xs
xsm
sm
md
lg

หอมกลิ่นแยกดินแดน! จาก “ปาตานี” ถึง “ล้านนา” ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”

นั่นคือสิ่งที่บัญญัติเอาไว้ใน “มาตรา 1” ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมาความพยายามในการแบ่งแยกราชอาณาจักรไทยจะมีร่องรอยปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็มิได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่ประชาชนและมีแนวร่วมเท่าใดนัก จวบจนเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จึงได้เห็น “ปฏิบัติการแบ่งแยกราชอาณาจักรไทย” เป็นไปอย่างจริงจัง และมีสัญญาณที่ส่อเค้าให้เห็นถึงความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้

ตัวอย่างที่เป็นประจักษ์พยานให้เห็นชัดแจ้งและเป็นรูปธรรมครั้งล่าสุดที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแผ่นดินก็คือ กิจกรรมเปิดตัว “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” หรือ Pelajar Kebangsaan Patani หรือ Pelajar Bangsa ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ห้องประชุมศรีวังสา ตึกรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) พร้อมปาฐากถาพิเศษ เรื่อง “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” โดยมี รศ.ดร.มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกับ ผศ.วรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ว่าที่ ส.ส.ปัตตานี, นายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม, นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani และ นายฮูเซ็น บือแน เป็นผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ บุคคลที่ทางผู้จัดกิจกรรมเชิญมาร่วมงาน ยังมีนายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเปิดตัวเตรียมเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สุดท้ายนายรอมฎอนก็ไม่ได้เดินทางมาร่วมแต่อย่างใด

ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ ภายในงานมีการทำแบบสำรวจความคิดเห็นในลักษณะคล้ายบัตรลงคะแนนเลือกตั้งหรือบัตรลงประชามติ ระบุข้อความว่า “คุณเห็นด้วยกับ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” และมีช่องให้ใส่เครื่องหมาย ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยมี 2 ใบ และใบที่มีสีแดงมีหมายเหตุตอนท้ายว่า ใช้กับชาวปาตานีผู้ที่ลงทะเบียนว่า “อาศัยอยู่ถาวรในพื้นที่ปาตานี หรือ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.สงขลา เฉพาะ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย” ส่วนอีกใบใช้สำหรับคนนอกพื้นที่

แผนที่รัฐปาตานี (ที่ประกอบไปด้วย 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา)

 บัตรลงคะแนน หรือบัตรลงประชามติ ที่ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติจัดกิจกรรมจำลองการลงประชามติฟังเสียงคนชายแดนใต้ ที่เปิดให้ผู้ร่วมงานร่วมแสดงความคิดเห็นระหว่างการเปิดลงทะเบียน เมื่อ 7 มิ.ย. 2566
นอกจากนั้นในคำกล่าวเปิดตัวของกลุ่มดังกล่าวยังระบุด้วยว่า “เราเชื่อมั่นว่าการประชามติ คือสันติภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของ หลังสิ้นสุดสนธิสัญญากรุงเทพฯ พ.ศ.2452 หรือ Anglo-Siamese Treaty of 1909 ปาตานีตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามหรือรัฐไทยในปัจจุบัน ปรากฏความพยายามของชาวปาตานีแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดความต้องการทางการเมือง ความพยายามเหล่านั้นแสดงออกทุกยุคทุกสมัย ทั้งแสดงออกผ่านการใช้อาวุธเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านและแสดงออกผ่านการต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่ใช้อาวุธ หากแต่เราชาวปาตานีไม่สามารถกําหนดชะตากรรมของเราเองได้ ซึ่งเราเชื่อว่า สิทธิการปลดปล่อย สิทธิในการมีชนชาติ (Nation) รวมไปถึงสิทธิ ในการกําหนดชะตากรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวเราแต่เดิมในฐานะมนุษย์ และสามารถขับเคลื่อนต่อสู้ได้ในสังคมประชาธิปไตยโดยไม่ถูกจํากัด คุกคามโดยกฎหมาย การสร้างสันติภาพปาตานีให้เกิดขึ้น...”

แน่นอน ฝ่ายความมั่นคงย่อมไม่อาจอยู่เฉยได้ ซึ่งหลังจากรวบรวมหลักฐานเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน “พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค” แม่ทัพภาคที่ 4 c]tผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ได้มอบอำนาจให้ พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผอ.สกส. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า, พ.ต.อ.จารุวิทย์ เรืองชัยกิตติพร รอง ผอ.สกส. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ร.อ.พนมกรณ์ พันพรมมา ประจำกองคดี สกส. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการแจ้งความเอาผิดทางกฎหมายกับขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ พรรคการเมือง และนักการเมือง ภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเสวนาเรื่อง การกำหนดอนาคตตนเอง ในสันติภาพปาตานี และมีการจัดให้มีการจำลองการลงประชามติในการแบ่งแยกดินแดน

จากนั้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พล.ต.ต. อาชาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จว.ปัตตานี ก็ยืนยันสำทับว่า ได้รับคำร้องจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแล้ว และต่อไปจะมีการตั้งพนักงานสอบสวนที่มีความชำนาญการเพื่อตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมด เพื่อที่จะได้ดำเนินการออกหมายเรียกผู้ที่เข้าข่ายในการทำผิดกฎหมายเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

ปรากฏการณ์ดังกล่าว สังคมพุ่งเป้าไปที่ “พรรคการเมืองและนักการเมือง” ด้วยมีคำถามว่า มีส่วนรู้เห็นและให้การสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวหรือไม่ เพราะแม้ผู้จัดจะอ้างว่า เป็นการจัดเสวนาทางวิชาการ แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า มีกลิ่นอายทางการเมืองเข้ามาร่วมด้วย โดยเฉพาะ “พรรคก้าวไกล” และ “คณะก้าวหน้า” รวมถึง “พรรคเป็นธรรม” ที่เป็น 1 ใน 8 พรรคพันธมิตรร่วมจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี

แผนภาพการแบ่งแยกรัฐปาตานี ออกจากประเทศไทยจากเฟซบุ๊กเพจ The Patani ซึ่งมีเบื้องหลังคือ นายอาเต็ฟ โต๊ะโก หนึ่งในผู้ร่วมเวทีเปิดตัว “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ”

โปสเตอร์กิจกรรมเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ

 การปักธง สปป.ล้านนา หนึ่งในการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนล้านนาออกจากเชียงใหม่ เมื่อปี 2557

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขณะไปบรรยาย คือ “มองปัญหาชาติพันธุ์ในประเทศไทย” และถูกสังคมตั้งคำถามเรื่องแนวความคิดเกี่ยวกับการจัดการปัญหาชายแดนใต้ ซึ่งเจ้าตัวได้ออกมาปฏิเสธ
แม้ต่อมา 8 พรรคพันธมิตรจะออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ก็ชัดเจนว่ามีเชื้อและสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอยู่ ดังจะเห็นว่า พวกเขาใช้คำว่า “ปาตานี”สอดคล้องกับพวกที่ต้องการแยกดินแดนไม่ได้ใช้คำว่า “ปัตตานี”ที่เป็นชื่อจังหวัดในภาษาไทย โดย 8 พรรคได้จัดตั้งคณะทำงานย่อยพรรคร่วมรัฐบาล ว่าด้วยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีขึ้นมา และกำลังจัดทำแผนฉบับใหม่เพื่อใช้ในการนี้ เช่น ข้อเสนอให้ลดกำลังทหารในพื้นที่ลง ปรับโครงสร้างองค์การบริหารจังหวัดชายแดนใต้หรือศอ.บต. การยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) การยกเลิกกฎอัยการศึก การเลิกการบังคับใช้ พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ กฎหมายความมั่นคงภายใน รวมตลอดถึงแนวทางใหม่ในการเจรจาสันติภาพกับบีอาร์เอ็นที่ยังไม่บรรลุผลอีกด้วย
นอกจากนั้นยังเกิดคำถามต่อคณะก้าวหน้าซึ่งทราบกันว่า เป็นลมใต้ปีกของพรรคก้าวไกลที่นำโดย “เสี่ยเอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ได้ให้เงินสนับสนุนการจัดทำบอร์ดเกม “Patani Colonial Territory” ซึ่งเป็นบอร์ดเกมบิดเบือนประวัติศาสตร์โดยได้ระบุแผนที่ของอาณาจักรปัตตานีโดยรวม 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาเข้าไปด้วยนอกเหนือจาก 3 จังหวัดที่เป็นเป้าหมายคือยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เท่ากับขานรับต่อการเคลื่อนไหวของพวกต้องการแบ่งแบกดินแดนที่มี 4 อำเภอในจังหวัดสงขลารวมอยู่ด้วย ใช่หรือไม่

ทั้งธนาธรเคยตอบคำถามว่า หากได้บริหารประเทศคนปัตตานีที่เรียกร้องแยกประเทศได้เอกราชเป็นไปได้ไหมที่เขาจะได้สิ่งนี้โดยไม่ต้องทำสงครามโดยธนาธรตอบตอนหนึ่งว่า คงต้องมีการทำประชามติกันถ้าถึงที่สุด แต่ส่วนจะไปถึงวันนั้นได้ มันต้องสร้างความปลอดภัย พื้นที่ทางความปลอดภัย ถ้าพื้นที่มันไม่ปลอดภัยมันก็เท่านั้น มันต้องการันตีสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลให้ได้ มันจะไปถึงตรงนั้น ส่วนจะแยกดินแดนเป็นเอกราชหรือไม่เป็นเอกราช อันนี้ผมไม่ใช่คนตัดสินใจแน่ๆ

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือคำปราศรัยของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่กล่าวในการหาเสียงที่ จ.ปัตตานี ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าหมิ่นเหม่ที่จะเข้าข่ายการแสดงเจตนาแบ่งแยกดินแดนหรือไม่

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2566 ทาง กกต.จังหวัดนราธิวาส ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า “ปาตานีจัดการตนเอง” ที่พรรคเป็นธรรมใช้หาเสียง เป็นคำแสลง ที่หมิ่นเหม่ กับหน่วยงานด้านความมั่นคง แต่ในเวลานั้น นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรค ฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรค และ นายฮาฟิส ยะโกะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 3 จ.นราธิวาส พรรคเป็นธรรม ในเวลานั้นอ้างว่า ปาตานีจัดการตนเอง เป็นนโยบายจังหวัดจัดการตนเอง เป็นเพียงการกระจายอำนาจ โดยเราใช้คำว่า ‘ปาตานี’ เป็นภาพรวมเพื่อแทนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แน่นอนว่า ขบวนการแบ่งแยกดินมีอยู่จริงมานานแล้วในจังหวัดชายแดนใต้นับแต่พื้นที่บริเวณนั้นถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย ซึ่งในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนในชื่อต่างๆ ผุดขึ้นมามากมาย เช่น องค์กรปลดปล่อยสหปัตตานีหรือพูโล (Patani United Liberation Organization—PULO), ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายูปัตตานีหรือบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional) และ ขบวนการเพื่อเอกราชปัตตานีหรือเบอร์ซาตู (Bersatu) เป็นต้น องค์กรเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรที่ใช้กำลังอาวุธปลดปล่อยจังหวัดชายแดนใต้ทั้งสิ้น

เครือข่ายคนไทยรักชาติรักสถาบันเคลื่อนไหวคัดค้านการจัดกิจกรรมของ “คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA” เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา


สอดรับกับสิ่งที่ “พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์” รองแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะโฆษกกองทัพภาคที่ 4 ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ฝ่ายความมั่นคงจับตากลุ่มที่มีเป้าหมาย “แยกดินแดน” มาโดยตลอด โดยเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ใช้ช่องทางการทำประชามติเพื่อแยกดินแดน ตั้งรัฐเอกราชขึ้นใหม่

“จริงๆ แล้วกลุ่มเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งมี แต่บางครั้งสังคมก็มองภายนอกว่าเป็นการเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรง ด้วยการลอบยิง ลอบวางระเบิด แต่ในอีกด้านหนึ่งที่สังคมมองไม่เห็น ที่เหมือนเป็นภูเขาน้ำแข็ง ก็คือเรื่องของการต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้ทางความคิด สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เขาพยายามต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยระดับยุทธศาสตร์ก็คือเป้าหมายการแบ่งแยกดินแดน ฉะนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย และจำเป็นจะต้องเข้าดำเนินการทางกฎหมายต่อทุกพฤติกรรม ทุกการกระทำที่พบเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยไม่ละเว้น”โฆษกกองทัพภาคที่ 4 กล่าว

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลังๆ การเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนไม่ได้เกิดเฉพาะในพื้นที่ด้ามขวานเท่านั้น หากแต่ยังลุกลามไปจากภูมิภาคอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่ภาคเหนือกับการที่ “คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA” จัดงานงานเสวนาวาระรัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดหมายกระจายอำนาจ” เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมไอบิส หลังก่อนหน้านี้กำหนดจัดที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่ได้รับการอนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยด้วยเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งในพื้นที่เพราะมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการจัดงานดังกล่าวเช่นกัน

นอกจากนี้ เดิมที “คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA” ได้เชิญ “เสี่ยเอก-ธนาธร” มาร่วมงาน แต่ถูกยกเลิกไป และเชิญ “ชำนาญ จันทร์เรือง” มากล่าวปาฐกแทน

ถ้าหากสังเกต “วัน ว. เวลา น.” ก็จะเห็นว่าเกิดในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกับงานที่ภาคใต้ จังหวัดปัตตานีอย่างมีนัยสำคัญ นั่นก็คือเกิดขึ้นในเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

แหล่งข่าวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องการแบ่งแยกดินแดนล้านนาออกจากประเทศไทยในปัจจุบันคือเครือข่ายกลุ่มเสื้อแดงที่เคยเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557 โดยช่วงนั้นมีการขึ้นธงที่มีข้อความว่า “สปป.ล้านนา” ที่สันกำแพง ซึ่งปัจจุบันได้แยกออกมาตั้งกลุ่มใหม่และเคลื่อนไหวตามแนวทางของตัวเอง

ด้าน “พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์” อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่า งานเสวนาแห่ไม้ก้ำประชาธิปไตยมีการนำชาวเขาลงมาร่วมเคลื่อนไหว เพื่อให้สอดคล้องกับงานเสวนาแบ่งแยกดินแดนปาตานีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และหากดูจากรายชื่อผู้ร่วมเสวนาแห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย จะพบชื่อ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักเคลื่อนไหวที่มีความสนิทสนมชนิดเป็นเนื้อเดียวกับพรรคก้าวไกล ขณะที่เพจ “คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA” ซึ่งเป็นสื่อหลักในการประชาสัมพันธ์งานเสวนาแห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย และเป็นผู้จัดกิจกรรมเคลื่อนขบวนในเมืองเชียงใหม่เพื่อเรียกร้องให้ “ปลดแอกจังหวัดเชียงใหม่ออกจากสยาม” นำเสนอกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลอย่างต่อเนื่อง เช่น วันครบรอบ 100 วัน การเสียชีวิตของนายติรานนท์ เวียงธรรม หรือทนายเคน อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.แพร่ จากอุบัติเหตุชนแล้วหนี หรือเผยแพร่คลิปบรรยากาศการการพบปะเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นต้น

ขณะที่ “รศ.ธีระ วิสิทธิ์พานิช” ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไทยรักชาติรักสถาบัน (ภาคเหนือ) และอดีตคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า สมัยก่อนมีการเคลื่อนไหวเรื่องแบ่งแยกล้านนาบ้างประปรายแต่ไม่ชัด แต่ช่วง 2-3 ปีมานี้ชัดเจนมาก พูดกันแบบตรงไปตรงมาไม่พูดอ้อมๆ เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเป็นห่วงว่าหากเยาวชนนิสิตนักศึกษาฟังความด้านเดียวจะโน้มเอียงได้ และไม่แน่ว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจต่อเนื่องมาจากการเสวนา และลงประชามติแบ่งแยกดินแดนปาตานี ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดปัตตานีก่อนหน้านี้หรือไม่

ไม่เพียงแต่ “เสี่ยเอก-ธนาธร” เท่านั้น แต่ยังมีบุคคลสำคัญของพรรคก้าวไกลอย่าง “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีเสนอให้เปลี่ยนวันชาติเป็นวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งก่อให้เกิดคำถามใหญ่มากมายว่า “ทำเพื่อวัตถุประสงค์อันใด” ด้วยที่ผ่านมา “วันชาติ” ก็คือ วันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งขณะนั้นได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย ก่อนจะมีมติครม. ออกมา ขณะที่วันที่ 24 มิถุนายนคือวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อปี 2475 ทำให้อดเชื่อมโยงไปที่การผลักดันแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเป็นหัวหอกอยู่ในขณะนี้ว่า อยู่ในกระบวนการเดียวกัน หรือไม่ อย่างไร

“จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงมานาน พอเรื่องนี้เป็นประเด็นช่วงนี้จึงกลายเป็นในทางมุ่งหมายทางการเมือง ที่ต้องการใช้ทุกเรื่องสร้างประเด็น หรือด้อยค่าพรรคก้าวไกล หวังว่า กระบวนการดังกล่าวจะทำให้พรรคก้าวไกล ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในเรื่องวันชาติเป็นประเด็นที่หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ดีๆ วันชาติก็คือ วันที่ 24 มิถุนายน หลังจากนั้น ก็มีการรัฐประหารขึ้นและมีการเปลี่ยนวันชาติ สิ่งที่ตนกล่าวก็ไม่ได้แตกต่างจากหลายคนที่เป็นนักประวัติศาสตร์พูด แต่แน่นอนว่าเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาในการพูดคุย และจะทำได้จริงหรือไม่ต้องมีการพูดคุยกันในสังคม ไม่ใช่วาระที่ต้องพูดคุยกันในเร็วๆ นี้ ในระยะสั้น พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญในการเตรียมนโยบาย รวมไปถึงการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล และทำนโยบายต่างๆ ที่เราได้สัญญาไว้กับประชาชน”รังสิมันต์ โรม อธิบาย และย้ำว่า “เป็นมุมมองส่วนตัว”

ที่น่าสนใจก็คือแนวคิดของรังสิมันต์ โรมถูกคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักไม่น้อยจาก “พรรคเพื่อไทย” ที่วาดฝันจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน

ยกตัวอย่างเช่นนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ให้สัมภาษณ์ชัดถ้อยชัดคำว่า “วันชาติเป็นวันเดิมดีอยู่แล้ว เราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราจะมามองปัญหาการเปลี่ยนวันชาติทำไม ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น ประชาชนเลือกเรามาไม่ได้เลือกมาเพื่อทำให้เราทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เรามีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ยึดโยงประชาชน วันนี้เอาเวลาไปทำงานเพื่อปากท้องประชาชนดีกว่าจะได้อยู่เย็นเป็นสุข”

ถึงตรงนี้ สิ่งที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศต้องพิจารณาและตัดสินใจร่วมกันก็คือ

เห็นดีเห็นงามกับสิ่งต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่

เห็นดีเห็นงามกับการที่ “ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” หรือไม่

เห็นดีเห็นงามกับแนวความคิดเรื่องการทำประชามติแยกดินแดนในภาคใต้ หรือไม่ และเห็นด้วยกับเคลื่อนไหวในการแบ่งแยกล้านนา หรือไม่

เห็นดีเห็นงามกับการปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกด้านชาติพันธุ์ของคนในชาติ หรือไม่ ทั้งที่คนบนแผ่นดินไทยอยู่กันมาโดยไม่มีความขัดแย้งเรื่องนี้มาก่อน ทุก “เชื้อชาติ” ทุก “ศาสนา” ทุก “ความเชื่อ” ทุก “ภูมิภาค” อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาเป็นเวลาช้านาน

เห็นดีเห็นงามหรือไม่กับการที่ ส.ส.คนหนึ่งที่คิดจะเปลี่ยนแปลงวันชาติ หรือไม่

และเห็นดีเห็นงามกับการที่ “พรรคก้าวไกล” มีความชัดเจนในการแก้ไข “มาตรา 112” หรือไม่



กำลังโหลดความคิดเห็น