31 ม.ค. ชี้ชะตา พิธา-ก้าวไกล คดีล้มการปกครอง
.
วันพุธที่ 31 มกราคม 2567 คือวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมตุลาการเพื่อลงมติวินิจฉัยคดีคำร้อง “ล้มล้างการปกครองฯ” ที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ตกเป็นผู้ถูกร้องที่หนึ่งและสอง ตามลำดับ
หลังจากวันนี้ 25 ธ.ค.ศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดห้องพิจารณาคดีเพื่อไต่สวนคำร้องคดีดังกล่าว ที่ธีรยุทธ สุวรรณเกสร ทนายความส่วนตัวยื่นคำร้องให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง
กรณี เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่...)พ.ศ...เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ?
นั่นเท่ากับว่า “พิธา”ต้องลุ้นติดๆกัน สำหรับคดีความที่ตัวเขาตกเป็นผู้ถูกร้อง เพราะก่อนหน้านั้น หนึ่งสัปดาห์คือวันพุธที่ 24 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ก็นัดลงมติ ตัดสินคดี “หุ้นสื่อไอทีวี”ที่เขาถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า พิธา มีเจตนาถือครองหุ้นสื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่
โดยเดิมพันของคดีหุ้นสื่อไอทีวี คือหากศาลยกคำร้อง พิธาก็ได้กลับมาทำหน้าที่ส.ส.เต็มตัวอีกครั้ง แต่หากไม่รอด ก็ทำให้ พิธา พ้นสภาพการเป็นส.ส.ตั้งแต่ หลังการเลือกตั้งเป็นต้นมา และเสี่ยงที่อาจจะถูกกกต.ดำเนินคดีอาญาตามมาด้วย
ถัดมาอีกหนึ่งสัปดาห์ คือวันพุธที่ 31 ม.ค. 2567 พิธา ก็ต้องมาลุ้นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ อย่างไร
โดยหาก ศาลยกคำร้อง เรื่องก็จบ พรรคก้าวไกล ก็สามารถเคลื่อนไหวเรื่องแก้มาตรา 112 ต่อไปได้
แต่หากศาลมีคำสั่งให้ก้าวไกล และพิธา หยุดการเคลื่อนไหวเรื่อง 112 และมีข้อความในคำวินิจฉัยทำนองว่า การเคลื่อนไหวของก้าวไกลในเรื่องนี้เป็นพฤติการณ์ไม่เหมาะสม เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองฯ จึงสั่งให้ก้าวไกลหยุดเรื่อง 112
สิ่งที่จะตามมาคืออาจทำให้ มีกระแสกดดันทางการเมืองให้ กกต.โดยเฉพาะ ตัวนาย แสวง บุญมี เลขาธิการกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการเอาผิดกับ พิธา และพรรคก้าวไกล ต่อไป
ตามพรบ.พรรคการเมือง ฯ มาตรา 92 ที่มีบทลงโทษคือ ยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
เพราะในมาตราดังกล่าว บัญญัติไว้ว่า
“เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(1) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เดือนมกราคม ปีหน้า จึงเป็นเดือนแห่งการลุ้นระทึกของ พิธา และก้าวไกล อย่างแท้จริง
*****
Sondhi X