xs
xsm
sm
md
lg

มหากาพย์สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ตลิ่งชัน-บางกรวย ถูกเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ย้อนรอยมหากาพย์สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ตลิ่งชัน-บางกรวย ที่ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างก่อนหน้านี้ หลังอดีต ส.จ.ล่ารายชื่อชาวบ้านนับพันอุทธรณ์ศาลปกครอง พบฝั่งบางกรวยตลอดเส้นทางผ่านบ้านจัดสรรเพียบ

รายงาน

สืบเนื่องมาจากศาลปกครองกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ให้ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ตามที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และพวกรวม 42 รายเป็นผู้ฟ้องคดี

ในคำร้องระบุว่า สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้รับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนชุมชนชัยพฤกษ์ 33 และผู้ประกอบการเรือจ้าง ลงวันที่ 28 ม.ค. 2563 เนื่องจากผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ได้ออกใบอนุญาตก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ที่บริเวณชุมชนชัยพฤกษ์ 33 ไปเชื่อมต่อกับถนนฝั่งตรงข้ามซึ่งอยู่ในเขต ต.มหาสวัสดิ์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ

1. ไม่ได้รับอนุญาตให้เชื่อมต่อสะพานดังกล่าวกับถนนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร ให้ใช้พื้นที่คลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นโบราณสถาน

2. รูปแบบของปลายสะพานฝั่งซอยชัยพฤกษ์ 33 ซึ่งเป็นทางลาดได้ก่อสร้างเป็นทางโค้งหักศอกขวากระชั้นชิดบริเวณคอสะพาน ทำให้ถนนมุ่งชี้ตรงมายังประตูบ้านและถนนหน้าบ้านซึ่งเป็นถนนส่วนบุคคล อันมีลักษณะไม่ปลอดภัย

3. การดำเนินโครงการก่อสร้างสะพาน ทำประชาพิจารณ์เฉพาะพื้นที่ฝั่งนนทบุรี แต่ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนในฝั่งกรุงเทพมหานคร

4. ค่าระดับต่ำสุดของโครงสร้างสะพานช่วงกลางไม่เพียงพอให้เรือบริการประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ล่องไปมาในคลองมหาสวัสดิ์สามารถลอดผ่านได้

แม้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 42 รายและประชาชนในพื้นที่ได้เรียกร้องให้ระงับการใช้อำนาจของผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์แล้ว แต่ยังคงมีการก่อสร้างสะพานดังกล่าวต่อไปจนแล้วเสร็จ และเปิดใช้ในการสัญจร ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน


ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวชุมชนชัยพฤกษ์ 33 เพราะมีบริษัทเอกชนเข้ามาพัฒนาโครงการหมู่บ้านจัดสรร ก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เชื่อมระหว่างฝั่งจังหวัดนนทบุรีกับฝั่งกรุงเทพมหานคร เอื้อประโยชน์ให้หมู่บ้านจัดสรรชื่อดังกลายเป็นกรณีพิพาท เนื่องจากสร้างความเดือดร้อนเสียหาย มียานพาหนะเข้ามาวิ่งผ่านในชุมชนมากขึ้น ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรมมากมาย และไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อกิจการเดินเรือในคลองของชาวบ้าน เนื่องจากความสูงของสะพานไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ตกลงกันไว้ พื้นสะพานต่ำเกินไป ทำให้เรือโดยสาร เรือนักท่องเที่ยวไม่สามารถขับลอดผ่านไปมาได้ โดยเฉพาะในช่วงน้ำขึ้น เป็นการทำลายอาชีพของชาวเรือโดยตรง กระทั่งนำไปสู่การฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 เพื่อขอให้ศาลสั่งให้รื้อหรือทุบสะพานดังกล่าวออกไป


สำหรับคำพิพากษา สาระสำคัญระบุว่า คลองมหาสวัสดิ์เป็นโบราณสถานตามกฎหมาย ประกอบกับการที่บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ (กรุงเทพ) จำกัด ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ โดยเชื่อมโฉนดที่ดิน 2 แปลง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ กับที่ดิน 1 แปลงใน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เพื่อใช้เป็นทางสัญจรกับซอยชัยพฤกษ์ 33 ที่เป็นถนนสาธารณะ เป็นการก่อสร้างทางหรือถนนเพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบกใกล้โบราณสถาน ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบการขออนุญาตด้วย

ข้อเท็จจริงพบว่า บริษัทฯ ยังไม่ได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าว นอกจากจะมีผลต่อคลองมหาสวัสดิ์แล้ว ยังมีผลต่อการสัญจรและอาชีพของประชาชนที่ต้องอาศัยคลองดังกล่าวด้วย เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายสำหรับโครงการนี้จึงยังไม่อาจสั่งอนุญาตได้

หลังศาลปกครองกลางพิพากษา นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้ว สำนักการโยธาชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นว่า ขณะนั้นสะพานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวง ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง จึงไม่ต้องทำอีไอเอ ส่วนประเด็นคลองมหาสวัสดิ์ ตามที่กรมศิลปากรระบุว่าเป็นโบราณสถาน หากจะดำเนินการต้องขออนุญาตกรมศิลปากรนั้น สำนักการโยธาชี้แจงว่า คลองมหาสวัสดิ์แม้ประกาศเป็นโบราณสถาน แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมาย กทม.และสำนักการโยธารวบรวมข้อมูล เพื่อเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีต่อไป

ขณะที่นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ระบุว่า มีประเด็นการพิจารณาข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อน คือ ประเด็นกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานแห่งชาติ แม้คลองมหาสวัสดิ์จะมีลักษณะเป็นโบราณสถาน แต่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ส่วนกฎหมายว่าด้วยทางหลวงนั้น พบว่าเป็นการก่อสร้างสะพานโดยเอกชน เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงยกให้เป็นสาธารณะ โดยยังมิได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวง จึงไม่ใช่ทางหลวงตาม พ.ร.บ.ทางหลวง ซึ่งจะได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา นายโชติอนันต์ เลิศฤทธิ์ภูวดล หรืออดีต ส.จ.เป้ เป็นตัวแทนนำรายชื่อชาวบ้านกว่า 1,000 คน ยื่นต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ เพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลาง โดยต่างให้เหตุผลว่าสะพานแห่งนี้สร้างตั้งแต่ปี 2563 คนส่วนใหญ่ใช้สัญจรไปมา หากต้องรื้อสะพานนี้ ต้องอ้อมไปสะพานใกล้เคียงอีก 3 กิโลเมตร


สำหรับสะพานดังกล่าว บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ (กรุงเทพ) จำกัด เปิดทดลองให้ใช้สะพานชั่วคราว ระหว่างวันที่ 1-7 ก.พ. 2563 เพื่อการสำรวจข้อมูลด้านการจราจร ก่อนจะเปิดให้สัญจรไปมา ใช้ชื่อว่า สะพานรวมใจตลิ่งชัน-บางกรวย ลักษณะเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร เชื่อมระหว่างซอยชัยพฤกษ์ 33 แยก 4 ติดกับโรงน้ำแข็งทรัพย์ไทยวารี กับถนนซอยบางขนุน 1 ด้านหน้าโครงการเดอะซิตี้ ราชพฤกษ์-สวนผัก ไปออกถนนบางกรวย-จงถนอม บริเวณโรงพยาบาลบางกรวย

โดยพบว่าตลอดเส้นทางจากสะพานดังกล่าวถึงถนนบางกรวย-จงถนอม มีหมู่บ้านจัดสรรหลายโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ได้แก่ โครงการเดอะซิตี้ ราชพฤกษ์-สวนผัก, โครงการพลีโน่ ปิ่นเกล้า-จรัญฯ (3 โครงการ) โครงการเซนโทร ราชพฤกษ์-สวนผัก (2 โครงการ) โครงการแกรนด์พลีโน ส่วนโครงการของบริษัทอื่น อาทิ โครงการพีเว่ ราชพฤกษ์-สิรินธร โครงการเดอะ ธาม ราชพฤกษ์-สิรินธร ซึ่งพบว่าปากทางมีการขึ้นโลโก้ AP และโลโก้โครงการชัดเจน

ส่วนฝั่งกรุงเทพมหานคร พบว่าทางลงสะพานจะเป็นโค้งหักศอกไปออกซอยชัยพฤกษ์ 33 ออกถนนชัยพฤกษ์บริเวณทางโค้งหน้าวัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร หากตรงไปจะไปออกถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ ขึ้นทางพิเศษประจิมรัถยา (ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) ไปยังจตุจักรต่อไป รวมทั้งลอดใต้ทางรถไฟไปออกถนนบรมราชชนนีได้อีกด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น