ปู ยิ่งลักษณ์ ยังเฮไม่สุด อีกคดีเป็นชนักติดหลัง ทุจริตจัดโรดโชว์ 240 ล้าน
เมื่อวันอังคารที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้องคดีที่ ยิ่งลักษณ์ ตกเป็นจำเลย ในคดีที่ อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องเอาผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
กรณีโอนย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” จากเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปเป็นที่ปรึกษานายกฯฝ่ายข้าราชการประจำ ในช่วงต้นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อ 4 ตุลาคม 2554
เป็นผลคำตัดสินที่ทำให้หลายคนแปลกใจและมีการวิพากษ์วิจารณ์ตามมา เพราะส่วนใหญ่คาดคะเนกันไปก่อนหน้านี้ว่า ยิ่งลักษณ์ น่าจะรอดยาก
เพราะผลพวงการย้าย ถวิล เปลี่ยนศรีดังกล่าว ทำให้เกิดคดีความตามมาสองคดี
คดีแรก คือคดีที่ถวิล เปลี่ยนศรี ที่ตอนนี้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ยอมแพ้ง่ายๆไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จนสุดท้าย ศาลปกครองสูงสุด มีคำตัดสินเมื่อ 20 ก.พ. 2557 ที่ชี้ว่า การออกมติครม.ย้ายนายถวิล จากเลขาธิการสมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯฝ่ายข้าราชการประจำดังกล่าว เป็นการย้ายที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุด ยังมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งย้ายดังกล่าว และสั่งให้ รัฐบาลย้ายนายถวิลกลับเข้ารับตำแหน่งเดิมโดยเร็วที่สุด
คดีที่สอง คือคำร้องคดีที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน และคณะรวม 28 คน นำผลคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่า การที่ ยิ่งลักษณ์ ย้ายถวิล ไม่ใช่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่การบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา แต่เป็นการใช้ตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซงการเพื่อประโยชน์ของตนเอง เครือญาติ พรรคเพื่อไทยที่นายกรัฐมนตรีสังกัด เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(2) และ (3) ของรธน.ฉบับปี 2550
ที่สุดท้าย ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ เมื่อ 7 พ.ค. 2557 ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะการย้ายนายถวิล ดังกล่าว เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ
ต่อมา ป.ป.ช.นำผลคำตัดสินดังกล่าว ไปยื่นฟ้องเอาผิดคดีอาญากับยิ่งลักษณ์ เรื่องถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ สุดท้าย ศาลยกฟ้องไปเมื่อวันอังคารที่26 ธ .ค.
คำตัดสินศาลฎีกาฯ แตกต่างจาก ศาลปกครองสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหลักเกณฑ์การพิจารณาคดีดังกล่าวของศาลฎีกาฯ ให้น้ำหนักเรื่อง “เจตนา”ที่เป็นหลักสำคัญในการพิจารณาคดีอาญา เป็นเรื่องหลัก เพื่อพิจารณาว่า ยิ่งลักษณ์ มีเจตนาพิเศษในการออกคำสั่งดังกล่าว หรือไม่ องค์คณะฯเสียงข้างมาก ก็เห็นว่า ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีเจตนาพิเศษในการย้ายถวิล ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ ยังมีคดีต้องลุ้นอีกหนึ่งคดีในชั้นศาลฎีกาฯ คือคดีที่ตกเป็นจำเลย หลังถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ -นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ , สุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกฯ , บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) , บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) , นายระวิ โหลทอง เป็นจำเลยที่ 1-6 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ที่มีการยื่นฟ้องไปเมื่อ 28 มกราคม 2565 โดยเอกสาคำฟ้องพฤติการณ์ความผิดของจำเลยว่า
เมื่อระหว่างปลายเดือน ส.ค.2556 – 21 มี.ค.2557 จำเลยที่ 1-3 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4-5 ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ
ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเพื่อขอให้ศาลฯ ลงโทษจำเลยที่ 1-3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 , 157 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 , 13 ลงโทษจำเลยที่ 4-3 ในฐานะผู้สนับสนุน
โดยคดีนี้อยู่ระหว่าง การไต่สวนพยาน ในชั้นศาลฎีกาฯ และคาดว่า ภายในปีหน้า 2567 อาจจะมีการนัดอ่านคำตัดสินออกมา ก็ได้
หาก คดีนี้ศาลฎีกาฯยกฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ได้เฮ อาจจะทำให้การตัดสินใจกลับไทยของยิ่งลักษณ์เพื่อรับโทษคดีจำนำข้าวที่ถูกตัดสินจำคุกห้าปี แล้วยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ฯ มีความเป็นไปได้มากขึ้น
*********
Sondhi X