xs
xsm
sm
md
lg

1 ปีกว่าโศกนาฏกรรม รล.สุโขทัย ผลสอบอึมครึม ไร้ชายชาติทหารแอ่นอกรับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รล.สุโขทัยอับปางลงกลางทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปลายปี 2565 สร้างความสูญเสียเป็นเม็ดเงินกว่า 5 พันล้านบาท และชีวิตลูกเรืออีก 29 นาย แต่จนถึงวันนี้ 1 ปีเศษผ่านไป ผลการสอบสวนหาสาเหตุยังอึมครึม ไม่มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือคนไหนออกมาแสดงความรับผิดชอบ ขณะที่การกู้ซากเรือ ก็ส่อไม่โปร่งใส จนต้องยกเลิกการประมูล ทั้งที่ ผบ.ทร.บอกว่าจะเริ่มในเดือน มี.ค.นี้



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงเหตุการณ์ เรือรบหลวง(รล.)สุโขทัย อับปางลงสู่ก้นทะเลในอ่าวไทย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ที่ทำให้กำลังพลเสียชีวิต 24 นาย สูญหาย 5 นาย รอดชีวิต 76 นายมีความเสียหายคิดเป็นเงินเพียงอย่างเดียว 5,000 ล้านบาท

ทว่า จนถึงปัจจุบัน 1 ปี และ 1 เดือน กลับไม่มีผู้บังคับบัญชาของกองทัพเรือ ชายชาติทหารคนใด ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายมหาศาลดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูลำดับเหตุการณ์ก่อนการอับปางของ รล.สุโขทัย ก็อาจจะพอพิจารณาได้ว่า ใครเป็นผู้ที่ควรต้องรับผิดชอบต่อเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้

ย้อนไปราว 3 เดือนก่อนเกิดเหตุ วันที่ 22 กันยายน 2565​ กองเรือยุทธการ ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) ​​​พิจารณาจัดให้ รล.สุโขทัย ไปปฏิบัติราชการที่ทัพเรือภาค 1 ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2565

วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ​ พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม เข้ารับตำแหน่ง ผบ.กร.ขณะที่ รล.สุโขทัย เริ่มขึ้นกับการบังคับบัญชากับทัพเรือภาค 1 เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2565 พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล (ผบ.​​​ทัพเรือภาค 1) มีอำนาจสั่งการการปฏิบัติของ รล.สุโขทัยตามสายการบังคับบัญชา

พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล ผบ.ทัพเรือภาค 1
วันที่ 15 ธันวาคม 2565 ​ พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล (ผบ.ทัพเรือภาค 1) สั่งการให้ รล.สุโขทัย เดินทางไปสนับสนุน​​ภารกิจการจัดงานเทิดพระเกียรติ 100 ปี “เสด็จเตี่ย” ณ หาดทรายรี จ.ชุมพร กำหนด​​ออกเรือในคืนวันที่ 15 ธันวาคม 2565

วันที่ 18 ธันวาคม 2565 ​​พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล (ผบ.ทัพเรือภาค 1) สั่งการให้ รล.สุโขทัย ยกเลิกภารกิจทิ้งสมอ​​หน้าหาดทรายรี เพื่อประดับไฟ เนื่องจากคลื่นลมแรง และให้เดินทางไปยังท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.

น.ท.พิชัย เถื่อนนาดี (ผบ.รล.สุโขทัย) ส่งโทรเลขไปยังทัพเรือภาค 1 ขออนุญาตเข้าจอดที่บางสะพานเมื่อเวลา 17.00 น. เนื่องจากน้ำเข้าเรือ(ไม่ระบุชัดเจนถึงสภาพเรือ)และ ผบ.ทัพเรือภาคที่ 1 ซึ่งขณะนั้นอยู่ในพื้นที่หาดทรายรี สั่งการให้นายทหารเวรอำนวยการของทัพเรือภาคที่ 1 ประสานงานการให้ความช่วยเหลือเมื่อเวลา 17.24 น.

น.ท.พิชัย เถื่อนนาดี
หากพิจารณาจากรายงานดังกล่าวคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ หากทัพเรือภาค 1 สั่งปรับแผนตั้งแต่เวลา 09.00น. แล้ว เหตุใด รล.สุโขทัยจึงต้องขออนุญาตเข้าจอดที่บางสะพาน เมื่อเวลา 17.00 น. อีกครั้ง?

พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม (ผบ.กร.) ได้รับแจ้งเหตุน้ำเข้าเรือสุโขทัยจากบุคคลภายนอกเมื่อประมาณ เวลา 13.00 น.ก่อนที่ทัพเรือภาคที่ 1 จะแจ้งเหตุอย่างเป็นทางการ (ไม่ทราบเวลาแน่ชัด) ไปยัง พล.ร.อ.อะดุงฯ ในฐานะ ผบ.กร. ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ รล.สุโขทัย

จึงน่าสงสัยว่า ทัพเรือภาคที่ 1 อาจประเมินข้อมูลบางส่วน ในแง่ดีเกินไปว่า สามารถแก้ไขสถานการณ์ และควบคุมความเสียหายเอาไว้ได้ จนเป็นที่มาของรายงานสภาพของ รล.สุโขทัย(อย่างไม่เป็นทางการ)ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ว่า“เรือเอียงคงที่"


พล.ร.อ.ชลทิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร. ในฐานะ ผอ.ศปก.ทร. เข้าควบคุมสถานการณ์ (ไม่ทราบเวลาแน่ชัด) แต่คาดว่า ก่อนเวลา 17.00 น. เล็กน้อย ทำให้เรือรบหลวงสุโขทัยยกเลิกการเข้าจอดที่บางสะพานและเดินทางกลับสัตหีบ ตามคำสั่งของหน่วยเหนือ

ซึ่งในเอกสารการสอบสวนเท่าที่หลุดออกมา ไม่มีการระบุว่าใครเป็นผู้สั่งการดังกล่าว ระหว่างทัพเรือภาค 1 กับ ศปก.ทร. จนมีกระแสข่าวว่า ทั้งสองหน่วยพยายามให้ข้อมูลว่า การเดินทางกลับสัตหีบแทนการเข้าจอดที่บางสะพาน เป็นการตัดสินใจของ ผบ.เรือ คือ นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย

ระหว่าง รล.สุโขทัย เดินทางจากบางสะพานไปยังสัตหีบ จนกระทั่งเรือจม พล.ร.อ.ชลทิศฯ เสธ.ทร. ในฐานะ ผอ.ศปก.ทร. เป็นผู้ควบคุมสั่งการการปฏิบัติของทุกหน่วย ทั้งเรือสุโขทัยและเรือที่เข้าช่วยเหลือ แม้หลังจากไฟฟ้าดับ วิทยุสื่อสารใช้ไม่ได้ แต่ยังคงมีการติดต่อสั่งการไปยัง รล.สุโขทัยผ่านทางสัญญาณโทรศัพท์มือถือ


หลังจากที่ ศปก.ทร. เข้ามาบริหารสถานการณ์ จะเห็นได้ว่า ไม่มีการกล่าวถึง การที่ รล.สุโขทัย ขออนุญาตเข้าจอดที่ท่าเรือบางสะพานแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์และหลักฐานการติดต่อที่ ผอ.ท่าเรือบางสะพาน นำมาแสดงว่า รล.สุโขทัย แจ้งยกเลิกการขอเข้าจอดที่บางสะพาน

ในประเด็นนี้จึงยังคลุมเครืออยู่ว่า คำสั่งให้ รล.สุโขทัย เดินทางกลับสัตหีบ แทนการเข้าจอดที่บางสะพานเป็นคำสั่งของใคร?

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งที่ถูกกล่าวขานในหมู่คนวงในว่า “ห้ามเรือจม” ซึ่งกำลังพลที่รอดชีวิต โดยเฉพาะ ผบ.เรือ (นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี) รู้ดีว่า เป็นคำสั่งของใคร แต่ก็ไม่มีการเปิดเผยคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถสละเรือ ตั้งแต่แรกเพื่อรักษาชีวิตกำลังพล จนกระทั่งหมดหนทาง จึงมีการสั่งสถานีสละเรือ


เตรียมการกู้เรือหลวงสุโขทัย

ราว 2 เดือนหลังจากการอับปางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ​ ​พล.ร.ท.สิทธิศักดิ์ บุตรนาค เจ้ากรมอู่ทหารเรือ เป็นประธานเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง ​​ประกอบด้วย ผู้แทนกรมสรรพาวุธ กองเรือทุ่นระเบิด กรมส่งกำลังบำรุง ฐานทัพเรือสัตหีบ กรมยุทธการทหารเรือ กำหนดแนวทางการกู้เรือ

เดือนมีนาคม 2566 กองทัพเรือเชิญบริษัทที่สนใจมาฟังคำชี้แจง (ครั้งที่ 1) และเปิดเผยคลิปเรือจมเพื่อให้กลับไปจัดทำ ​​ข้อเสนอทางเทคนิคมานำเสนออีกครั้ง​

เดือนพฤษภาคม 2566 ​ ​บริษัทต่าง ๆ เสนอเทคนิคและงบประมาณที่ใช้ให้กรมอู่ทหารเรือนำไปพิจารณาความเป็นไปได้จัดทำ TOR และของบประมาณ

เดือนกรกฎาคม 2566 กรมอู่ทหารเรือเสนอ TOR และวงเงิน 200 ล้านบาท ไปยังกองเรือยุทธการ (พล.ร.อ.​​อะดุงฯ ผบ.กร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ

พล.ร.อ.??อะดุง พันธ์เอี่ยม
วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ​กรมอู่ทหารเรือเปิดโอกาสให้บริษัททักท้วง/วิจารณ์ TOR ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง

วันที่ 18 สิงหาคม 2566 ​​กรมอู่ทหารเรือใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมง รวบรัดจัดการพิจารณาก่อนจะยืนยัน TOR การกู้เรือโดยไม่มีการชี้แจงข้อทักท้วงตามที่มีบริษัทเสนอข้อวิจารณ์ โดยใช้เวลาแถลงไม่ถึง 30 ​​นาที

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 กรมอู่ทหารเรือเปิดให้เข้ายื่นซองระหว่าง 08.30-16.30น. ณ กองเรือยุทธการ ซึ่งเป็น ​​เจ้าของโครงการ โดยมีผู้มายื่น 6 บริษัท

วันที่ 28 สิงหาคม 2566 กรมอู่ทหารเรือและเจ้าหน้าที่กองเรือยุทธการ รับซองข้อเสนอของบริษัทที่มีหนึ่งในกรรมการมีนามสกุล “​หนุนภักดี” ทั้งๆ ที่เกินกำหนดเวลา แต่หลังจากฝ่ายค้านนำไปอภิปรายในสภา มีการชี้แจง​อย่างไม่เป็นทางการว่า เป็นการลงวันที่ผิดของเจ้าหน้าที่บริษัท

วันที่ 8 กันยายน 2566 ​พล.ร.อ.อะดุงฯ ผบ.กร. สั่งยกเลิกการยื่นซองประมูล โดยให้เหตุผลในการประกาศยกเลิกว่าไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือก และมีการให้ข่าวไม่เป็นทางการว่า ทุกบริษัทส่งเอกสารไม่ ครบถ้วน

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ​​พล.ร.อ.อะดุงฯ รับตำแหน่ง ผบ.ทร. คนใหม่

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ​ ​พล.ร.อ.อะดุงฯ ให้สัมภาษณ์ในวันกองทัพเรือว่า จะทำการเริ่มกู้เรือสุโขทัยในเดือน​​​มีนาคม 2567


1 ปีแห่งความอึมครึม

จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 1 ปี แล้ว ที่เรือหลวงสุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นเรือหนึ่งในไม่กี่ลำ ของราชนาวีไทย ที่มีศักยภาพสูงสุด สามารถทำการรบได้ถึง 3 มิติ ต้องถูกลบชื่อออกจากกำลังทางทะเล ของกองทัพเรือ เมื่อประสบเหตุไม่คาดฝันและเป็นเหตุการณ์ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของไทย นั่นคือ เรือรบอับปางลงสู่ก้นทะเล ในอ่าวไทย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ วันที่ 18 ธันวาคม 2565 ทั้งที่มิได้เข้ากระทำยุทธนาวีกับอริราชศัตรูที่ล่วงล้ำอธิปไตยเข้ามายังน่านน้ำไทยแต่อย่างใด

หากแต่การอับปางดังกล่าว เกิดขึ้นจากคลื่นลมรุนแรงที่โหมกระหน่ำเข้าใส่เรือ ซึ่งโดยปกติแล้วเรือรบทุกลำถูกจับออกแบบมาให้มีความคงทนทางทะเล โดยเฉพาะเรือหลวงสุโขทัยซึ่งกองทัพเรือต่อจากอู่เรือคาร์โคม่า ประเทศสหรัฐอเมริกา และเดินทางฝ่าคลื่นฝืนลม รอน แรมข้ามมหาสมุทร ข้ามทวีป มาถึงประเทศไทยได้โดยสวัสดิภาพ

แต่เนื่องจากเรือหลวงสุโขทัยในวาระสุดท้ายของการรับใช้ชาติ มิได้อยู่ในสภาพที่มีความพร้อมสมบูรณ์ แต่กลับได้รับคำสั่งให้ออกทะเล และต้องเผชิญกับสภาพคลื่นลมแรง ก่อนจะอับปางลงสู่ก้นทะเลในคืนวันเดียวกัน จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ทำให้มี ผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นนายทหารสัญญาบัตรและชั้นประทวนถึง 24 นาย สาปสูญ 5 นาย เหลือผู้รอดชีวิตเพียง 76 นาย ที่ได้รับการช่วยเหลือโดย เรือหลวงกระบุรี และ เรือศรีไชยา ของบริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งผ่านมาประสบเหตุพอดี


ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ความพยายามในการปกปิดความจริงของลำดับเหตุการณ์ และข้อมูลผลการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้บังคับการเรือที่รอดชีวิต ขึ้นไปจนถึงเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ (ศปก.ทร.) และ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ซึ่งตามสายงานของการบังคับบัญชาแล้ว ถือว่าจะต้องรับผิดชอบโดยไม่อาจปฏิเสธได้

ความอึมครึมจากเหตุเรือสุโขทัยอับปาง ยังคงดำเนินต่อไป พร้อม ๆ กับที่ กองทัพเรือต้องรับภาระหนักในการหางบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการกู้เรือ ซึ่งตอนแรกกองทัพเรือคาดหวังว่าจะได้รับอนุมัติงบกลางจากรัฐบาล แต่ในท้ายที่สุด กลับกลายเป็นว่าต้องใช้งบของกองทัพเรือเอง

เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า ในความรู้สึกของผู้สูญเสีย และสาธารณชนคนไทยที่อยากรู้ความจริง ถึงสาเหตุการสูญเสีย รล.สุโขทัยจนกระทั่งในช่วงเดือนสิงหาคมจึงเริ่มมีความชัดเจนถึงการว่าจ้างเอกชนในการกู้เรือโดยงบประมาณที่ตั้งไว้ในตอนแรก 100 ล้านบาท ถูกเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท หลังจากประเมินแล้วว่าวงเงิน 100 ล้านบาท ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ

ในการนี้กองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือได้เชิญบริษัทต่าง ๆ ทั้งที่เป็นบริษัทของไทย รวมทั้งบริษัทอู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงกลาโหม ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพเรือ และตัวแทนของบริษัทต่างประเทศกว่า 10 ราย มาเข้ารับฟังคำชี้แจงและความต้องการของกองทัพเรือ เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นมายื่นเสนอราคาแข่งขันกันอีกครั้งหนึ่ง

ตอนนี้เองได้เกิดเรื่องฉาว และถูกพรรคก้าวไกลนำไปเปิดโปงในสภาว่า มีบริษัทหนึ่ง ซึ่งกรรมการบริษัทนามสกุล “หนุนภักดี” อันเป็นนามสกุลเดียวกับ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2566

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี
บริษัทดังกล่าวได้ทำหนังสือถึง พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เสนอตัวเข้ารับงานกู้เรือ แต่หนังสือดังกล่าวลงนามในวันที่ยังไม่มีการก่อตั้งบริษัท จึงเป็นพิรุธอย่างยิ่ง มิหนำซ้ำในการมายื่นเสนอราคา บริษัทดังกล่าวยังมายื่นในวันที่พ้นกำหนดการยื่นซองไปแล้วถึง 2 วัน

กล่าวคือกำหนดให้ยื่นซองใน วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2566 ก่อนเวลา 16.30 น. ซึ่งเป็นเวลาราชการ แต่บริษัทนามสกุลดังมาลงนามในเอกสาร ยื่นเสนอราคาใน วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2566

เมื่อปรากฏเป็นข่าวฉาว เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้ออกมาเอาสีข้างเข้าถู โดยแก้ตัวว่าบริษัทลงวันที่ผิดสามารถตรวจสอบได้จากกล้องวงจรปิดว่าได้มายื่นจริงในวันที่ 25 สิงหาคม แต่กระนั้นก็ตาม หากนำกล้องวงจรปิดมาเปิดเผย ก็จะตายในเรื่องของเวลาที่ปรากฎในคลิปว่า บริษัทมายื่นหลังเวลา 16.30 น. เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ในขณะนั้น ตัดสินใจถอดชนวนด้วยการสั่งยกเลิกการยื่นเสนอราคาดังกล่าว พร้อม ๆ กับที่มีการให้ข่าวต่อสาธารณชนว่า เหตุที่ยกเลิก เพราะบริษัทต่าง ๆ เตรียมเอกสารมาไม่ครบถ้วน เสมอภาคกันทุกบริษัท และจะนัดหมาย ให้มีการยื่นเสนอราคาใหม่อีกครั้ง

หลังจากนั้นเรื่องการคัดเลือกบริษัทกู้เรือก็เงียบหายไป ระยะหนึ่ง และ พล.ร.อ.อะดุง ก้าวขึ้นรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งในทันทีที่รับตำแหน่ง และแถลงนโยบายให้ผู้ใต้บังคับบัญชารับทราบ พล.ร.อ.อะดุง เน้นย้ำว่า การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ใด ๆ นับจากนี้เป็นต้นไป จะต้องอยู่บนความโปร่งใส สุจริต สามารถตรวจสอบได้ จะต้องไม่เหมือน ในช่วงที่ผ่านมา ที่กองทัพเรือถูกสื่อมวลชนจับจ้องขุดคุ้ยการจัดซื้อจัดจ้างว่า ส่อไปในทางทุจริต เช่น กรณีการจัดซื้อเป้าบินโดยไม่ซื้อรางปล่อย รวมทั้งกรณีความลับรั่วไหล ผู้บังคับบัญชาประชุมกัน 5 คน แต่เรื่อง กลับถึงมือสื่อมวลชนได้อย่างไร ?

อุปสรรคในการหาคนมากู้เรือ !?!

แม้ผู้บัญชาการทหารเรือคนใหม่ จะออกมาประกาศอย่างขึงขัง แต่ในกรณีของการกู้เรือสุโขทัย การกำหนด TOR กลับยังคงเป็นที่ครหา โดยเฉพาะ

1)ในประเด็นคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้ามารับงานที่ถูกกำหนดไว้ว่า จะต้องได้รับการรับรองจากสมาพันธ์การกู้เรือของต่างประเทศ และระบุชัดเจนว่า ต้องเป็น สหรัฐอเมริกา หรือ จีนเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้บริษัทที่เป็นคนไทย แม้จะมีผลงานการกู้เรือ แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสมาพันธ์การกู้เรือต่างประเทศ แม้จะมีหนังสือรับรองจากกรมเจ้าท่า ก็จะไม่สามารถยื่นเสนอราคาได้

2) นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของการกู้เรือ โดยที่ยังมีกระสุนติดค้างอยู่ในเรือ แม้กองทัพเรือ โดยกรมสรรพาวุธจะยืนยันว่า กระสุนเหล่านั้นไม่ใช่กระสุนกระทบแตก ทำให้มั่นใจได้ว่า จะไม่มีการจุดชนวนเกิดขึ้น ขณะกู้เรืออย่างแน่นอน แต่ในแง่ของการประกันภัยตามมาตรฐานของต่างประเทศ หากกู้เรือ โดยยังมีกระสุน หรือวัตถุระเบิดตกค้างอยู่ในเรือ บริษัทประกันจะไม่รับประกันความเสียหาย ซึ่งนั่นหมายความว่า บริษัทที่จะทำสัญญากู้เรือสุโขทัย จะต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตนเอง

3) อีกทั้งในเงื่อนไขที่ระบุอย่างชัดเจนใน TOR ก็คือ กองทัพเรือจะจ่ายเงินเพียงครั้งเดียว จำนวน 200 ล้านบาท เมื่อการกู้เรือเสร็จสิ้น และส่งมอบเรือที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชฯ เรียบร้อยแล้วเท่านั้น และการกู้เรือจะต้องขึ้นมาในสภาพสมบูรณ์ทั้งลำ ห้ามมิให้มีการตัดแยกชิ้นส่วนใด ๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือเปิดโอกาสให้ผู้รับงานทำสัญญา 2 ข้อให้มีการเพิ่มเติมได้หากเรือขึ้นพ้นผิวน้ำและทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าจำเป็นจะต้องมีงานเพิ่มเติม เพื่อให้การนำเรือกลับเข้าฝั่ง ดำเนินการได้อย่างปลอดภัยที่สุด


สรุป แม้จนถึงวันนี้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าบริษัทใด เป็นผู้รับงานดังกล่าว เพราะผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้สัมภาษณ์ในงานวันกองทัพเรือ วันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า การกู้เรือจะดำเนินการภายในเดือนมีนาคม 2567 อย่างแน่นอน และสภาพของเรือในปัจจุบันยังคงวางตัวเป็นแนวยาวบนพื้นทรายเหมือนสภาพวันแรกที่เรือจม

คงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า เรื่องราวของเรือหลวงสุโขทัย จะจบลงในลักษณะใด ร่างของกำลังพลที่สูญหายอีก 5 นาย จะติดค้างอยู่ในเรืออย่างที่คาดการณ์ไว้หรือไม่

และในวันที่เรือหลวงสุโขทัยโผล่พ้นผิวน้ำ เรือรบที่มีชะตากรรมอันน่าเศร้าสลดลำนี้ ก็จะเป็น วัตถุพยานสำคัญ ที่บ่งชี้ว่า เกิดอะไรขึ้นในคืนวันที่ 18 ธันวาคม 2565 กันแน่ และไอ้โม่งคนไหนบ้าง ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบกับเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น !!!

กำลังโหลดความคิดเห็น