xs
xsm
sm
md
lg

“โยเร” ลัทธิประหลาดสืบทอดจากสาวกธรรมกายในช่วงที่ “ธัมมชโย” อ่อนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“โยเร” ลัทธิประหลาดสืบทอดจากสาวกธรรมกายในช่วงที่ “ธัมมชโย” อ่อนแรง

จากเหตุการณ์ สัตวแพทย์หญิงเมืองบ้านฉาง ซดไซยาไนด์ฆ่าตัวตายพร้อมลูกสาววัย 12 ปีและนกเลี้ยงอีก 2 ตัวเหตุเกิดภายในห้องนอนบ้านพักชั้นเดียวซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านเนินกระปรอก ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้ววานนี้ (2 ม.ค.) โดยผู้ตายได้ทิ้งจดหมายระบุให้นำร่างตัวเองและลูกกับนกใส่โลงเดียวกัน และทำการเผาทันที ซึ่งสามีที่เลิกรากันมานานเชื่อว่าเป็นเพราะภรรยาป่วยซึมเศร้าก่อนเข้าร่วมเป็นผู้นับถือลัทธิโยเร

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 3 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ลัทธิโยเร” นั้น มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เซไกคีวเซ” เป็นหนึ่งในศาสนาใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นจากการผสานความเชื่อของลัทธิชินโต ศาสนาพุทธนิกายมหายาน และหลักจริยธรรมสากล ก่อตั้งโดย นายโมกิจิ โอกาดะ เมื่อ พ.ศ. 2478 มีความเชื่อเรื่องการส่งพลังแสง เรียกว่า แสงทิพย์ ผ่านฝ่ามือสู่ร่างกายเพื่อจุดประสงค์ในการรักษา ตามกระบวนการที่เรียกว่า “โยเร” และยังมีแนวปฏิบัติอื่นโดยเฉพาะเรื่องความงามและศิลปะจากธรรมชาติ เช่น เกษตรกรรมธรรมชาติ และการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น

โดย นายโมกิจิ โอกาดะ ผู้ก่อตั้งอ้างตัวว่าได้รับวิวรณ์จากพระเป็นเจ้า มอบอำนาจให้เขาใช้พลังของพระเป็นเจ้าด้วยการใช้แสงสำหรับการรักษา เพื่อขจัดความเจ็บป่วย ความยากจน ความขัดแย้ง และชำระอาณาจักรแห่งจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ เขาจึงรับหน้าที่เป็นศาสนทูตคอยเผยแผ่ศาสนาของตนเองแก่ผู้คน โดยสาวกจะเรียกเขาว่า “เมชูซามะ” หรือเอกสารไทยเรียก “เมซึซามะ” ศาสนิกชนจะสวมจี้ โอฮิการิ ซึ่งในไทยจะเรียกว่า เหรียญโยเร ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเปล่งรัศมี การรับเหรียญดังกล่าวจะเรียกว่า การรับพระ ซึ่งต้องใช้เงินซื้อมา และต้องอบรมศาสนาราว 2-3 วัน จึงจะเข้าเป็นศาสนิกโดยสมบูรณ์

จากข้อมูลของวิกิพีเดีย ระบุ “ลัทธิโยเร” เข้าสู่ประเทศไทยใน พ.ศ.2511 โดย “คาซูโอะ วากูกามิ” ศาสนาจารย์คณะผู้เผยแผ่มาตั้งรกรากในประเทศไทย โดยเริ่มการเผยแผ่คำสอนด้วยการแปลเอกสารทางศาสนา และก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมในประเทศไทย จึงได้ทำการจดทะเบียนโดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา” เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2513 มีสำนักงานใหญ่แห่งแรกอยู่ที่ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร ขณะนั้นมีศาสนิกชนอยู่ทั้งหมด 40 คน

ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2519 กรมการศาสนารับรองให้มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา เป็นองค์กรศาสนาย่อยของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ลัทธิเซไกคีวเซ หรือ ลัทธิโยเร เริ่มวางนโยบายเผยแผ่ศาสนาแก่ลูกหล่านเกษตรกรในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยในช่วง พ.ศ. 2521–2524 มีศาสนิกชนเพิ่มขึ้นเท่าตัว มีการสร้างสถานปฏิบัติธรรมหรือโบสถ์ของลัทธิในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย สระบุรี และย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่ซอยสีฟ้า ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร

กระทั่ง พ.ศ. 2527 ได้ทำการเพิกถอนสถานะการเป็นนิกายของศาสนาพุทธนิกายมหายานลง จึงถูกลดสถานะกลับเป็นมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนาตามเดิม พวกเขามีกิจกรรมสนับสนุนทุนการศึกษาศาสนาพุทธแก่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประจำทุกปี และการต่อต้านยาเสพติด รวมทั้งปรับปรุงวิธีการเผยแผ่ศาสนาด้วยการสนับสนุนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวัฒนธรรมไทย

ผู้ที่จะเข้าลัทธิเซไกคีวเซจะต้องรับจี้ โอฮิการิ หรือที่เข้าเรียกว่า การรับพระ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย ต้องคอยปฏิบัติศาสนกิจเรียกว่า กิจกรรมพระ (หมายถึงพระศรีอริยเมตไตรย) ได้แก่ การซัมไป (สักการะ) การโยเร และ การโฮชิ (บำเพ็ญประโยชน์) รวมทั้งต้องเผยแผ่ศาสนาเพื่อเพิ่มจำนวนศาสนิกชนให้มากขึ้น มีคำสอนสำคัญแก่สมาชิกคือ ความสุภาพอ่อนโยน ความสงบเสงี่ยม และความสะอาด ที่สำคัญที่สุดคือการทำโยเร หลังการรับพระพวกเขาจะบูชาเหรียญพระโยเร

โดยกล่าวคาถาบูชาว่า "ขออำนาจพระศรีรัตนตรัยและท่านเมซึซามะ ขอให้คนข้างหน้าจงมีความสุข" หรือบ้างก็กล่าวว่า "ขออำนาจบารมี คุณพระศรีอริยเมตไตรย และท่านเมซึซามะ โปรดประทานแสงทิพย์ เพื่อชำระเมฆหมอกความขุ่นมัว" จากนั้นจะยกมือขึ้นระดับศีรษะ หันมือเข้าหาผู้รับแสง ยกค้างไว้ 10-15 นาที วันละครั้งหรือสองครั้ง เพราะเชื่อว่าเป็นการรักษาโรคภัย

กระทั่งกาลเวลาเนิ่นนานขึ้นมีผู้บิดเบือนคำสอนและเจตนารมย์เดิมของผู้ก่อตั้ง มีการตั้งองค์กรเป็นกลุ่มธุรกิจเชิงพาณิชย์มากขึ้น หลังพบข้อมูลผู้ร่วมลัทธิโยเร ส่วนหนึ่งแตกกระจายมาจากกลุ่มของวัดธรรมกาย ในช่วงที่ธัมมชโย ประสบปัญหา ช่วงนั้นผู้ศรัทธาต่างหันหน้าไปแสวงบุญ บริจาคเงินทำบุญกับมูลนิธิ ที่มีอยู่ จำนวน 24 สาขาทั่วประเทศ โดยสำนักงานใหญ่จะอยู่ที่ จ.สระบุรี มีการเรียกเก็บเงินแรกเข้ากับสมาชิกรายละ 100 บาท เรียกเก็บเงินค่าเหรียญโยเร รายละ 1,000-3,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการเรียกเก็บค่าสมาชิกรายปีอีก รายละ 150 บาท

สาวกที่คลั่งไคล้คำสอนซึ่งปัจจุบัน ถูกแปรสภาพจากข้อเท็จจริงไปมาก ส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และแม่บ้าน ที่ค่อนข้างมีเวลาและทุนทรัพย์ไปบำเพ็ญบุญร่วมกิจกรรม ส่วนใหญ่สถานะภาพทางครอบครัวของสาวกเหล่านี้ค่อนข้างร้าวฉาน เนื่องจากเอาเวลาไปละลายกับกิจกรรมของกลุ่มมากกว่า ที่จะสนใจใส่ใจดูแลคนในครอบครัวของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เป็นเรื่องอันตรายไปกว่านั้น คือ สาวกต่างเชื่อว่า กรรมวิธีรักษาอาการป่วยด้วยวิธีโยเร การเกณฑ์สมาชิกมาร่วมสวดและหันมือเข้าหาผู้ป่วย จะเกิดประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการปฏิเสธการรักษาด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะพึ่งพาความเชื่อผิดๆ เหล่านี้มากมายจนเป็นข่าวมาแล้วนักต่อนัก.
****
Sondhi X
กำลังโหลดความคิดเห็น