xs
xsm
sm
md
lg

7 ไฮไลต์ “วัดพนัญเชิง” วัดสวยแห่งเมืองกรุงเก่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง
“วัดพนัญเชิง” หนึ่งในวัดสำคัญแห่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใครได้แวะเวียนมาที่นี่ก็ต้องมาสักการะ “หลวงพ่อโต” เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้แล้ว ภายในวัดก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย

วัดพนัญเชิง
ใครที่นึกถึงการตระเวนไหว้พระใกล้กรุง เชื่อว่าต้องมี “อยุธยา” เป็นหนึ่งในเส้นทางแน่นอน เนื่องด้วยที่อยุธยามีวัดวาอารามมากมาย และยิ่งในช่วงนี้ก็ยิ่งเป็นจุดท่องเที่ยวยอดฮิต ที่หลายคนจะแต่งชุดไทยมาถ่ายรูปสวยๆ ตามรอยละครกัน

และหนึ่งในวัดสำคัญของอยุธยาก็คือ “วัดพนัญเชิง” วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองริมแม่น้ำป่าสักช่วงที่มาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่นี่ก็มีความน่าสนใจหลายอย่างที่ไม่ควรพลาด

ชวนมาดู 7 ไฮไลต์แห่งวัดพนัญเชิง ที่หากมาแล้วก็ต้องไปเช็คอินให้ครบ

พระพุทธไตรรัตนนายก
ประวัดวัดพนัญเชิง
ประวัติของวัดพนัญเชิงนั้นกล่าวกันว่าเก่าแก่และมีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ข้อมูลจากกรมศิลปากรกล่าวว่า วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีมาแต่โบราณ ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา 26 ปี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามพงศาวดารเหนือว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้างและพระราชทานนามว่า “วัดเจ้าพระนางเชิง”

ตำนานเล่าว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นกษัตริย์ผู้ครองอโยธยา พระเจ้ากรุงจีนได้ยกพระราชธิดาบุญธรรมนามว่า พระนางสร้อยดอกหมากให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสายน้ำผึ้งด้วยโหรหลวงทำนายว่าจะเป็นคู่ครองที่เหมาะสม พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงเสด็จไปเมืองจีนโดยเรือพระที่นั่งเอกชัย ด้วยพระบุญญาธิการทำให้เรือของพระองค์ไปถึงกรุงจีนอย่างปลอดภัย พระเจ้ากรุงจีนจึงจัดพิธีอภิเษกสมรสให้พระนางสร้อยดอกหมากเป็นพระมเหสีด้วยความโสมนัส

ครั้นเวลาผ่านไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระนางสร้อยดอกหมากเสด็จกลับอโยธาด้วยเรือสำเภาพร้อมด้วยช่างฝีมือชาวจีนที่พระเจ้ากรุงจีนพระราชทานมาด้วย โดยพระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จเข้าพระนครก่อนเพื่อตระเตรียมตำหนักซ้ายขวามาต้อนรับพระนางสร้อยดอกหมาก จากนั้นจึงจัดขบวนมารับเข้าวัง แต่พระองค์มิได้เสด็จมารับพระมเหสีด้วยพระองค์เอง ทำให้พระนางสร้อยดอกหมากไม่ยอมขึ้นจากเรือ

ครั้นรุ่งเช้าวันใหม่พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงแต่งกระบวนแห่มารับ พร้อมเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง พระนางสร้อยดอกหมากทรงตัดพ้อต่อว่าและไม่ยอมไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงสัพยอกว่า เมื่อไม่ไปแล้วก็จงอยู่ที่นี่ ด้วยความน้อยพระทัย พระนางสร้อยดอกหมากจึงกลั้นพระทัยจนถึงแก่สวรรคต พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ต่อมาได้จึงอัญเชิญพระศพมาพระราชทานพระเพลิงบริเวณแหลมบางกะจะ (บริเวณวัดพนัญเชิงปัจจุบัน) และสถาปนาเป็นพระอาราม ให้นามชื่อว่าวัด “พระเจ้าพระนางเชิง” และเพี้ยนมาเป็นวัดพนัญเชิงจนปัจจุบัน

พระพุทธไตรรัตนนายก
หลวงพ่อโต
"พระพุทธไตรรัตนนายก" หรือที่คนไทยนิยมเรียก "หลวงพ่อโต" และคนจีนเรียกว่า "หลวงพ่อซำปอกง" นั่นเอง
หลวงพ่อโตแห่งวัดพนัญเชิงถือเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา โดยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะอู่ทองตอนปลาย ขนาดหน้าตักกว้าง 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร และยังถือเป็นพระพุทธรูปโบราณคู่กรุงศรีอยุธยามาแต่แรกสร้างกรุงองค์พระประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวงทรงโรง

องค์หลวงพ่อโตมีการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ทั้งในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงซ่อมครั้งหนึ่ง รวมถึงรัชกาลที่ ๑ แห่งแผ่นดินรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะใหม่ทั้งองค์แล้วถวายพระนามว่า “พระพุทธไตรรัตนายก” ซึ่งนอกจากหลวงพ่อโตจะเป็นที่เคารพนับถือของชาวไทยแล้ว ชาวจีนก็นิยมเดินทางมากราบไหว้ขอพรท่านด้วยเช่นกัน

พระวิหารใหญ่

ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป
พระวิหารใหญ่
สถาปัตยกรรมภายนอกเป็นอาคารทรงโรง หลังคาจั่วสูงสองซ้อน 3 ชั้น ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ชายคาชั้นล่างคล้ายชายคาปีกนกแต่แคบสั้นกว่า มีเสาทรงสี่เหลี่ยมเรียงรอบสองข้างพระวิหารเพื่อรับชายคาด้านนอก ภายในมีการวางเสาเพื่อรองรับคานหลังคา ตกแต่งหัวเสาเป็นรูปดอกบัวสัตบงกชแบบอยุธยา มีหลักฐานในการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

ตามผนังทั้งสี่ด้านเจาะช่องเป็นซุ้มไว้พระพุทธรูปปางต่างๆ และพระพิมพ์จำนวน 84,000 องค์ หัวเสาประดับด้วยบัวกลุ่มสมัยอยุธยา ส่วนบานประตูแกะสลักเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมาเหนือลวดลายเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาที่งดงาม และที่ผนังวิหารหลวงนี้มีจิตรกรรมแสดงภาพขนาดเล็ก เป็นเรื่องราววิถีชีวิตของคนจีน เช่น ผู้ใหญ่สอนหนังสือเด็ก การค้าขาย ฯลฯ รวมทั้งวรรณกรรมของจีนเรื่อง “ไซอิ๋ว”

ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ
พระอุโบสถ
พระอุโบสถ เป็นอาคารทรงโรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาจั่วประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซ้อน 3 ตับ ด้านหน้าเป็นมุขลด มีบันไดทางขึ้นด้านข้าง 2 ด้าน มีประตูเข้าออก 2 ประตู บานประตูด้านนอกตกแต่งด้วยลายรดน้ำ ภาพเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภค บานประตูด้านในเขียนสีภาพเทพทวารบาลเชิญเครื่องสูง ประวัติการสร้างตำนานว่ามีขุนนางชั้นพระยาเซื้อสายมอญเป็นผู้สร้าง

พระพุทธรูปทอง (ซ้าย) พระพุทธรูปนาก (ขวา)
พระพุทธรูปทอง พระพุทธรูปนาก
ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 3 องค์ องค์กลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา ทางซ้ายเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยทำจากทองสัมฤทธิ์มีสีทองอร่ามใส ส่วนองค์ทางขวาเป็นพระพุทธรูปสุโขทัย เรียกว่าพระพุทธรูปนากเพราะมีสีออกแดงๆ

แต่เดิมพระพุทธรูปทองและนากถูกพอกด้วยปูนเพื่อมิให้ข้าศึกโขมยหรือทำลายไป จนกระทั่งในภายหลังเมื่อปูนกะเทาะออกจึงได้ทราบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำ และนำมาประดิษฐานอยู่ภายพระอุโบสถของวัด

พระวิหารเขียน
พระวิหารเขียน
พระวิหารเขียนที่ตั้งอยู่คู่กับพระอุโบสถนั้น ภายในมีพระพุทธรูปปั้นสมัยอยุธยาประดิษฐานอยู่ และมีความโดดเด่นตรงที่ผนังได้มีภาพจิตรกรรมเป็นภาพลายกระถางต้นไม้ต่างๆ จึงเป็นเหตุเรียกชื่อวิหารนี้ว่าวิหารเขียน ซึ่งภาพจิตรกรรมเหล่านี้เป็นภาพที่เขียนขึ้นใหม่เพราะของเดิมลบเลือนไปมาก

ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
"ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก" ตั้งอยู่ภายนอกบริเวณพระวิหารและพระอุโบสถ มีลักษณะอาคารเป็นเก๋งจีนก่ออิฐถือปูน โดยเป็นอาคาร 2 หลัง เชื่อมต่อกัน อาคารด้านหน้าเป็นอาคารชั้นเดียว เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไตรรัตนายกจำลอง ส่วนอาคารด้านหลังเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ซึ่งชาวจีนเรียกว่า “จู๊แซเนี้ย” ส่วนชั้นล่างมีรูปปั้นเทพเจ้าจีนให้สักการะกันได้

ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากนี้มักมีคนมาขอพรเรื่องความรักอยู่เสมอ ว่ากันว่าเจ้าแม่สร้อยดอกหมากจะบันดาลให้คำขอเกี่ยวกับความรัก การงาน และการขอบุตรธิดาเป็นไปตามที่ผู้มีศรัทธามากราบไหว้ขอพรจากท่าน เมื่อสมความปรารถนาแล้วมักนำผ้าแพร ไข่มุก เครื่องสำอาง เรือสำเภาจำลอง หรือเชิดสิงโตถวายเป็นการตอบแทนท่าน

ริมน้ำด้านหน้าวัดพนัญเชิง
ทำบุญไหว้พระกันเรียบร้อยแล้ว บริเวณริมน้ำภายในวัดพนัญเชิงก็มีที่นั่งให้พักผ่อน ให้อาหารปลา และนั่งชมวิวริมฝั่งแม่น้ำกันได้แบบชิลๆ



#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น