งานศพจ่ายแพงไปทำไม? เสียดาย คนตายไม่ได้รู้ วัด-ผู้เกี่ยวข้อง รวยอู้ฟู่
เรื่องของ ความตายที่เปลี่ยนไปในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งล่าสุดก็กลายเป็นประเด็นดราม่าของสังคมข้ามปี จากกรณีที่มีเสียงโอดครวญ ค่าใช้จ่ายจัดงานศพที่ต้องเสียให้กับวัดและผู้เกี่ยวข้องเป็นค่าดำเนินการในการจัดพิธีศพให้แก่ผู้วายชนม์ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่ร่างไร้วิญญาณจะได้รับการฌาปณกิจจนเป็นเถ้าถ่าน เป็นเงินหลายหมื่นบาท คนมีรายได้น้อยรับไม่ได้ ซึ่งประกอบด้วย
ค่าตั้งศพ 4,500 บาท เจ้าหน้าที่ทำงานคืนละ 1,250 บาท สวด 3 คืน รวมเป็นเงิน 17,250 บาท ค่าน้ำมันเผาศพ 3,000 บาท ค่าบำรุงเตาเผาศพ 3,000 บาท เจ้าหน้าที่เผาศพ 1,000 บาท ค่าเก็บอัฐิ 300 บาท ค่าบำรุงของวัด 500 บาท ค่าสถานที่ใช้ศาลาสวด 3 คืนรวมวันเผา เป็นเงิน 25,050 บาท
ทั้งนี้รายการทั้งหมดนี้ยังไม่รวม ค่าอาหารเลี้ยงแขกตอนฟังสวดยังไม่รวมเงินใส่ซองพระสวด และยังไม่รวมเงินที่จะต้อง ใช้ในวันเผาอีกทั้งเลี้ยงพระทั้งใส่ซองพระ ถ้ารวมรายการพวกนี้ด้วย การจัดงานศพครั้งหนึ่งจะต้องใช้เงินประมาณ 4-5 หมื่นบาท
ตัวเลขดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับคนตายที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป แต่หากเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงนามสกุลดัง ลูกหลานญาติมิตรมีตำแหน่งใหญ่โต มีหน้ามีตาในสังคม ค่าใช้จ่ายในการจัดการพิธีศพก็จะสูงกว่าและมากขึ้นไปเป็นลำดับ ชนิดเทียบกันไม่ได้
ความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือ ทันทีที่มีการตายเกิดขึ้น หากไม่ใช่ศพอนาถาไร้ญาติขาดมิตรที่ต้องให้มูลนิธิเข้ามาจัดการแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เจ้าของศพที่เป็นลูกหลานหรือพ่อแม่คนตาย ก็จะต้องเตรียมเงินไว้จ่ายในทุกขั้นตอน
เริ่มตั้งแต่การเคลื่อนย้ายศพจากโรงพยาบาลหรือจากบ้านผู้ตายไปยังวัดที่จะใช้ประกอบพิธี ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ แน่นอนว่าต้องขึ้นอยู่กับระยะทางในการเดินทาง อีกทั้งยังจะต้องมีพระสงฆ์อย่างน้อย 1 รูป ในการเชิญดวงวิญญาณร่วมอยู่บนพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง ซึ่งเจ้าภาพจะต้องถวายปัจจัยให้แก่หลวงพี่หรือหลวงพ่อตามกำลังศรัทธา ทั้งนี้ยังไม่รวมเจ้าหน้าที่ประจำรถและคนขับซึ่งก็ต้องมีสินน้ำใจให้นอกเหนือจากค่าเช่ารถเช่นกัน
ครั้นไปถึงวัดซึ่งมีการจองศาลาเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ได้แก่ การสวดพระอภิธรรม เริ่มตั้งแต่ 3 คืน 5 คืน และ 7 คืน ผู้เป็นเจ้าภาพก็จะต้องจ่ายค่าศาลาให้แก่วัด ค่าเจ้าหน้าที่ประจำศาลา ปัจจัยถวายพระที่รับนิมนต์มาสวดพระอภิธรรม ซึ่งเจ้าภาพจะต้องระบุจำนวนว่าจะนิมนต์กี่รูป ยกเว้นในบางวัดที่มีกติกาชัดเจนว่า จะมีพระเพียงรูปเดียวในการประกอบพิธีกรรมพร้อมกับเทศน์สั่งสอนผู้มาเคารพศพและแสดงความเสียใจกับเจ้าภาพ
ทั้งนี้ยังไม่รวมราคาโลงหรือหีบบรรจุศพ ซึ่งมีราคาแตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของไม้ และเครื่องประกอบตั้งแต่ถูกที่สุดไปจนถึงแพงที่สุด ระหว่างนั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แสดงถึงระดับของผู้วายชนม์เพิ่มเติมขึ้นมา อันได้แก่ ค่าจัดดอกไม้หน้าศพ บางรายอาจมีการเปลี่ยนดอกไม้ใหม่ทุกวัน โดยเจ้าภาพเป็นผู้กำหนดว่า จะใช้ดอกไม้ที่มีราคามากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังต้องมีค่าเครื่องดื่มและของว่างสำหรับแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะสั่งมาจากร้านไหน เป็นอาหารกล่องถือกลับบ้าน หรือว่าเสิร์ฟให้กินกันเดี๋ยวนั้น
ครั้นถึงวันสุดท้าย หากไม่ต้องการเก็บศพไว้ 50 วัน หรือ 100 วัน ก่อนฌาปนกิจ ซึ่งก็จะต้องเสียค่าสถานที่ให้กับทางวัดเช่นกัน เจ้าภาพก็จะมีค่าใช้จ่ายในการนิมนต์พระมาถวายสังฆทานหรือถวายอาหารเพล พร้อมสวดมาติกาบังสุกุลก่อนจะนำศพเวียนเมรุ 3 รอบ จากนั้นจึงนำขึ้นเมรุเพื่อประกอบพิธี
ขั้นตอนนี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกเช่นกัน ได้แก่ ค่าผ้าไตรบังสกุล ตามจำนวนของแขกผู้มีเกียรติที่เจ้าภาพจะเชิญขึ้นเป็นตัวแทนทอดผ้า โดยผืนสุดท้ายจะเป็นผ้าไตรสำหรับผู้ที่เป็นประธานในการประกอบพิธี
นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นของชำร่วยหรือของที่ระลึกสำหรับแจกให้แก่แขกที่มาร่วมงานฌาปนกิจ ซึ่งมีทั้งผู้ที่นิยมทำหนังสือที่ระลึก และของใช้อื่น ๆ ตั้งแต่ยาอม ยาดม มาจนถึงยุคโควิดที่หันมาแจกสเปรย์แอลกอฮอล์และแมสป้องกันเชื้อโรค ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าภาพก็ต้องควักเงินในส่วนนี้เช่นกัน
ครั้นถึงวันรุ่งขึ้นซึ่งมีการเก็บอัฐิ เจ้าภาพก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่เป็นสินน้ำใจและปัจจัยถวายพระที่มาประกอบพิธีในตอนเช้า ยิ่งถ้าเจ้าภาพเป็นคนมีหน้ามีตาอยากจะจัดเต็ม ทำพิธีสามหาบในการเก็บอัฐิ ค่าใช้จ่ายก็จะบานปลายออกไปอีก
ที่ร่ายยาวมานี้คือ ธรรมเนียมปฏิบัติตามประเพณีนิยมของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน และกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนอยู่ในวงจรของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วัด พระสงฆ์ จนกระทั่งถึงเจ้าหน้าที่คนสุดท้ายที่อยู่ในสังกัดของวัดนั้น ๆ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงร้านพวงหรีด และคนขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างที่จะนำพวงหรีดมาส่งให้ถึงศาลาวัด ซึ่งก็อยู่ในวงจรของกระแสเงินที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลังความตายเช่นกัน
ที่สำคัญก็คือ ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า พิธีกรรมทางศาสนาตามประเพณีนิยมของไทยดังที่กล่าวมาข้างต้น เกิดขึ้นทุกวันและทุกคืน และกลายเป็นที่มาของรายได้หลักของวัดมากกว่า การทอดกฐินหรือทอดผ้าป่า ตลอดจนการทำบุญและพิธีสงฆ์ในเทศกาลและวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งจะเกิดขึ้นตามห้วงเวลาเฉพาะ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบวันต่อวัน เหมือนเช่นพิธีศพของวัดดัง ๆ บางวัดที่มีศาลาสวดมากถึง 20 ศาลา มีเมรุเผาศพถึง 2 เมรุ บางวันมีงานเผาศพถึง 4 รอบ ตั้งแต่เที่ยงบ่ายสองโมง สี่โมงเย็น และหกโมงเย็น
ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็คือ เมื่อต้องรับบทเป็นเจ้าภาพงานศพสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องมีสติในการจัดงาน ทำทุกอย่างด้วยความเหมาะสม ตามสมควร ไม่สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย หากใช้จ่ายตามความจำเป็น แบบที่เรียกว่า พอประมาณและมีเหตุผล
โดยระลึกไว้เสมอว่า เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมแล้ว ทุกอย่างก็จะสลายไปกับสายลม ผู้วายชนม์ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ และแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน ก็ไม่มีใครจดจำความยิ่งใหญ่หรูหราสวยงามที่เจ้าภาพจัดขึ้นตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของงาน
นี่คือสัจธรรมของชีวิต และทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน สุดท้ายก็ต้องจบที่เชิงตะกอนอย่างเท่าเทียมกัน
**************
Sondhi X