สภาผู้บริโภคชี้ค่าโดยสาร "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" 15-45 บาทต่อเที่ยวแพงเกินจริง เสนอ ครม.เคาะไม่เกิน 20 บาท เท่ารถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง เพื่อให้ทุกคนขึ้นได้ อย่าให้ซ้ำรอยสายสีเหลืองที่คิดราคาแพงเกินจริง ยันเพียงพอค่าบริหารจัดการเดินรถของเอกชน รัฐไม่ต่องสมทบไม่ขาดทุน
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีเปิดรถไฟฟ้าสายสีชมพู และเริ่มให้ประชาชนทดลองใช้ฟรีตั้งแต่ช่วง 15.00 น. ของวันที่ 21 พ.ย. ก่อนที่จะเก็บค่าโดยสารในวันที่ 18 ธ.ค. 2566 โดยกระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.เห็นชอบกำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท ว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูอัตราดังกล่าว เป็นราคาที่สูงเกินไปสำหรับผู้บริโภค ที่ต้องเผชิญปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน หากเปรียบเทียบกับการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วง ก.ค.ที่ผ่านมา จะพบว่าผู้ที่ต้องสัญจรในเส้นทางดังกล่าวได้ส่งเสียงสะท้อนถึงราคาค่าโดยสารที่กำหนดไว้ที่ 15-45 บาทต่อเที่ยวว่าแพงเกินกว่าจะแบกรับได้
จากข้อมูลของนักวิชาการของกรมราง และของ กทม.นั้นสรุปได้ว่า การกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูสูงสุดตลอดสายไม่เกิน 20 บาท เพียงพอกับค่าบริหารจัดการเดินรถของเอกชน โดยที่รัฐบาลไม่ต้องสมทบและไม่ขาดทุน เพราะสายสีชมพูมีเส้นทางวิ่งผ่านจุดเศรษฐกิจสำคัญ เช่น โรงเรียน รพ. แหล่งชุมชนต่าง ๆ สภาผู้บริโภคได้อ้างอิงผลการศึกษาของนักวิชาการที่ชี้ว่า ค่าใช้จ่ายเดินรถต่อคนต่อเที่ยวของผู้บริโภคระหว่างปี 2557–2562 มีต้นทุนเฉลี่ยต่อคนต่อเที่ยวโดยสารระหว่าง 10.10– 16.30 บาท ขึ้นกับจำนวนผู้โดยสารและค่าใช้จ่ายในแต่ละปี รวมถึงผลการศึกษาของ กทม.ในปัจจุบันที่ยืนยันว่า ค่าบริการเดินรถประมาณ 11 – 13 บาทต่อคนต่อเที่ยว" น.ส.สารีกล่าว
น.ส.สารีกล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของโครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบรางของกรมการขนส่งทางรางที่ระบุว่า ค่าเฉลี่ยต้นทุนงานระบบรถไฟฟ้าต่อผู้โดยสาร (30 ปี) ถ้าเป็น Heavy rail จะอยู่ที่ 14.31 บาท หรือ LRT หรือ Monorail จะอยู่ที่ 11.67 บาท เท่านั้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้คาดการณ์ว่า เมื่อเปิดทดลองให้นั่งฟรีจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมากกว่า 1 แสนคนต่อวัน และเมื่อเก็บค่าโดยสารแล้ว คาดว่าผู้โดยสารจะลดลงเหลือประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อวัน ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนรถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นบริการขนส่งสาธารณะอย่างแท้จริงที่ทุกคนขึ้นได้ทุกวันจริง สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้ ครม.พิจารณากำหนดค่าโดยสารสายสีชมพูในราคาสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเช่นเดียวกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสายสีม่วง
น.ส.สารีกล่าวว่า หากพิจารณา ข้อมูลกระทรวงคมนาคมพบว่าตลอดเวลา 1 เดือนของการใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท พบว่า มีค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้โดยสารระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงในช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.47 และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.84 และมีผู้โดยสารสูงสุดในวันที่ 27 ต.ค. 2566 ที่เพิ่มขึ้นถึง 34,018 คน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้โดยสารระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.72 และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.88 และมีผู้โดยสารสูงสุดในวันที่ 7 พ.ย. 2566 ผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นสูงสุด 76,926 คน จะเห็นได้ว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทมีผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ทำให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ และมีผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น จะลดค่าเดินทางด้วยรถยนต์ ประเมินมูลค่าการเงินทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเวลาในการเดินทาง ค่าความสุข และการลดความสูญเสียทางถนน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งสิ้น 79.35 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 952.23 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่คุ้มค่ามาก
"เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและภาคประชาสังคมได้รณรงค์ให้ “ขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” โดยให้รัฐตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ประชาชนเดินออกจากบ้านไม่เกิน 500 เมตรจะเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในเทศกาลต่างๆ การจราจรที่ติดขัด และปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ปัญหาโลกร้อนที่ยังไม่สามารถจัดการได้ ซึ่งโดยหลักการ “ใครก่อเหตุคนนั้นจ่าย” ผู้ที่ใช้รถยนต์ที่สร้างมลพิษอาจจะต้องรับผิดชอบต่อการเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของ PM 2.5 เช่นกัน" น.ส.สารีกล่าว