xs
xsm
sm
md
lg

หายนะนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ มหาสมุทรแปซิฟิก หรือ บ่อน้ำทิ้งส่วนตัว?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สนธิ” ชี้ ญี่ปุ่นปล่อยน้ำทิ้งปนเปื้อนกัมมันตรังสีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเล เป็นโศกนาฏกรรมของโลกที่จะส่งผลต่อเนื่องยาวนานอาจถึงร้อยปี โดยมีมหาอำนาจอเมริกาและชาติตะวันตกเห็นดีเห็นงาม เพื่อดึงอยู่ปุ่นให้อยู่เป็นพวกต่อไป ขณะที่เอ็นจีโอนักปกป้องสิ่งแวดล้อมในโลกตะวันตกต่างพากันปิดปากเงียบสนิท



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงกรณีที่ญี่ปุ่นได้ปล่อยน้ำทิ้งปนเปื้อนกัมมันตรังสีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ลงทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกว่า เป็นการสร้างปัญหาร้ายแรงให้แก่โลกอีกครั้ง

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ (The Fukushima Daiichi) ของบริษัท TEPCO (Tokyo Electric Power Company) ได้เก็บน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีไว้ 12 ปี นับจากที่เกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และสึนามิเข้าถล่มเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 และได้ปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566


การที่ TEPCO ต้องใช้วิธีหมุนเวียนน้ำเพื่อควบคุมอุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงให้เย็นลง ส่งผลให้มีน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีเกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งรวมถึงน้ำใต้ดินและน้ำฝนที่ไหลซึมเข้ามาด้วย น้ำปนเปื้อนเหล่านี้จะถูกสูบออกและผ่าน กระบวนการกรองที่เรียกว่า Advanced Liquid Processing SystemหรือALPS ก่อนจะถูกนำไปเก็บไว้ในแท็งก์ขนาดใหญ่ราว 1,000 ถังซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ซึ่งทำให้คนหลายแสนคนต้องอพยพถิ่นฐานและไร้ที่อยู่อาศัย อีกทั้งชุมชนและพื้นที่การเกษตรและมหาสมุทรต้องปนเปื้อนกัมมันตรังสี

กระบวนการกรองน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่เรียกว่า Advanced Liquid Processing System หรือ ALPS
การตัดสินใจของญี่ปุ่น บนความเห็นแก่ตัวและไร้ความรับผิดชอบ ที่ญี่ปุ่นปฏิบัติการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเหมือนเป็น “บ่อน้ำทิ้งของเสีย” ส่วนตัว ที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศทางทะเล ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก เนื่องจากกระแสน้ำในมหาสมุทรนำมลพิษข้ามโลก คนทั่วโลกต่างกังวลและสูญเสียความเชื่อมั่นไว้วางใจในรัฐบาลญี่ปุ่น

นี่คือผลจากการตัดสินใจของรัฐบาล นายฟุมิโอะ คิชิดะ ภายหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวันอังคารที่ 22 สิงหาคมแล้ว นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายฟุมิโอะ คิชิดะ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าตั้งแต่ วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม เป็นต้นไป ญี่ปุ่นจะเริ่มปล่อยน้ำเสียกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยญี่ปุ่นมีแผนปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมภาพรังสีออกเป็นหลายเฟส โดย เฟสแรก เริ่มตั้งแต่ วันที่ 24 สิงหาคม 2566 จนถึงเดือนมีนาคม 2567 โดยการทยอยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมภาพรังสีครั้งนี้มีการประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปี

นายฟุมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น
หลังจากนายกฯ คิชิดะประกาศข่าวร้ายนี้ ทางจีนโดย นายวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชน วิพากษ์วิจารณ์โดยตรงถึงถ้อยแถลงของญี่ปุ่นเรื่องจัดการปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ไม่สนใจเสียงคัดค้านจากประชาคมโลกว่า“การกำจัดน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์ฟุกุชิมะถือเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยทางนิวเคลียร์

“ผลกระทบดังกล่าวไปไกลเกินขอบเขตของญี่ปุ่น และปัญหานี้ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวสำหรับญี่ปุ่นแต่อย่างใด นับตั้งแต่มนุษยชาติเริ่มใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อจุดประสงค์ทางสันติ ก็ไม่เคยมีแบบอย่างหรือมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลในการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทร"

ภาพ นายวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน
นอกจากนี้ทางจีนยังชี้ด้วยว่า “น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ” นี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก “น้ำเสียปกติที่ปล่อยมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไป”

ภาพวาด เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ แสดงความแตกต่างระหว่างน้ำเสียที่ปล่อยมาจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์กรณีทั่วไป (ภาพบน) กับ กรณีที่ฟุกุชิมะ ญี่ปุ่น (ภาพล่าง)
ความพยายามของญี่ปุ่นในการเปรียบเทียบทั้งสองแสดงให้เห็นถึงแนวทางที่ไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ และตั้งใจที่จะทําให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้าใจผิด และเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับหายนะต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและมนุษยชาติ

เพราะญี่ปุ่นปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนด้วยนิวเคลียร์ที่มีสาร 64 ชนิดจำนวน 1.3 ล้านตัน เทียบเท่ากับปริมาตรในสระว่ายน้ํามาตรฐาน 500 สระลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยสารไอโซโทปเช่น“ทริเทียม”ยากจะกำจัดได้เนื่องจากคุณสมบัติทางเคมี อาจอยู่นานกว่า 30 ปี หากบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน “ทริเทียม” เข้าไปในปริมาณสูงมากก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้


คำถาม คือญี่ปุ่นหมดปัญญาจัดการกับน้ําปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะจริง ๆ หรือ หรือญี่ปุ่นยังไม่ได้สํารวจวิธีการทางเลือกในการจัดการน้ําเสียกัมมันตภาพรังสีอย่างเต็มที่ ก่อนจะปล่อยลงมหาสมุทร? เพราะโดยทั่วไปแล้ว มี 5 แนวทางกำจัดไอโซโทปที่เป็นธาตุกัมภาพรังสี คือ

หนึ่ง - ทำการระเหยน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเป็นไอน้ำที่ถูกควบแน่นแล้วจัดเก็บกักต่อไป ซึ่งวิธีนี้ญี่ปุ่นไม่เลือกโดยอ้างว่าจะส่งผลต่อคุณภาพอากาศ

สอง - การรีไซเคิลด้วยกระแสไฟฟ้ามหาศาลด้วยวิธีอิเล็กโทรไลซิส แยกไอโซโทปออกจากน้ำ แต่ทําให้ญี่ปุ่นต้องใช้งบประมาณมหาศาล

สาม - ฝังกลบใต้ดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพดินของญี่ปุ่นและสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น

สี่ – เก็บกักน้ำเสียที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์ไว้ในถังขนาดใหญ่ แต่ต้องขยายพื้นที่จัดเก็บอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้าคือ TEPCO จําเป็นต้องลงทุนงบจํานวนมากในแต่ละปี

ห้า - ปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีนี้ลงสู่มหาสมุทร นี่เป็นวิธีที่ผิดจรรยาบรรณที่สุด แต่มีค่าใช้จ่ายเพียง 3,500 ล้านเยน (หรือราว 850 ล้านบาท) เท่านั้น


โดยในท้ายที่สุด ญี่ปุ่นกลับเลือก “แนวทางที่ห้า” ซึ่งผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง เนื่องจากเป็นการจัดลําดับความสําคัญบนพื้นฐานการคำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายการจัดการที่ต้นทุนต่ำ มากกว่าพิจารณาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมง ชื่อเสียง ความเชื่อมั่น และที่สำคัญที่สุด ความกังวลและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ถือเป็นความเห็นแก่ตัว ไม่รับผิดชอบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทางทะเล

แม้ว่าญี่ปุ่นจะกล่าวอ้างว่าได้กรองน้ำที่มีไอโซโทปกัมมันตภาพรังสีลงมหาสมุทรให้เจือจาง ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเหลือแค่“ทริเทียม”ซึ่งมีการเจือจางให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าน้ำดื่มทั่วไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 7 เท่า

การกล่าวอ้างประเด็นนี้ ถูกนักการเมืองญี่ปุ่นที่ไม่สํานึกผิดหยิบยกไปเป็นข้ออ้าง เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายทาโร อาโสะ ที่กล่าวอย่างไร้ยางอายว่า“การดื่มน้ำนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เราน่าจะปล่อยสิ่งนี้มานานแล้ว หากไม่มีปัญหา”

นายทาโร อาโซะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ช่วงปี 2551-2552 ปัจจุบันอายุ 82 ปี
ประเด็น :คำถามที่พิสูจน์ง่าย ๆ ว่าน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะปลอดภัยจริงหรือไม่ ?

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 - นายเกิ่ง ส่วง เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรจีนประจำสหประชาชาติตั้งคำถามดังนี้คือ


หนึ่ง ถ้าน้ำที่ถูกปล่อยออกมาปลอดภัยจริง เพราะมีการเจือจางให้ระดับ “ทริเทียม” ต่ำกว่ามาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก 7 เท่า โดยไม่มีสารกัมมันตรังสี หรือ สารอื่นปนเปื้อน ญี่ปุ่นก็เอาน้ำนี้ไปใช้ในการอุปโภค-บริโภค หรือ เพาะปลูกภายในประเทศสิ ไม่ต้องปล่อยลงมหาสมุทร

สอง ถ้าในน้ำมีสารกัมมันตรังสี หรือ สารอันตรายอื่น ๆ ปนเปื้อนและไม่ปลอดภัยญี่ปุ่นก็ต้องไม่ปล่อยน้ำเหล่านั้นลงสู่มหาสมุทร และแหล่งน้ำสาธารณะโดยเด็ดขาด!

คำพูดที่ไร้ความรับผิดชอบนี้ปลุกกระแสไม่พอใจมากต่อเพื่อนบ้าน เช่นเกาหลีใต้ โดยศาสตราจารย์ซอ คยองดุก แห่งมหาวิทยาลัยสตรีซองชิน ได้รณรงค์ทำโปสเตอร์แคมเปญออนไลน์ ตอบโต้คำกล่าวอ้างของนายทาโร่ อาโสะที่ว่าน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนั้นปลอดภัยสำหรับการดื่มเป็นภาพนายทาโร อาโซะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถือแก้วน้ำ แล้วมีคำพูดว่า “YOU DRINK FIRST !”


ทั้งนี้ นักชีววิทยาทางทะเลและผู้เชี่ยวชาญด้านมหาสมุทรได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยน้ำเสียกัมมันตภาพรังสีอย่างต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ สู่มหาสมุทรแปซิฟิก ผลที่ตามมาของการคายประจุไอโซโทปเป็นเวลานานกว่า 30 ปีนั้นซับซ้อน โดยมีประเด็นที่ต้องระวังดังนี้

1. ผลกระทบของระบบนิเวศ สารกัมมันตภาพรังสีสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารทะเล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์และระบบนิเวศต่าง ๆ สิ่งนี้สามารถทําลายสัตว์ทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งสายพันธุ์ที่สําคัญและความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น

2. การสะสมทางชีวภาพ ธาตุกัมมันตภาพรังสีอาจสะสมในปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลบางชนิดซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ส่งผลต่อความปลอดภัยของอาหารทะเลที่มนุษย์บริโภคได้


3. การตรวจสอบสิ่งแวดล้อมระยะยาว สําหรับการตรวจสอบระดับกัมมันตภาพรังสีในมหาสมุทร สิ่งมีชีวิตในทะเล และพื้นที่ชายฝั่งที่ครอบคลุมและต่อเนื่องเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

4. ผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์ผ่านการบริโภคอาหารทะเลที่ปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไอโซโทปและธาตุกัมมันตภาพรังสีอื่น ๆ ที่เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารทะเล

5. ผลกระทบข้ามโลก มลพิษกัมมันตภาพรังสีไม่ได้จํากัดอยู่ในเขตแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่กระแสน้ำในมหาสมุทรสามารถนํามลพิษในระยะทางไกล ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั่วโลก


6. ผลเสียระยะยาวจากการสัมผัสกับกัมมันตภาพรังสี จะส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลและสุขภาพของมนุษย์แน่นอน

เมื่อความจริงปรากฏเช่นนี้ ก่อให้ปฏิกิริยาต่อการกระทำผิดของญี่ปุ่น โดยประเทศใหญ่ ๆ ที่ต่อต้านอย่างหนักตั้งแต่แรกเริ่มแนวคิดปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีฟุกุชิมะลงมหาสมุทรแปซิฟิก

โดยมีเพียงจีนและรัสเซียเท่านั้น แต่ที่สร้างความกังวลญี่ปุ่นมากที่สุดคือจีน เนื่องจากบทบาทอํานาจทางเศรษฐกิจของจีนเหนือญี่ปุ่นค่อนข้างมาก สำนักงานศุลกากรจีนประกาศทันทีตั้งแต่ วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา สั่งห้ามอาหารทะเลทุกชนิดของญี่ปุ่นเข้าประเทศเพื่อปกป้องผู้บริโภคจีน แม้ว่านายกฯ ญี่ปุ่นจะใช้ช่องทางการทูตเรียกร้องจีนยุติการคว่ำบาตรอาหารทะเลญี่ปุ่นก็ตาม

ร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนประกาศแจ้งลูกค้าว่าทางร้านได้งดการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมดแล้ว
ทั้งนี้ ในแต่ละปีจีนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเป็นมูลค่ามากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17,580 ล้านบาท) ขณะที่รัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้ประกาศห้ามนําเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของญี่ปุ่น และรัฐบาลเขตปกครองพิเศษมาเก๊าได้สั่งห้ามผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นโดยตรง

ภาพการประท้วงของคนเกาหลีใต้ที่มีต่อญี่ปุ่น และเรียกร้องรัฐบาลเกาหลีใต้ปกป้องคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัย
เกาหลีใต้เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตัดสินใจของญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำเสียกัมมันภาพรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกประชาชนชาวเกาหลีใต้ออกมาเดินขบวนประท้วงแสดงความกังวลเดิมทีญี่ปุ่นตั้งใจจะปล่อยน้ำเสียปนกัมมันภาพรังสีในมหาสมุทรแปซิฟิกปี 2564แต่จากการต่อต้านจากจีนและเกาหลีใต้ต้องเก็บเอาไว้ก่อนจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำเกาหลีใต้จากนายมุนแจ-อินเป็นนายยุนซ็อก-ย็อลซึ่งกระทำตนเป็นสุนัขรับใช้ฝักใฝ่ญี่ปุ่นและอเมริกาท่ามกลางการประท้วงของประชาชนเกาหลีใต้ที่กดดันให้รัฐบาลแสดงจุดยืนหนักแน่นต่อการกระทำเห็นแก่ตัวโดยไม่รับผิดชอบ

นักประท้วงเกาหลีใต้ชูป้ายว่าเราประณามการกำจัดน้ำเสียนิวเคลียร์ของฟุกุชิมะลงในทะเลและเราคัดค้านการปล่อยน้ำเสียลงทะเลด้วยชีวิต

ภาพประธานาธิบดีไบเดนกับ คิชิดะนายกฯญี่ปุ่นและประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอลของเกาหลีใต้ที่แคมป์เดวิด ชานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ 19 สิงหาคม ก่อนญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำเสียฟุกุชิมะในวันที่ 24 สิงหาคม 2566
  • น้ำทิ้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะบทพิสูจน์การเมืองโลก “มือถือสาก ปากถือศีล”

เรื่องการทิ้งน้ำเสียผสมนิวเคลียร์ของฟุกุชิมะนั้นได้เป็นบทพิสูจน์ในการเมืองระดับโลกว่าเป็นการเมืองที่มือถือสากปากถือศีลการเมืองโลกได้เข้ามาปิดปากประเทศในยุโรปและกลุ่ม NGOด้านสิ่งแวดล้อมให้เงียบกริบทุเรศมากมั้ยท่านผู้ชมเอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประเทศตัวเองประชาชนตัวเองและประชาคมในโลกนี้ขาดความรับผิดชอบยกตัวอย่างเช่น

สหรัฐอเมริกา - ที่บอกตัวเองเป็นเจ้าโลกได้ไฟเขียวให้เรื่องร้ายแรงนี้ผ่าน เมื่อย้อนไปในปี 2564

นายแอนโทนี่ บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ยังถึงกับกล่าวชื่นชมญี่ปุ่นผ่านทวิตเตอร์ โดยอ้างว่าญี่ปุ่นมีความพยายามที่เปิดกว้างและโปร่งใส ในการจัดการกับน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ ด้วยเหตุนี้ทําให้ญี่ปุ่นได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2565 เพื่อแลกกับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นต่อยูเครนในสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โดย ล่าสุดนายคิชิดะ นายกญี่ปุ่นและประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอลของเกาหลีใต้ยังเดินทางไปร่วมประชุมไตรภาคีต้านจีนกับประธานาธิบดีไบเดนที่แคมป์เดวิด เมื่อ 19 สิงหาคม 5 วันก่อนที่ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงมหาสมุทร


ออสเตรเลีย - ที่มีอิทธิพลด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิรัฐศาสตร์ ในภูมิภาค Asia-Pacific และมีความสัมพันธ์ด้านผลประโยชน์เศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แม้รัฐบาลจะกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศทางทะเลและอาหารทะเล แต่ไม่หือไม่อือต่อกรณีนี้มากเท่าที่ควร

แคนาดา - โลกไม่เคยได้เห็นได้ยินรัฐบาลแคนาดาพูดเกี่ยวกับหายนะจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทร ทั้งๆที่ทูตด้านสิ่งแวดล้อมของแคนาดาเคยทำโปสเตอร์รณรงค์ระดับโลกให้กำจัดหลอดพลาสติกเพื่อปกป้องเต่าทะเลและสิ่งแวดล้อมทางทะเลตั้งแต่ปี 2018 แต่แคนาดาไม่แยแสว่าจะมีปลาตาย เต่าตายหรือคนจะตายผ่อนส่งจากการปล่อยน้ำปนเปือนนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทร เรื่องนี้อันตรายหรือมีความสำคัญน้อยกว่าหลอดพลาสติกหรือไม่?

ภาพรณรงค์ไม่ใช่หลอดพลาสติกเพื่อรักษามหาสมุทร
เยอรมนี – ที่ได้ชื่อว่ามีองค์กรเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า 8,000 แห่งและมูลนิธิที่เกี่ยวข้องอีก 2,000 แห่ง รวมทั้งมีพรรคกรีน(ซึ่งเป็นแนวร่วมของพวกกลุ่ม 3 นิ้วในไทยด้วย)ที่ชูนโยบายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและต่อต้านนิวเคลียร์ทุกกรณี แต่รัฐมนตรีต่างประเทศ นางอันนาเลนา แบร์บ็อค (Annalena Baerbock) กลับมองไม่เห็นประเด็นนี้ ขณะที่เธอประชุมทางวิดีโอกับสถาบันวิจัย Lowy Institute ซึ่งเป็น Think Tank ของออสเตรเลียเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นางแบร์บ็อคของเยอรมันไม่ได้พูดถึงญี่ปุ่นที่ปล่อยน้ำทิ้งที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีลงในมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่นเลย แต่เธอกลับพูดปั่นกระแสว่าจีนเป็นภัยคุกคาม ทั้ง ๆ ที่เยอรมนีได้ประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนกับจีนมหาศาล

ภาพนางอันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ในงานประชุมกับสถาบันวิจัย Lowy Institute
แต่ที่ตลกร้ายไปกว่านั้น ก็คือ หลังจากที่ญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำพิษลงสู่มหาสมุทรที่เป็นอันตรายต่อโลก ปรากฏว่าสื่อระดับโลกอย่าง BBC, CNN หรือ New York Times ยังคงนิ่งเงียบ มีเพียงรายงานข่าวแบบข่าวทั่วไป ทำราวกับว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย และเนื้อหาเสนอข่าวเชิงแก้ตัวเรื่องความไม่ปลอดภัยของการปล่อยน้ำมีพิษสารกัมมันตภาพรังสีลงมหาสมุทรแทนญี่ปุ่น โดยบอกความจริงไม่หมดถึงหายนะห่วงโซ่ระบบนิเวศมหาสมุทรโลกเพราะสื่อเหล่านี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ และการเอาชนะคะคานกันทางภูมิรัฐศาสตร์นั่นเอง

ภาพ Greta Thunberg นักประท้วงด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน
ที่น่าเสียดาย น.ส.เกรตา ทุนเบิร์ก นักประท้วงด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนชื่อดัง วัย 20 ปี ก็ดูเหมือนเธอจะไม่แยแสกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด เพราะเหตุผลง่าย ๆ ก็คือ เบื้องหลังการหาแสงของเธอคือพันธมิตรทางการเมืองชาติตะวันตกกับญี่ปุ่น ที่เธอสงวนจุดต่างไม่แสดงจุดยืนที่ไม่สอดคล้องกับการเมืองกระแสหลักฟากตะวันตก

ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN), องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF), โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)หรือ Greenpeace ก็เงียบกริบต่อการกระทำที่ร้ายแรงครั้งนี้ของญี่ปุ่น แต่กลับโวยวายเสียงดังเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเกิดจากประเทศพัฒนาในโลกตะวันตกได้ย้ายอุตสาหกรรมที่สร้างปัญหามลพิษไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกแทน


ในความเป็นจริง การตัดสินใจของญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรเป็นการกระทําที่เห็นแก่ตัวรุนแรงโดยรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อทำลายมนุษยชาติ พฤติกรรมนี้ขาดศีลธรรม ความซื่อสัตย์ หรือความรับผิดชอบใด ๆ

มีรายงานการรับรองจากองค์กรที่มีอำนาจระหว่างประเทศคือสำนักงานพลังปรมาณูระหว่างประเทศที่มีสำนักงานถาวรที่ฟุกุชิมะและนายราฟาเอลกรอสซีเป็นผู้อำนวยการใหญ่ได้ช่วยญี่ปุ่นไฟเขียวแผนการปล่อยของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 4กรกฎาคมได้เผยแพร่การรายงานการประเมินอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการปล่อยก็คือช่วยเหลือกัน สรุปแล้วแนวทางในการปล่อยน้ำผ่านการบำบัด ALPS ลงสู่ทะเลและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยเทปโก้ NRA และรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและจากการประเมินครอบคลุม IAEA ได้สรุปว่าการปล่อยน้ำบำบัด ALPS ตามที่เทปโก้วางแผนในปัจจุบันจะมีผลกระทบทางรังสีวิทยาเพียงเล็กน้อย

ภาพนายราฟาเอล กรอสซี่ ผอ.ใหญ่สำนักงานพลังงานปรมาณู IAEA ส่งมอบรายงานกับนายกคิชิดะเมื่อ วันที่ 4 กรกฎาคม 2566
งานนี้ทำให้นายกรอสซีถูกรายล้อมไปด้วยฝูงชนที่สนามบินเกาหลีใต้โดนนักข่าวเกาหลีตั้งคำถามตรงๆว่าเขารับสินบนมีข่าวว่าเขาได้รับสินบน 1 ล้านยูโรจากรัฐบาลญี่ปุ่นหรือไม่ เขาตอบอย่างไร? เขาใส่ตีนหมาวิ่งหนีออกจากสนามบินมีหน่วยรักษาความปลอดภัย 80 คนคุ้มกัน

.
พฤติกรรมของผู้อำนวยการ IAEA สะท้อนให้เห็นถึงการครอบงำของอเมริกาที่อยู่เบื้องหลังนายกรอสซีไม่กล้าขัดขืนเพราะกลัวจะโดนคุกคามเหมือนกรณีนายโฮเซมุสตานีที่ถูกถอดถอนจากผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการเทคนิคองค์กรห้ามอาวุธเคมีหลังจากที่เขาปฏิเสธที่จะยืนยันว่าอิรักครอบครองอาวุธเคมี

การปล่อยน้ำทิ้งปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะของญี่ปุ่นครั้งนี้ คือ โศกนาฏกรรมของโลก ที่จะส่งผลต่อเนื่องยาวนานไปอีกหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปี โดยมีผู้นําองค์กรระหว่างประเทศบางคน และ พันธมิตรชาติตะวันตก ต่างมีฉันทามติไฟเขียวเกี่ยวกับปัญหาการปล่อยมหาสมุทรน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นระหว่างการประชุมสุดยอด G7 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ฮิโรชิมา

ดังนั้น ผู้ที่ยังคงเชื่องมงายกับเรื่องเล่าด้านสิ่งแวดล้อม ที่เผยแพร่โดยชาติตะวันตกผ่านนักการเมือง สื่อ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ต้องรู้ว่าพวกชาติตะวันตกเพียงต้องการใช้ประเด็นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นอาวุธทางการเมือง เพื่อปราบปรามประเทศกําลังพัฒนา และเป็นเครื่องมือยุยงให้เกิดความไม่สงบทางสังคมในประเทศเหล่านั้น

ถ้าเป็นตัวจริงเสียงจริงรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำไมประเทศตะวันตก องค์กรสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน กลุ่มคนเหล่านี้ จึงนิ่งเงียบในประเด็นญี่ปุ่นปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงมหาสมุทร? สิ่งนี้พิสูจน์ได้เพียงว่าพวกเขามีเจ้านายคนเดียวกันอยู่ข้างหลังพวกเขานั่นเอง


ญี่ปุ่นกระทําผิด และสหรัฐฯ กับชาติตะวันตกสนับสนุน โดยสมรู้ร่วมคิดอย่างไร้ยางอายและไม่รับผิดชอบ เมื่อสหรัฐฯ ให้ไฟเขียวแก่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจะตอบสนองทางยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกอย่างไม่ต้องสงสัย

ศูนย์วิจัย GMR Helmholtz ของเยอรมนีชี้ให้เห็นว่าเมื่อญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นภาคตะวันออก และตอนเหนือของญี่ปุ่น สารกัมมันตภาพรังสีจะแพร่กระจายไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกส่วนใหญ่ภายใน 57 วัน

รายงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Tsinghua ระบุว่าน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นจะไปถึงชายฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่หลังจากผ่านไป 240 วัน และหลังจากผ่านไป 1,200 วัน น้ำจะไปถึงชายฝั่งอเมริกาเหนือและครอบคลุมแปซิฟิกเหนือทั้งหมด

วิธีจัดการต่อการก่อภัยพิบัติครั้งนี้โดยน้ำมือของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายคิชิดะและบริษัทโตเกียวอิเล็กทริก (เทปโก้)นายทุนใหญ่ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะคือทุกคนที่เดือดร้อนในแต่ละประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพความสูญเสียทางเศรษฐกิจความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินต้องฟ้องร้องเป็นคดีอย่างต่อเนื่อง


“เพื่อสั่งสอนลงโทษญ๊่ปุ่นที่เป็นประเทศที่ไร้ยางอายให้ชดใช้และคืนเงินที่ไร้หัวใจของพวกเขาในราคาที่ญี่ปุ่นจะรับไม่ไหวและประเทศต้องรับผลกระทบต่างๆต้องสั่งห้ามอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเข้าประเทศโดยเด็ดขาดผมรู้ท่านผู้ชมครับผมเองก็ชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นแต่การกระทำของญี่ปุ่นในครั้งนี้แม้กระทั่งชาวญี่ปุ่นเองทุกวันนี้เวลาไปซื้อปลาในห้างสรรพสินค้ายังเลือกซื้อปลาที่มาจากต่างประเทศไม่ใช่ปลาของญี่ปุ่นเอง

“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องแสดงจุดยืนของเราให้ชัดเจนญี่ปุ่นวันนี้เป็นภัยอันตรายที่ร้ายแรงต่อประชาคมโลกนายกรัฐมนตรีคิชิดะสมควรที่จะกระทำเซ็ปปูกุคือการคว้านท้องตัวเองเพื่อรับผิดชอบต่อการกระทำที่ทำผิดนี่ล่ะครับท่านผู้ชมเดินตามก้นของอเมริกาที่ใช้ภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองให้ญี่ปุ่นได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการแล้วให้ญี่ปุ่นทำตามที่ตัวเองต้องการในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์การเมืองทั้งในการสนับสนุนยูเครนให้ต่อสู้ต่อไปส่งความช่วยเหลือไปแล้วก็เป็นเครื่องมือเป็นสุนัขรับใช้ให้อเมริกาในการปิดล้อมประเทศจีน”
นายสนธิ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น