xs
xsm
sm
md
lg

พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ตำแหน่งนี้ ไม่ได้มีหน้าที่ “ช่วยยกกระเป๋าผู้โดยสาร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพ: แฟนเพจสายการบินไทยแอร์เอเชีย
ถ้าบินมาแล้วทุกสายการบิน ต้องรู้! พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ตำแหน่งนี้ ไม่ได้มีหน้าที่ “ช่วยยกกระเป๋าผู้โดยสาร” มาดูกันว่า พนักงานฯ มีหน้าที่อะไรบ้าง

สำหรับการโดยสารทางอากาศในเครื่องบินพาณิชย์นั้น นอกจากกัปตันผู้ขับเครื่องบินกับนักบินผู้ช่วยแล้ว ตำแหน่งที่ทผู้โดยสารทุกคนคุ้นเคยมากที่สุด คือ “พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน” หรือเรียกว่า “ลูกเรือ” ซึ่งถ้าเป็นผู้ชายเรียกว่า “stewards” (สจ๊วต) และผู้หญิง เรียกว่า “air hostesses” (แอร์โฮสเตส)

ภาพ: แฟนเพจสายการบินเวียดเจ็ท
จากประเด็นเรื่องวุ่นวายล่าสุดที่เป็นข่าวดัง https://mgronline.com/travel/detail/9660000076846 
กรณีนักท่องเที่ยวชาวไทยโวยวายสายการบินเวียดเจ็ท เหตุจากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินไม่ช่วยยกกระเป๋า

กรณีลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบอาชีพพนักงานต้อนรับฯ นักท่องเที่ยว จำนวนมากมาอธิบาย และสื่อสารกันหลายครั้ง แต่ล่าสุดก็ยังเกิดปัญหาขึ้นกับนักท่องเที่ยวไทย ที่อ้างว่า “บินมาแล้วทุกสายการบิน”

จึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับหน้าที่ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน มาย้ำเตือนให้อ่านกันอีกครั้งว่ามีอะไรบ้าง

ภาพ: การบินไทย
ข้อมูลจาก วิทยาลัยการจัดการอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ระบุว่า

หน้าที่หลักของการเป็นลูกเรือหรือแอร์โฮสเตส คือ การดูแลเรื่องความปลอดภัยบนเครื่องบินด้วยการตรวจเช็ค อุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ และดูแลให้ผู้โดยสารอยู่ในความปลอดภัยตลอดเวลาตั้งแต่เครื่องขึ้น จนถึงเครื่องลง เช่น การสาธิตอุปกรณ์ฉุกเฉิน การช่วยเหลือผู้โดยสารในกรณีฉุกเฉิน

สิ่งที่ต้องทำ

1. เริ่มจากการมารายงานตัวก่อนเวลาบินที่สำนักงาน (อาจจะประมาณ 1 ชั่วโมง หรือมากกว่า) เพื่อเตรียมพร้อมบิน โดยจะมีการตรวจเอกสาร ทำความรู้จักทีมลูกเรือที่จะทำงานร่วมกัน เตรียมรายละเอียด และแบ่งหน้าที่งาน รวมถึงทบทวนความรู้ด้านความปลอดภัยของลูกเรือในทีม
2. เดินทางไปที่เครื่องบินที่จะบินเพื่อเตรียมเครื่อง ก็จะมีการเช็คอุปกรณ์ฉุกเฉิน เช็คระบบต่างๆในห้องโดยสาร และเตรียมอุปกรณ์บริการ เช่น ขนม ของว่าง อาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ
3. เชิญผู้โดยสารขึ้นเครื่อง สาธิตการใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ บริการและอำนวยความสะดวกแก่ ผู้โดยสาร
4. ช่วยทำความสะอาดห้องโดยสารแต่ละส่วน หลังจากผู้โดยสารลงจากเครื่องหมดแล้ว
5. สิ้นสุดหน้าที่ของแต่ละวัน (หรือเที่ยวบิน) ด้วยการกลับสำนักงานเพื่อสรุปงานร่วมกับทีมลูกเรือที่บิน
ด้วยกัน


ส่วนข้อมูลจาก คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า

หน้าที่แรก เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุด คือ หน้าที่ดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร แอร์โฮสเตสต้องพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้โดยสารในทันทีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน (Emergency) และสามารถอธิบายวิธีเตรียมความพร้อมต่างๆให้ผู้โดยสารได้อย่างถูกต้องตามที่ได้รับการฝึกอบรมมา

หน้าที่ที่สอง คือ การบริการอาหารเครื่องดื่ม ดูแลเรื่องเอกสารเข้าประเทศ อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารพึงพอใจสูงสุดเมื่อเดินทางกับสายการบิน

หน้าที่ที่สาม คือ หน้าที่อื่นๆ เช่น การขายสินค้าที่ระลึก ขายสินค้าปลอดภาษี เขียนรายงานเหตุการณ์บนเที่ยวบิน และที่สำคัญคือ ทำหน้าที่เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของสายการบิน ประชาสัมพันธ์สายการบินและประเทศด้วย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หน้าที่ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ไม่มีข้อใดระบุถึงการต้องยกกระเป๋าให้ผู้โดยสารแต่อย่างใด ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้ที่เข้าใจในระเบียบดังกล่าว ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า หากพนักงานต้องช่วยยกกระเป๋าให้ผู้โดยสาร เครื่องบินลำหนึ่งมีผู้โดยสารนับร้อยคน พนักงานฯก็ต้องยกกระเป๋านับร้อยใบต่อการทำงานซึ่งเป็นไปไม่ได้ และยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline
กำลังโหลดความคิดเห็น