทธรณ์คดีเพื่อให้คดีไปถึงศาลสูง ทำให้ต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดชี้ขาด
ซึ่งสุดท้าย อดีตบิ๊กอัยการคนดังในเวลานั้นคือ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ลงนาม สั่งไม่อุทธรณ์ คดีฟอกเงินดังกล่าว ทำให้ คดีของพานทองแท้ จบลงทันที
ทั้งที่คดีพานทองแท้ ดังกล่าว ศาลชั้นต้น องค์คณะผู้พิพากษา 2 คน มีความเห็นต่างกันในการตัดสิน โดย 1 ในองค์คณะ มีความเห็นแย้งว่า พฤติการณ์ที่มีเช็คเงิน ลงชื่อ นายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร โอนเข้าบัญชีนายพานทองแท้ เป็นความผิด เห็นควรให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ซึ่งมีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้ง ท้ายคำพิพากษาด้วย ซึ่งหากมีการยื่นอุทธรณ์ ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบด้วย
สำหรับคดี ปู ยิ่งลักษณ์ หากอัยการสูงสุดไม่ยื่นอุทธรณ์คดี ก็จะทำให้ ยิ่งลักษณ์ กลายเป็นคนในตระกูล ชินวัตร คนที่ 3 ที่คดี ไปไม่ถึงศาลชั้นสุดท้าย