xs
xsm
sm
md
lg

การก่อกบฏของ ‘กลุ่มวากเนอร์’ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อ ‘สงครามยูเครน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


นักรบและยานเกราะของกลุ่มวากเนอร์ ปักหลักอยู่ใกล้ๆ กองบัญชาการของเขตทหารภาคใต้ของกองทัพรัสเซีย ในเมืองรอสตอฟ-ออน-ดอน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2023 ขณะที่การก่อกบฏของพวกเขากำลังอยู่ในช่วงเดือดระอุ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

How Wagner Group revolt will impact the Ukraine war
By JAMES HORNCASTLE

การก่อการลุกฮือด้วยกำลังอาวุธชั่วระยะสั้นๆ ของกลุ่มวากเนอร์ มีศักยภาพที่จะทำให้ ปูติน ได้หนทางสายหนึ่งสำหรับการยุติการสู้รบขัดแย้งในยูเครน และโบ้ยความผิดสำหรับความพ่ายแพ้ครั้งนี้ไปให้แพะรับบาปหลายๆ ตัวเป็นผู้แบกรับแทน

เยฟเกนี ปรีโกจิน (Yevgeny Prigozhin) ผู้นำของกลุ่มวากเนอร์ (Wagner Group) เปิดฉากก่อการกบฏต่อต้านรัสเซีย ภายหลังกล่าวหาว่ากองทัพรัสเซียจงใจโจมตีกองกำลังของเขา [1] ปรีโกจินเรียกร้องต้องการความยุติธรรม –และเพื่อให้ได้ตามที่เรียกร้องเขาใช้รูปแบบของการก่อการลุกฮือด้วยกำลังอาวุธ

ตามที่มีรายงานข่าวปรากฏออกมา ก่อนที่ ปรีโกจิน ยอมถอย ภายหลังการเจรจากับผู้นำของเบลารุส กลุ่มวากเนอร์ได้เข้าควบคุมสถานที่ทางทหารแห่งสำคัญๆ ในเมืองรอสตอฟ-ออน-ดอน (Rostov-on-Don) [2] ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของกองบัญชาการเขตทหารภาคใต้ (southern military district) ของรัสเซีย

เวลานี้มีรายงานว่า ปรีโกจิน กำลังหลบหนีไปยังเบลารุส โดยที่ (ตามข้อตกลงที่เขาทำกับ ปูติน เมื่อเขายอมถอยแล้ว) ทั้งเขาและพวกนักรบของเขาจะไม่ต้องเผชิญกับผลสะท้อนกลับจากการก่อกบฏในครั้งนี้ [3]

ภาพถ่ายจากวิดีโอที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน บนบัญชีเทเลแกรม ของบริษัทที่โยงใยกับเยฟเกนี ปรีโกจิน ผู้ก่อตั้งกลุ่มนักรบรับจ้าง “วากเนอร์ กรุ๊ป” โดยระบุว่า ปรีโกจินกำลังประกาศว่าตัวเขาอยู่ข้างในกองบัญชาการกองทหารเขตใต้ของรัสเซีย ในเมืองรอสตอฟ-ออน-ดอน และนักรบของเขาเข้าควบคุมที่ตั้งทางทหารแห่งต่างๆ ของเมืองนี้เอาไว้ได้แล้ว อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา ภายหลังการเจรจาที่มีประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก แห่งเบลารุส เป็นคนกลาง เขาตกลงที่จะลี้ภัยไปอยู่เบลารุส ขณะที่ทำเนียบเครมลินก็ตกลงที่จะไม่ตั้งข้อหากบฏกับเขา
การแสดงความเป็นศัตรูกันอย่างเปิดเผยระหว่างกลุ่มวากเนอร์ กับฝ่ายทหารของรัสเซีย ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย[4] ทั้งสองกลุ่มนี้มีการแสดงความคิดเห็นในทางหมิ่นประมาทกันมาหลายครั้งหลายครา รวมทั้งถึงขั้นมีการปฏิบัติการแบบเป็นปรปักษ์ใส่กันด้วยซ้ำ[5] นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว

ความพยายามที่จะก่อการลุกฮือด้วยกำลังอาวุธครั้งนี้ ต้นสายปลายเหตุสำคัญทีเดียวมาจากการที่ทั้งกองทัพรัสเซียและกลุ่มวากเนอร์ ต่างส่งกองกำลังอาวุธเข้าไปทำการสู้รบในยูเครน –และก็มาจากระบอบการเมืองซึ่งรองรับการปฏิบัติการต่างๆ ของพวกเขา

ทั้งสองฝ่ายเคยหนุนเสริมกันและกันมาก่อน

ความผูกพันเชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มวากเนอร์ กับกองทัพรัสเซีย มีอันพังครืนลงในทันทีภายหลังสงครามในยูเครนเริ่มต้นขึ้น แต่แท้ที่จริงแล้ว ก่อนหน้าการสู้รบขัดแย้งดังกล่าว กลุ่มวากเนอร์ได้ทำหน้าที่เดินหน้าผลักดันเติมเต็มผลประโยชน์ของรัฐรัสเซีย ด้วยศักยภาพของการเป็นองค์การที่ไม่ใช่องค์กรของทางการ

ในอาณาบริเวณที่รัสเซียมีผลประโยชน์ผูกพันอยู่อย่างเหนียวแน่น ทว่าต้องการที่จะจำกัดการเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงของตน อย่างเช่น ในซีเรีย [6] และที่ซูดาน [7] กลุ่มวากเนอร์นี้เองช่วยให้รัฐบาลรัสเซียมีเหตุผลซึ่งพอฟังขึ้นสำหรับการปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบ [8] ในการปฏิบัติการอะไรบางสิ่งบางอย่าง

ตัวอย่างเช่น รัสเซียใช้กลุ่มวากเนอร์ [9] ให้คอยช่วยเหลือในเวลาที่ตนเข้าผนวกดินแดนคาบสมุทรไครเมียเมื่อปี 2014 โดยที่ในปีเดียวกันนั้น รัสเซียยังใช้กลุ่มวากเนอร์อีกในภูมิภาคดอนบาส (Donbas region ประกอบด้วยแคว้นลูฮันสก์ และแคว้นโดเนตสก์) ทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งก็เป็นการเปิดทางให้กองทัพรัสเซียสามารถที่จะปฏิเสธได้อย่างสะดวกปากมากขึ้นว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วย [10] ดังนั้น กล่าวในอีกแง่หนึ่ง ขอบเขตพื้นที่การปฏิบัติการของกลุ่มวากเนอร์ และของฝ่ายทหารรัสเซียสามารถที่จะหนุนเสริมการบรรลุวัตถุประสงค์ของอีกฝ่ายหนึ่งได้

แต่เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้นมา พลวัตระหว่าง 2 กลุ่มนี้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตอนแรกๆ กองทัพรัสเซียคาดหวังว่าจะได้รับชัยชนะทางทหารอย่างรวดเร็วในยูเครน [11] ทว่าความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม พวกเขาประสบความเพลี่ยงพล้ำแทบจะตั้งแต่การสู้รบขัดแย้งครั้งนี้เริ่มเปิดฉากขึ้นมา ความเพลี่ยงพล้ำเหล่านี้อยู่ในระดับสาหัสจริงจังมาก จนกระทั่งบังคับให้รัสเซียต้องให้กลุ่มวากเนอร์เคลื่อนพลเข้ามา เพื่อให้การสนับสนุนโดยตรงแก่การปฏิบัติการของกองทัพ

ในภาพนี้ที่ถ่ายไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2014 จะเห็นธงชาติรัสเซียโบกอยู่บนเขาใกล้ๆ เมืองบัคชีซาไร บนคาบสมุทรไครเมีย  ทั้งนี้รัสเซียอาศัยกองกำลังวากเนอร์ด้วย ในการบุกยึดไครเมียเอาไว้ได้อย่างรวดเร็วในครั้งนั้น
รับบทบาทช่วยเหลือรัสเซียในยูเครน

พิจารณาจากแง่มุมทางการทหาร การที่รัสเซียนำเอากลุ่มวากเนอร์เข้าไปประจำการในยูเครน กลายเป็นการช่วยให้การปฏิบัติการของแดนหมีขาวที่นั่นมีเสถียรภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2022 นั้น กลุ่มวากเนอร์คือกองกำลังอาวุธที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างหนัก [12] ตรงกันข้ามกับกองทหารจำนวนมากในกองทัพรัสเซีย ในความเป็นจริงแล้ว ทหารของกลุ่มวากเนอร์คือผู้รับผิดชอบชัยชนะจำนวนมากในช่วงแรกๆ ของรัสเซีย เป็นต้นว่า ศึกชิงเมืองซีวีโรโดเนตสก์ (Battle of Sievierodonetsk) [13]

อย่างไรก็ดี การปฏิบัติการเหล่านี้ใช่ว่าจะสำเร็จได้โดยปราศจากต้นทุนค่าใช้จ่าย กลุ่มวากเนอร์นั้นประสบความสูญเสียในรูปของกำลังพลมีการบาดเจ็บล้มตายอย่างสำคัญทีเดียว จนกระทั่งไม่สามารถดำเนินยุทธวิธีเดิมๆ อย่างที่เคยใช้อยู่ของตนได้อีกต่อไป ตรงกันข้าม กลุ่มวากเนอร์ต้องริเริ่มใช้ความพยายามระดมเกณฑ์ทหารใหม่อย่างขนานใหญ่ รวมทั้งจากพวกเรือนจำของรัสเซีย [14] เพื่อทดแทนชดเชยกำลังของตนที่ร่อยหรอลง

นั่นทำให้เส้นแบ่งระหว่างกลุ่มวากเนอร์กับกองทัพรัสเซียพร่าเลือนลงไป ขณะที่ก่อนหน้านั้นองค์การทั้ง 2 นี้ [15] มีเขตพื้นที่อิทธิพลที่แบ่งแยกแตกต่างกันอย่างชัดเจน เวลานี้โดยสาระสำคัญแล้ว ทั้งคู่ต่างกำลังมีการดำเนินงานในฐานะที่เป็นกองกำลังอาวุธแบบแผนปกติ

การมีเขตพื้นที่อิทธิพลเหลื่อมซ้อนกันสืบเนื่องจากถูกบังคับด้วยความจำเป็น เฉกเช่นกรณีของกองทัพรัสเซียและกลุ่มวากเนอร์เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นกรณีพิเศษยกเว้นเลยสำหรับรัสเซีย [16]

ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นลักษณะประการหนึ่งของระบบการเมืองรัสเซียด้วยซ้ำไป และบุคคลหนึ่งเดียวที่เป็นผู้รับผิดชอบรื่องนี้ ก็คือ วลาดิมีร์ ปูติน

อิทธิพลของปูติน

เมื่อพูดกันจนถึงที่สุดแล้ว มีแต่ประธานาธิบดีรัสเซียผู้นี้เท่านั้นที่สามารถตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในหมู่ลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา สภาพเช่นนี้ไม่เพียงจำกัดความสามารถของพวกลูกน้องของปูตินที่จะสร้างฐานอำนาจขึ้นมาจนสามารถแข่งขันท้าทายลูกพี่ได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความสำคัญของ ปูติน [17] ในระบบการเมืองเช่นนี้อีกด้วย

มิติเช่นนี้ของระบบการเมืองรัสเซียเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพสูงมากในยามสันติ ตราบเท่าที่เป้าหมายคือเพื่อให้ ปูติน สามารถรักษาอิทธิพลและอำนาจของเขาเอาไว้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่ปกคลุมด้วยความขัดแย้งหรือกระทั่งสงครามระเบิดขึ้นมา การปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเหลื่อมซ้อนกันของกลุ่มต่างๆ เช่นนี้ สามารถที่จะกลายเป็นจุดอ่อนข้อบกพร่องขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย [18]

ภาพของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ปรากฏอยู่บนจอมอนิเตอร์ ขณะเขากล่าวปราศรัยกับประชาชนทั่วประเทศเมื่อวันเสาร์ (24 มิ.ย.) ภายหลัง เยฟเกนี ปรีโกจิน เจ้าของบริษัทนักรบรับจ้าง กลุ่มวากเนอร์ ประกาศจับอาวุธก่อกบฏ
ในช่วงก่อนหน้าที่รัสเซียจะเข้ารุกรานยูเครน หลักฐานแบออกมาให้เห็นชัดๆ แล้วว่า พวกลูกน้องของ ปูติน ไม่ได้จัดเตรียมภาพอันแม่นยำถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับสมรรถนะของกองทัพยูเครนและกองทัพรัสเซีย เสนอให้เขาได้รับรู้รับทราบ [19]

ระหว่างที่เกิดการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ สภาพเช่นนี้ย่อมหมายความว่าความร่วมมือประสานงานกันระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ที่แข่งขันกันอยู่ –ในกรณีนี้ก็คือระหว่างกองทัพรัสเซีย กับพวกกองกำลังกึ่งทหารทั้งหลาย— อย่างเก่งที่สุดก็มีเพียงในนามเท่านั้น โดยในฉากทัศน์การสมมติสถานการณ์ระดับที่เลวร้ายที่สุดนั้น ความตึงเครียดเหล่านี้สามารถนำไปสู่การขัดแย้งกันอย่างเปิดเผย [20] ขึ้นมา อย่างที่เราเพิ่งได้เห็นว่าเกิดขึ้นแล้วระหว่างกลุ่มวากเนอร์กับกองทัพรัสเซีย

ขณะที่พายุรุนแรงลูกนี้ดูเหมือนพัดผ่านตัว ปูติน ไปแล้วในขณะนี้ แต่กลุ่มวากเนอร์ก็จะเป็นเพียงตัวอย่างที่สำคัญโดดเด่นที่สุดของความไม่พอใจต่อรัสเซีย ซึ่งกำลังคุกรุ่นอยู่ในหมู่กองกำลังกึ่งทหารทั้งหลายเท่านั้น

หนทางหลบหนีจากสถานการณ์สำหรับปูติน?

รัมซัน คาดีรอฟ (Ramzan Kadyrov) ผู้นำชาวเชชเนียซึ่งบังคับบัญชากองกำลังกึ่งทหารกลุ่มของตนเองที่มีกำลังพลราวๆ 12,000 คน เคยพูดออกมาก่อนหน้านี้ถึงปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ระหว่างกองกำลังของเขากับกองทัพรัสเซีย [21]

เป็นสิ่งสำคัญที่ควรต้องตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ขณะที่ ปูติน ดูเหมือนประณามกลุ่มวากเนอร์ ในตอนที่เขากล่าวปราศรัยกับประชาชนทั่วประเทศช่วงที่การกบฏของ ปรีโกจิน ยังกำลังดำเนินอยู่ แต่เขากลับไม่ได้เอ่ยชื่อหัวหน้าของกลุ่มนี้ออกมาตรงๆ เลย [22] การงดเว้นเช่นนี้แน่นอนทีเดียวว่าเป็นความตั้งใจ มันทำให้ ปูติน สามารถรักษาทางเลือกต่างๆ ให้เปิดกว้างเอาไว้ แล้วจะตัดสินใจเลือกทางไหนก็ขึ้นอยู่กับความสำเร็จ –หรือความล้มเหลว –ในการก่อกบฏของปรีโกจิน

การก่อการลุกฮืออายุสั้นๆ คราวนี้ยังคงสามารถที่จะกลายเป็นจุดพลิกผันของสงครามในยูเครนได้ ทว่ามันจะเปลี่ยนแปลงการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ไปอย่างไรนั้นยังไม่มีความแน่นอน

ชายผู้หนึ่งปลดแผ่นโปสเตอร์ที่เขียนข้อความภาษารัสเซีย เชิญชวนให้เข้าร่วมกับกลุ่มวากเนอร์ ซึ่งติดอยู่ที่เมืองเซนต์ปิเตอร์สเบิร์ก, รัสเซีย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ขณะที่การลุกฮือด้วยกำลังอาวุธของนักรบรับจ้างกลุ่มนี้กำลังอยู่ในช่วงร้อนระอุ
อันที่จริง ถ้าหากมันยืดเยื้อยาวนานกว่านี้ การกบฏคราวนี้ก็มีศักยภาพสำหรับที่ ปูติน จะใช้เป็นหนทางหนึ่งในการยุติการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ โดยที่ยังคงสามารถรักษาหน้าเอาไว้ได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ก่อนที่การสู้รบขัดแย้งจะเปิดฉากขึ้นมา ปูติน ทราบดีอยู่แล้วว่าถ้าหากต้องประสบความพ่ายแพ้ในยูเครน เขาจะไม่สามารถแบกรับความเสียหายและผลพวงต่อเนื่องอันหนักหนาสาหัสที่ติดตามมา [23]

ทีนี้ถ้าเขาสามารถที่จะโบ้ยความผิดสำหรับความพ่ายแพ้นี้ไปยังแพะรับบาปสักตัวหนึ่งหรือกระทั่งหลายๆ ตัว –อย่างเช่นกองกำลังกลุ่มวากเนอร์ หรือกองกำลังกึ่งทหารกลุ่มอื่นๆ ซึ่งยังคงกำลังเรียกร้องสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้รัสเซีย— มันก็อาจกลายเป็นการเสนอทางออกให้แก่ตัวเขาชนิดที่ไม่ยุ่งยากลำบากอะไรนัก

แต่ไม่ว่าอย่างไร ยังคงเป็นไปได้ที่การก่อกบฏครั้งนี้อาจจะกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจับกลุ่มรวมตัวเชิงอำนาจกันใหม่ในหมู่ผู้ใต้บังคับบัญชาของปูติน กล่าวได้ว่าเขากำลังอยู่ในช่วงที่อ่อนแอที่สุดช่วงหนึ่ง [24] ของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขานับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2000 ทีเดียว ทว่าเขาจะไม่ยอมสละทอดทิ้งอำนาจการควบคุมไปอย่างง่ายๆ หรอก

เพื่อรักษาอิทธิพลของเขาเอาไว้ ปูตินจะพิจารณาความเป็นไปได้ทุกๆ อย่างเพื่ออ้างสิทธิที่เขาจะต้องมีฐานะครอบงำเหนือรัสเซียเอาไว้ต่อไปอีก โดยที่การกระทำของเขา ย่อมจะต้องส่งกระทบโดยตรงไปถึงสงครามในยูเครน

เจมส์ ฮอร์นคาสเซิล เป็นรองศาสตราจารย์ และผู้ครองเก้าอี้ศาสตราจารย์เอดเวิร์ด และเอมิลี แมควินนีย์ ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Edward and Emily McWhinney Professor in International Relations), มหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ (Simon Fraser University) มหานครแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา

(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/what-the-wagner-group-revolt-in-russia-could-mean-for-the-war-in-ukraine-208428

เชิงอรรถ
[1]https://kyivindependent.com/prigozhin-accuses-russian-army-of-attacking-wagner-threatens-to-respond/
[2]https://www.theguardian.com/world/2023/jun/24/wagner-chief-claims-to-have-seized-military-sites-in-rostov-as-moscow-implements-anti-terror-measures
[3]https://www.nytimes.com/live/2023/06/24/world/russia-wagner-prigozhin-ukraine-news
[4]https://theconversation.com/the-battle-of-bakhmut-exposes-russias-fault-lines-201254
[5]https://www.theguardian.com/world/2023/jun/05/wagner-group-release-video-of-captured-russian-commander
[6]https://www.bbc.com/news/world-europe-43167697
[7]https://www.theatlantic.com/international/archive/2018/08/russian-mercenaries-wagner-africa/568435/
[8] https://www.businessinsider.com/russian-mercenaries-dying-in-syria-2018-2
[9] https://news.sky.com/story/revealed-russias-secret-syria-mercenaries-10529248
[10]https://www.theguardian.com/world/2014/aug/15/russia-denies-ukraine-vehicles-military
[11] https://www.pbs.org/newshour/world/giving-up-on-a-quick-victory-russia-shifts-focus-to-ukraines-east
[12] https://theconversation.com/the-battle-of-bakhmut-exposes-russias-fault-lines-201254
[13]https://www.understandingwar.org/backgrounder/russian-offensive-campaign-assessment-june-23
[14]https://www.theguardian.com/world/2023/feb/10/wagner-convict-soldiers-return-from-ukraine-russia-mercenary-group
[15] https://theconversation.com/the-battle-of-bakhmut-exposes-russias-fault-lines-201254
[16] https://www.routledge.com/Russian-Political-War-Moving-Beyond-the-Hybrid/Galeotti/p/book/9780367731755
[17] https://www.foreignaffairs.com/articles/russian-federation/2022-02-04/bully-bubble
[18] https://apps.dtic.mil/sti/citations/ADA414981
[19]https://www.washingtonpost.com/world/interactive/2022/russia-fsb-intelligence-ukraine-war/
[20]https://www.theguardian.com/commentisfree/2023/jun/09/russian-armed-forces-infighting-yevgeny-prigozhin
[21] https://www.newsweek.com/putin-struggling-control-conflicts-allies-kadyrov-prigozhin-1755951
[22] https://www.bbc.com/news/live/world-europe-66006142
[23] https://www.aljazeera.com/news/2022/5/7/putin-believes-he-can-not-afford-to-lose-ukraine-war-cia-chief
[24] https://www.msn.com/en-us/news/other/putin-is-at-risk-of-losing-his-iron-grip-on-power-the-next-24-hours-are-critical/ar-AA1cYnQW
กำลังโหลดความคิดเห็น