xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าแผนแบ่งแยกปาตานี “ฮ่องกงโมเดล” ผสม “ติมอร์” รอยเท้าและเป้าประสงค์ของ “ก้าวไกล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สนธิ” ตีแผ่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ใช้ “ฮ่องกงโมเดล” ผสมผสาน “เอกราชติมอร์” ภายใต้การสนับสนุนของพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมบางพรรค ชูแนวทาง “กำหนดอนาคตตนเอง” ใช้คำ “เจรจาสันติภาพ” แทน “พูดคุยสันติสุข” เป็นสัญญาณเกี้ยเซียะกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ไม่นับรวมความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ล้วนเป็นโรดแมปสู่ความขัดแย้ง แตกแยก ไม่ได้ “หอมกลิ่นความเจริญ” ตามที่จินตนาการ



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงแผนการขบวนการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยภายใต้การสนับสนุนของพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งมีความชัดเจนยิ่งขึ้นจากการจัดงานเปิดตัว “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” ที่มีเบื้องหลังเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน เมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี โดยมีจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” โดย มีการประกาศเรื่องการทำประชามติเพื่อแบ่งแยกดินแดน หรือ รัฐปาตานี ซึ่งมีว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคอยู่เบื้องหลัง นำโดยหัวขบวนคือพรรคก้าวไกลตามมาด้วยพรรคประชาชาติและพรรคเป็นธรรม


สำหรับ บุคคลที่ทางผู้จัดกิจกรรมเชิญมาร่วมงานมี นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเปิดตัวเตรียมเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก่อนเริ่มงาน นายรอมฎอน กลับปฏิเสธว่าติดงานด่วน ทำให้ไม่ได้เดินทางมาร่วมแต่อย่างใด

นายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ซึ่งเมืองวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2566  นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม ลงนามมติปลด นายฮากิม โดยอ้างว่าคุณสมบัติไม่เหมาะสม หลังกรณีประชามติกำหนดชะกรรมตนเอง ณ ม.อ.ปัตตานี เป็นการแบ่งแยกดินแดน โดยอ้างว่าสร้างความเข้าใจผิดให้สังคม

ส่วนพรรคประชาชาติ ส่ง ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.ปัตตานี เข้าร่วมสัมมนา

หลังจบงานมีการถอดเทปสิ่งที่ทั้งสองคนพูดบนเวทีเสวนา ปรากฏว่าแสดงท่าทีสนับสนุน “การกำหนดอนาคตตนเอง” หรือ “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” อย่างคึกคึก แข็งขัน ถึงขั้นรับรองว่าเป็น “นโยบายพรรค” ของทั้ง 2 พรรคด้วยซ้ำไป


ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2566 ทาง กกต.จังหวัดนราธิวาส ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า "ปาตานีจัดการตนเอง" ที่พรรคเป็นธรรมใช้หาเสียง เป็นคำแสลง ที่หมิ่นเหม่ กับหน่วยงานด้านความมั่นคง แต่ในเวลานั้น นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรค ฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรค และ นายฮาฟิส ยะโกะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 3 จ.นราธิวาส พรรคเป็นธรรม ในเวลานั้นอ้างว่า ปาตานีจัดการตนเอง เป็นนโยบายจังหวัดจัดการตนเอง เป็นเพียงการกระจายอำนาจ โดยเราใช้คำว่า ‘ปาตานี’ เป็นภาพรวมเพื่อแทนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แม้จะพยายามแก้ตัวไปน้ำขุ่น ๆ แต่หลังเลือกตั้งพอจะจัดตั้งรัฐบาล ความจริงก็ปรากฎชัดว่าพรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรม รวมถึงพรรคประชาชาติ พลิกลิ้นกลับไปร่วมเวทีแสดงความประสงค์ในการจะทำประชามติแบ่งแยกดินแดน โดยมีความพยายามจะตั้ง“รัฐปาตานี” ขึ้น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ของราชอาณาจักรไทยอย่างชัดเจน

แผนที่รัฐปาตานี (ที่ประกอบไปด้วย 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา) ซึ่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มี 3 พรรคการเมืองว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลหนุนหลัง

แผนภาพการแบ่งแยกรัฐปาตานี ออกจากประเทศไทยจากเฟซบุ๊กเพจ The Patani ซึ่งมีเบื้องหลังคือ นายอาเต็ฟ โต๊ะโก หนึ่งในผู้ร่วมเวทีเปิดตัว “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” ที่มีเบื้องหลังเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ และ มีการจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี”


เบื้องหลัง “ปาตานีโมเดล”

ว่ากันถึงเรื่องความพยายามในการปลุกปั่นประกาศเอกราชของ “รัฐปาตานี” แล้ว หากมองย้อนไปดูภาพในปี 2562 หรือเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งนายธนาธร พบกับ นายโจชัว หว่อง แกนนำม็อบฮ่องกงต่อต้านรัฐบาลปักกิ่ง ที่เกาะฮ่องกง เราก็จะพบเห็นร่องรอยอะไรหลาย ๆ อย่างที่เชื่อมโยงกัน

กล่าวคือ บนเวที Open Future Forum เมื่อ วันที่ 5 ตุลาคม 2562 ซึ่งจัดขึ้นโดยนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ที่เกาะฮ่องกง นายธนาธรไปขึ้นเวทีเดียวกับนายโจชัว หว่องแกนนำนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ซึ่งต่อมากลายเป็นนักโทษ ถูกจำคุกในหลายต่อหลายคดี รวมถึงการข้อหาเรียกร้องประชาธิปไตย แต่แฝงไว้ด้วยการประกาศเอกราชแบ่งแยกฮ่องกงจากการปกครองของจีน โดยเรียกร้องให้อังกฤษ กับ สหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซง


วันที่ 10 ตุลาคม 2562 โฆษกสถานทูตจีนฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กล่าวเตือนนักการเมืองไทย (ซึ่งจริงๆ ก็คือ นายธนาธร) กรณีมีท่าทีเชิงสนับสนุนกลุ่มที่คิดจะแบ่งแยกฮ่องกงออกจากจีน และให้ระมัดระวังว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทบมิตรภาพจีน-ไทย

การพบกันระหว่างนายธนาธร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส. และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับ นายโจชัว หว่อง แม้ในเวลาต่อมานายธนาธร เมื่อถูกสถานทูตจีนประจำประเทศไทยออกมากล่าวเตือน จนทำให้เจ้าตัวต้องโร่ออกมาชี้แจงว่า ที่ตนเองได้เจอนายโจชัว หว่อง ที่ฮ่องกงนั้น พบกันเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น

“นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมพบปะกับ โจชัว หว่อง ผมไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดๆ ในฮ่องกง และไม่มีเจตนาที่จะทำในอนาคต ภารกิจของผมและพรรคอนาคตใหม่คือการสร้างประชาธิปไตยและความก้าวหน้าของสังคมไทย” นายธนาธรระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว และว่า

“รูปถ่ายระหว่างผมกับโจชัว หว่อง เพียงภาพเดียวถูกนำมาขยายความต่อเกินความจริง โดยปราศจากหลักฐานยืนยันใดๆ สื่อ, กลุ่มคนบางกลุ่ม, รวมถึงผู้นำกองทัพ พยายามเชื่อมโยงผมกับความไม่สงบในฮ่องกงเพื่อสร้างความเกลียดชังในสังคมไทย ผมขอให้ทุกท่านรับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และขอยืนยันอีกครั้งว่าเราสร้างพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาด้วยความปรารถนาดีต่อประเทศ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันประเทศสู่ประชาธิปไตย, สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม และส่งต่อสังคมที่ดีกว่านี้ให้แก่คนรุ่นต่อไป” นายธนาธรระบุ


แม้จะแก้ตัวเช่นนั้น แต่เมื่อไปเปิดฟังคลิปย้อนหลัง ที่นายธนาธรพูดบนเวทีที่ฮ่องกง ก็จะถึงบางอ้อ เพราะว่า นอกเหนือจากการที่นายธนาธรจะถ่ายรูปคู่และสนทนากับนายโจชัว หว่อง ที่ฮ่องกงแล้ว บนเวทีเสวนานายธนาธรยังกล่าวยอมรับด้วยว่าเหตุการณ์ประท้วงที่ฮ่องกง ตั้งแต่เมื่อปี 2557 นั้นถือเป็น “แรงบันดาลใจ” ในการตั้ง “พรรคอนาคตใหม่” (ซึ่งในปัจจุบันก็คือ พรรคก้าวไกล)เสียด้วย

นายธนาธรพูดไว้ที่ฮ่องกงเมื่อเดือนตุลาคม 2562แปลเป็นไทยว่า“สิ่งที่เกิดขึ้น ในฮ่องกงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเราเช่นกัน ขอย้อนไปเมื่อปี 2561 เมื่อเราพยายามตัดสินใจตั้งพรรค จริงๆ แล้วมี 2 ทางเลือกในตอนนั้นคือควรเคลื่อนไหวหรือควรเป็นพรรคการเมือง และเราลงเอยด้วยการเป็นพรรคการเมือง”

ภาพ-คลิป-คำพูด-ความเคลื่อนไหว-เรื่องราว-รอยเท้า ทั้งหมดของนายธนาธร รวมถึงพรรคก้าวไกล หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว แต่จะปฏิเสธยังไงก็ปฏิเสธยาก


จึงมีคำถามถึงนายธนาธร และแกนนำพรรคก้าวไกลว่า ได้แรงบันดาลใจอะไรจากฮ่องกง?

วิธีการเคลื่อนไหวและจัดการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการแบ่งแยกดินแดนหรือ


การดึงเอาฝรั่งมังค่า ฝรั่งตะวันตก เข้ามาช่วยสนับสนุนความต้องการซึ่งไปสอดคล้องกับกลุ่มกบฎ ผู้ก่อการร้ายที่ต้องการแยกประเทศ ประกาศเอกราชหรือ


การเอากลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน มาชักใย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าประสงค์ ซึ่งถ้ายังใช้ได้ก็ใช้ ถ้าหมดค่าแล้วก็ลอยแพ โยนทิ้ง?

วันที่ 9 กันยายน 2566 - นักเรียนฮ่องกงในเครื่องแบบหลายร้อยคน หลายคนสวมหน้ากาก จัดแถวโซ่มนุษย์ในหลายเขตทั่วฮ่องกง เพื่อสนับสนุนผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล

ภาพขบวนนักศึกษาแห่งชาติ มอ. ปาตานีออกมาประกาศแถลงการณ์ และแสดงความประสงค์ในการลงประชามติ ประกาศเอกราชรัฐปาตานี โดยอ้างว่าเป็นไปตามหลักการ “การกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination)” เมื่อวันพุธที่ 5 มิ.ย. 2566
รู้จัก“ฮ่องกงโมเดล”

สรุปแบบสั้น ๆ “ฮ่องกงโมเดล” คือตัวอย่างที่บุคคลบางกลุ่มสมคบกับต่างชาติ เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง เป็น“การขายชาติ”โดยอ้างว่าเป็น“การเรียกร้องประชาธิปไตย”

แต่เวลาผ่านมาถึงวันนี้ “ฮ่องกงโมเดล”ได้ถึงกาลอวสานไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อรัฐบาลจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง ในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ทำให้บรรดาประเทศอดีตเจ้าอาณานิคม ที่ใช้แนวคิด “แบ่งแยกแล้วปกครอง” จึงต้องย้ายฐานปฏิบัติการ ย้ายบุคลากรต่าง ๆ มายังประเทศไทย โดยส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะผลักดัน“ปาตานีโมเดล”เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทย

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการแบ่งแยกประเทศโดยใช้ “ฮ่องกงโมเดล” นั้นมีเนื้อหาและรายละเอียดในการปฏิบัติการเป็นสงครามพันทาง (Hybrid Warfare) สรุปสั้น ๆ 10 ประการด้วยกันคือ

1)เขียนประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ ให้แตกต่างกัน เพื่อบอกว่า “ฮ่องกง คือ ฮ่องกง” ไม่เหมือนกับจีน แต่เนื่องจากฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่มีความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการแบ่งแยกผู้คนในหลายประเทศ จึงต้องใช้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมมาอ้างเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง

2) อ้างค่านิยมสากล (Universal Value) โดยสร้างความเชื่อว่า มีค่านิยมบางอย่างที่มนุษยชาติต้องยึดถือเหมือนกันทั้งหมด เช่นประชาธิปไตย ทุนนิยม เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม โดยไม่สนใจว่าแต่ละประเทศหรือพื้นที่ มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา และลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

3) สร้างประวัติศาสตร์ว่าถูกกดขี่ ไม่เท่าเทียมโดยกลุ่มเคลื่อนไหวในฮ่องกงอ้างว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่มาแย่งงาน แย่งสวัสดิการ ทำให้บ้านเมืองสกปรก ข้าวของแพง ปั่นราคาที่พักอาศัย


ชาวฮ่องกงเปรียบคนจีนเป็น “ตั๊กแตน” ที่เข้ามาดูดกินทรัพยากรของเกาะฮ่องกงโดยไม่ต้องเสียภาษี นักท่องเที่ยวชาวจีนแห่ไปซื้อสินค้าปลอดภาษีในฮ่องกง และกว้านซื้อตั้งแต่นมผงยันคอนโดมีเนียม และยังอ้างว่ามีหญิงสาวชาวจีนลักลอบเดินทางมาคลอดบุตรที่ฮ่องกงมากถึงปีละกว่า 40,000 ราย เพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน(ที่ตอนนี้ยกเลิกไปแล้ว)และหวังจะได้สิทธิ์ในระบบสวัสดิการที่ดีกว่า โดยเสกสรรค์ปั้นแต่งข้อมูลขึ้นมาว่า ทุก ๆ 18 นาที คนฮ่องกงต้องจ่ายเงินภาษี 1 ล้านเหรียญฮ่องกง เพื่อเลี้ยงดูเด็กที่เกิดขึ้นบนเกาะฮ่องกงจากพ่อแม่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่

4) เรียกร้องโดยไม่สนใจหลักการใดๆ การประท้วงในฮ่องกงช่วงแรกมีประเด็นหลักคือ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไป หรือ Universal Suffrage คือ ให้สิทธิเลือกตั้งแก่พลเมืองผู้ใหญ่ทุกคน

ต่อมาก็ขยายผลเป็นเรียกร้องการเลือกตั้งแบบ One Man One Vote คือ การเลือกตั้งผู้แทนโดยตรงจากประชาชนทั้งหมด แทนที่ระบบปัจจุบันที่ใช้ผสมผสานระบบเลือกตั้งโดยตรง กับการสรรหาจากกลุ่มผู้แทนวิชาชีพต่าง ๆ หลังจากนั้นการยกระดับขึ้นไปอีก โดยเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง และเลือกตั้งผู้ว่าการฮ่องกงโดยตรงทั้ง ๆ ที่ในช่วง 150 ปีในช่วงที่อังกฤษปกครองเกาะฮ่องกงอยู่นั้น ชาวฮ่องกงก็ไม่เคยมีโอกาสได้เลือกผู้นำของตัวเองแต่อย่างใด


5) ขยายผลจากการขับไล่ผู้นำ ไปสู่การเรียกร้องเอกราชในการประท้วงฮ่องกงเมื่อปี 2562 “ฮ่องกงโมเดล”ได้ขยายผลที่ชัดเจนที่สุด คือ ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช ถึงขนาดที่มีการสร้าง “ธงเอกราชฮ่องกง” ขึ้นมา ซึ่งธงสีดำนี้ก็ได้ปรากฏอยู่ในพื้นที่การชุมนุมของ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ในประเทศไทย ด้วย


6) สร้างแนวร่วม นักการเมือง NGO สื่อมวลชน การประท้วงฮ่องกง เดิมจัดขึ้นโดยกลุ่ม Pro-democracy camp ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 เป็นการรวมตัวของสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง ที่มีจุดยืนตรงกันข้ามกับกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่ง หรือ Pro-Beijing camp

แต่ว่าการเคลื่อนไหวในยุคหลัง บรรดานักการเมืองได้เปลี่ยนกลยุทธ์จาก “การออกหน้า”มาเป็น“อีแอบ”โดยหนุนหลังกลุ่ม NGO และองค์กรภาคประชาชนต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรของนักเรียน นักศึกษา แกนนำที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่างโจชัว หว่อง, แอกเนส โจว,นาธาน ลอว์ ก็ล้วนแต่มีจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มสกอลาริซึม (Scholarism) ที่เป็นองค์กรของนักศึกษา และพัฒนามาเป็นพรรค “เดโมซิสโต” ในเวลาต่อมา

(ซ้ายไปขวา) นาธาน ลอว์, โจชัว หว่อง, แอกเนส เจา
แนวร่วมสื่อมวลชน คนสำคัญก็คือ จิมมี ไล อดีตเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Giordano, เจ้าพ่อสื่อ เจ้าของหนังสือพิมพ์แอปเปิล เดลี่ และเครือสื่อ เน็กซ์ ดิจิทัล (NEXT Digital) โดยเขาเป็นผู้ประกอบการสื่อรายเดียวที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งอย่างไม่เกรงกลัว ทั้งยังเป็นท่อน้ำเลี้ยงในการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพื่อต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งด้วย

วันที่ 8 กรกฎาคม 2562  - จิมมี ไล กับ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ พบกันที่ทำเนียบขาวเมื่อ ระหว่างการชุมนุมกำลังลุกลามในฮ่องกง โดยในครั้งนั้นไล ได้พบกับ ไมค์ พอมเพโอ รวมถึง วุฒิสมาชิกจากฝั่งรีพับลิกันอีกหลายคนด้วย
วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 จิมมี ไล ได้ขึ้นเวทีมูลนิธิเพื่อการปกป้องประชาธิปไตย (FDD) กลุ่ม Think Tank ในวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา พร้อมกับประโยคเด็ดที่ว่า“เราต้องรู้ว่าอเมริกานั้นอยู่ข้างหลังเรา คือการสู้รบในสงครามเดียวกับที่คุณกำลังสู่กับจีน เราอยู่ข้างคุณ (สหรัฐอเมริกา) สละชีวิตของเรา เสรีภาพของเรา และทุกสิ่งที่เรามี สู้ในสงครามนี้ยืนอยู่แนวหน้าเพื่อคุณ แล้วคุณล่ะ ควรสนับสนุนเราหรือเปล่า ?”

หลังจากจิมมี ไล ถูกดำเนินคดี และแอปเปิล เดลี่ ปิดตัวลง บรรดาสื่อใหญ่ของตะวันตกก็ระดมพลังเข้ามาทดแทน ไม่ว่าจะเป็น BBC ,VOA, ฟอร์บ, นิวยอร์ก ไทมส์, ไฟแนนเชียล ไทมส์, บลูมเบิร์ก รวมไปถึง วอลสตรีท เจอร์นัล ที่ลงทุนเปิดแพลตฟอร์มข่าวภาษาจีน โดยเฉพาะภาษากวางตุ้ง เพื่อมุ่งเป้าไปยังฮ่องกงโดยตรง

เมื่อโซเชียล มีเดีย มีบทบาทแซงหน้าสื่อมวลชนกระแสหลัก กลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกงก็หันไปใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น แอปพลิเคชันที่มีการเข้ารหัสชื่อ เทเลแกรม (Telegram) และ ทวิตเตอร์ เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร


“การปั่นกระแสออนไลน์” เป็นกลยุทธ์สำคัญในการประท้วงฮ่องกง โจชัว หว่อง เคยเปิดเผยว่า ในแต่ละวันจะกำหนดภารกิจให้กับ แนวร่วม ว่าต้องสร้างกระแสอะไรในโลกออนไลน์ ต้องติดแฮชแท็กอะไร ต้องระดมแสดงความเห็นและรีโพสต์ให้กระจายเป็นลูกโซ่จนติดอันดับเป็นประเด็นร้อน

นอกจากนี้ เมื่อไม่กี่ปีก่อน ในช่วงที่มีการชุมนุมของ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ในประเทศไทย กลุ่มประท้วงฮ่องกงได้แสดงการสนับสนุน โดยช่วยโพสต์ข้อความ กระจายสื่อออนไลน์ โจชัว หว่อง บอกว่า มีการแลกโพสต์ แลกแฮชแท็กกัน คือ ฝ่ายประท้วงฮ่องกง-ไทย-ไต้หวัน ใช้เครือข่ายและช่องทางของตัวเอง สร้างกระแสให้กันและกัน


7. สร้างฮีโร่ การเคลื่อนไหวในฮ่องกงระยะหลัง บรรดานักการเมือง, องค์กรต่างชาติเล่นบทเป็น “อีแอบ” เพื่อลอยตัวจาก ความรับผิดชอบทางกฎหมาย, ความเสี่ยงทางการเมือง, กระแสสังคม ...ถ้ากระแสสังคมไม่ยอมรับก็จะโบ้ยว่าไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่ถ้ากระแสสังคมเอาด้วยก็จะเสนอหน้าทันที

ดังนั้น ในการเคลื่อนไหวจึงต้องมีการสร้าง ฮีโร่ ขึ้นมา ฮีโร่ต้องมีภาพเป็นผู้กล้าหาญ ท้าทายผู้มีอำนาจ ยิ่งถ้าเป็นคนหนุ่มสาว เป็นเยาวชน ก็ยิ่งดี เพราะจะได้ภาพว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ “ก้าวหน้า-ก้าวไกล”ต่อสู้กับคนรุ่นเก่าเพื่อ “อนาคตใหม่” และถูกมีการปราบปรามหรือใช้มาตรการเด็ดขาดจากภาครัฐ ก็จะเกิดภาพว่า ผู้ใหญ่รังแกเด็ก เป็นสงครามระหว่างรุ่น สร้างกระแสได้ว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา”เหมือนกรณีชักใย “เชิดน้องหยก” ออกมาเคลื่อนไหวปั่นป่วนในโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ


8) สร้างสัญลักษณ์ร่วม การประท้วงฮ่องกงมีการใช้สัญลักษณ์ของการประท้วง เพื่อเป็นกิมมิกให้สื่อและผู้คนจดจำง่าย ในยุคแรก ๆ ผู้ประท้วงสวมเสื้อสีดำเดินขบวนไปตามท้องถนน จนถึงการประท้วงปี 2557 มีการใช้ร่มสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ ทำให้โลกจดจำว่าเป็น การปฏิวัติร่ม (Umbrella Revolution)

ส่วนการประท้วงปี 2562 ใช้สัญลักษณ์ “ชู 3 นิ้ว” ที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games โดยบอกว่า 3 นิ้ว หมายถึงเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ต่อมา“การชู 3 นิ้ว” ถูกขยายผลกลายเป็นสัญลักษณ์สากลในการประท้วงทั้งในฮ่องกง ประเทศไทย แม้แต่ นายจอ โมตุน ทูตพม่าประจำสหประชาชาติ ก็ยังชู 3 นิ้วในที่ประชุมยูเอ็น เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหาร


“ร่มสีเหลือง” หรือ“การชู 3 นิ้ว”เป็นการประดิษฐ์สัญลักษณ์เหมือนกับ“การปฏิวัติสี”ในหลายประเทศ เช่น การปฏิวัติสีส้มในยูเครน, การปฏิวัติดอกมะลิในตูนีเซีย, เหตุการณ์อาหรับสปริง, ขบวนการนักศึกษาดอกทานตะวันในไต้หวัน ขบวนการเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ การแทรกแซงจากต่างชาติ ยุยงคนในชาติให้ก่อการเปลี่ยนแปลง

9) สร้างเครือข่ายเคลื่อนไหวระดับสากล การเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกวันนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ประเทศตัวเองเท่านั้น แต่ขบวนการที่หนุนหลังได้ขยายการเคลื่อนไหวไปสู่ประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยอ้าง “ภราดรภาพ” หรือ ความเป็นพี่เป็นน้องกัน


พันธมิตรชานม จึงเกิดขึ้นโดยยึดโยงการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ไทย และไต้หวัน และต่อมายังขยายไปยัง พม่า อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ด้วย จนมั่วไปหมด

โจชัว หว่อง ชู 3 นิ้ว ถือป้ายภาษาไทย พร้อมติดแฮชแท็ก #StandwithThailand หน้าสถานกงสุลในฮ่องกงเมื่อเดือนตุลาคม 2563
10) สร้างความชอบธรรมให้การสนับสนุนโดยต่างชาติ ตั้งแต่การประท้วงร่มสีเหลือง Umbrella Revolution ปี 2557 และการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ปี 2562 ผู้ประท้วงได้เปิดประตูให้รัฐบาล / องค์กรต่างชาติ ให้เข้าแทรกแซงอย่างไม่ต้องปิดบังกันอีกต่อไป


-ผู้ประท้วงฮ่องกงชูธงจักรวรรดิอังกฤษ ธงสหรัฐอเมริกา แม้แต่ยื่นจดหมายเรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐส่งกองกำลังมาช่วยปลดแอกฮ่องกง

-แกนนำการประท้วงม็อบฮ่องกง ก็เดินสายไปพบกับ สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ และนักการทูตชาติตะวันตก เชิญไปกินชีสเค้ก ไปบรรยายถึงสถานการณ์ในฮ่องกงและประเทศของตัวเองอย่างโจ๋งครึ่ม

-NGO และองค์กรที่ใช้ชื่อว่า “สิทธิมนุษยชน” และ “ประชาธิปไตย” ต่างก็เปิดรับเงินทุนสนับสนุนก้อนโตจากต่างชาติอย่างเต็มที่


ฮ่องกง+ติมอร์ = ปาตานีโมเดล

แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) ซึ่งเป็นการประสานงานกันระหว่างม็อบฮ่องกง-ไต้หวัน ม็อบพม่า และม็อบ 3 นิ้วในประเทศไทย ที่หนุนหลังโดยพรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล)และ ชาติตะวันตกจะถูกกล่าวประโคมกันอย่างต่อเนื่อง

แผนที่การแบ่งแยกเขตปกครองของรัฐปาตานีที่เพจ The Patani นำเสนอ
แต่การเรียกร้องอธิปไตย “แยกฮ่องกง” ออกจากจีน และ “แยกรัฐปาตานี” ออกเป็นเอกราชจากไทยนั้นปูมหลังและมีกระบวนการที่แตกต่างค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ ปูมหลังทางประวัติศาสตร์ ประเด็นทางศาสนา ปัญหาเรื่องของความรุนแรงของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ตัวละครที่มาเกี่ยวข้องทั้งกลุ่มมวลชนที่มาเคลื่อนไหว-สื่อ และนักการเมือง-พรรคการเมืองที่เข้ามาสนับสนุน รวมไปถึงความแตกต่างในวิธีการจัดการของรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน

ดังนั้นจึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าวิธีการเคลื่อนไหวแบ่งแยก “รัฐปาตานี”ซึ่งกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่จับมือกับ นักเคลื่อนไหว นักการเมืองท้องถิ่น รวมไปถึง นักการเมืองระดับชาติ นั่นน่าจะมีการดัดแปลงใช้วิธีใน การประกาศเอกราช แยก ติมอร์-เลสเต (Timor-Leste) ออกจากอินโดนีเซีย เข้ามาผสมผสานกับ“ฮ่องกงโมเดล”ด้วยมากกว่า

ผ่าแผนขบวนการแยกดินแดน “รัฐปาตานี”


เว็บไซต์ที่ชื่อ ฤๅ - Lue History ได้ได้อธิบายและแจกแจงข้อมูล หลักฐาน บทสัมภาษณ์อย่างละเอียดว่า คำว่า“ปาตานี”นั้นเป็นคำที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง โดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เพื่อที่จะสร้างคู่ขัดแย้งให้กับคำว่า“ปัตตานี”ซึ่งเป็นหนึ่งในชื่อจังหวัดของประเทศไทย แต่ตีขลุมมั่วนิ่มเอาเองว่า “ปาตานี”นั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะ“จังหวัดปัตตานี”แต่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา(คือ อำเภอจะนะ, เทพา, สะบ้าย้อย และนาทวี)

ดังนั้นถ้าบุคคล องค์กร พรรคการเมือง หรือ นักการเมืองคนใดที่จงใจใช้ หรือ หยิบยกคำว่า“ปาตานี”ขึ้นมาก็แสดงว่าเขามีแนวคิดที่เห็นชอบในการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กับอีก 4 อำเภอของสงขลาออกเป็นรัฐอิสระ ซึ่งถือว่า “แค่เริ่มคิดก็ผิดเสียแล้ว” เพราะจะนำไปสู่การกระทำและความเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 แห่งราชอาณาจักรไทยทันทีที่ระบุชัดเจนว่า“ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”

คำถามก็คือ แล้วพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดนพวกนี้เขาวางแผนอะไรกัน?


ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาฤๅ - Lue Historyได้เผยแพร่เนื้อหาชิ้นหนึ่ง เรื่องผ่าแนวคิดอันตราย ‘สิทธิในการกำหนดใจตนเอง’ คำสวยหรูที่ปูทางสู่การ ‘แยกดินแดน’ ชายแดนใต้ซึ่งมีสรุปเนื้อหาเกี่ยวกับแผนการ และวิธีการแยก“รัฐปาตานี”ออกจากประเทศไทยไว้สรุปได้ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง นอกจากการประดิษฐ์คำว่า “ปาตานี” ขึ้นมาแล้วแล้ว นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวที่มีเป้าประสงค์ในการแบ่งแยกดินแดนยังหยิบยกคำว่า “สิทธิในการกำหนดใจตัวเอง (Self-Determination)” ขึ้นมาอ้างอิงในการทำประชามติแบ่งแยก“รัฐปาตานี”อีกด้วย


คำว่า “สิทธิในการกำหนดใจตัวเอง (Self-Determination)” หมายถึงอะไร ?

คำตอบแบบตรงไปตรงมา ก็คือ คำศัพท์เชิงวิชาการที่สวยหรูคำนี้ จริงๆ ก็คือ“แนวคิดในการแบ่งแยกดินแดน”นี่เอง แต่เป็นการสร้างศัพท์แสง และความแยบยล ให้เกิดความซับซ้อนซ่อนเงื่อนขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง และพรรคพวก

ประเด็นที่สอง คำถามต่อมาก็คือ คำว่า“สิทธิในการกำหนดใจตัวเอง (Self-Determination)”จะนำไปสู่ “การแบ่งแยกดินแดน”ได้อย่างไร?

คำตอบก็คือ “กลุ่มแบ่งแยกดินแดน” และเครือข่ายนั้นพยายามอ้างอิงกฎบัตรสหประชาชาติว่าใน หมวดที่ 1 มาตราที่ 1 ข้อที่ 2 นั้นระบุไว้ว่า ความมุ่งหมายของสหประชาชาตินั้นจะ“ยึดการเคารพต่อหลักการแห่งสิทธิที่เท่าเทียมกัน และการการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (Self-Determination)”เป็นมูลฐาน

ซึ่งสหประชาชาติระบุเงื่อนไขของการกำหนดเจตจำนงของตนเองเอาไว้ สรุปแบบกระชับได้ว่า “พื้นที่ใดก็ตามที่มีอัตลักษณ์ หรือ ประวัติศาสตร์ของตัวเองมาอย่างยาวนาน แต่กลับต้องกลายมาเป็นอาณานิคมของชาติอื่น คนในพื้นที่เหล่านั้นจะสามารถเรียกร้องหรือกำหนดชีวิตของตนเองได้ ด้วยการลงประชามติ”

ทั้งนี้ ในช่วงประมาณ 10 ปีหลังที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนโดยเฉพาะ BRN ทางภาคใต้ของไทยเริ่มอ่อนแรง และแตกกันอย่างรุนแรง โดยสังเกตได้จากสถิติความรุนแรงที่ลดลงเรื่อย ๆ บางกลุ่มใน BRN ที่แตกออกมา และเครือข่ายจึงเริ่มหันมาเคลื่อนไหวโดยอ้างอิงเรื่อง“สิทธิในการกำหนดใจตัวเอง (Self-Determination)”โดยอ้างอิงถึงกฎบัตรสหประชาชาติข้อดังกล่าว และพยายามจะดึงต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย


โดยตัวอย่าง และ รูปแบบ (Model) ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน “รัฐปาตานี”ในประเทศไทยพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้นนั้นคือ “การประกาศเอกราชของ ติมอร์-เลสเต หรือ ติมอร์ตะวันออก” ซึ่งแต่เดิมเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย และประสบความสำเร็จในการ ประกาศเอกราชอย่างเต็มตัวเมื่อ วันที่ 20 พฤษภาคม 2545 หรือเมื่อ 21 ปีที่ผ่านมานี้เอง จากความช่วยเหลือของสหประชาชาติ


ทั้งนี้ ติมอร์-เลสเต ซึ่งมีพื้นที่ 14,600 กว่าตารางกิโลเมตร และมีประชากรเพียง 1 ล้านคน เดิมทีเมื่อปี 2518 ภายหลังที่เจ้าอาณานิคมอย่างโปรตุเกสถอนตัวออกไป ติมอร์ตะวันออก ก็ถูกยึดครองและปกครองโดยอินโดนีเซีย หรือเมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมานี้เอง มีแหล่งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันขนาดใหญ่ของติมอร์-เลสเต ที่คาบเกี่ยวกับออสเตรเลีย คล้ายกับ JDA ของไทย-มาเลเซีย


ประเด็นที่สาม แม้จะมีการวางแผน และปูทางทั้งเรื่องการสร้างเสกสรรค์ว่า “ปาตานี” ขึ้นมา พยายามปลุกผีประวัติศาสตร์ของคนท้องถิ่น รวมไปถึงการหยิบยกเอา ข้อความเรื่อง“สิทธิในการกำหนดใจตัวเอง”จากกฎบัตรสหประชาชาติ ขึ้นมาโดยหวังลึก ๆ ว่าจะทำให้ “ปาตานี” สามารถเดินตามรอย “ติมอร์-เลสเต” ไปได้

อย่างไรก็ดี ความพยายามในการเคลื่อนไหวที่จะทำประชามติ ประกาศเอกราชของ “รัฐปาตานี” นั้นนอกจากจะขัดกับมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญไทยอย่างชัดเจนแล้ว กลับไม่เข้าเงื่อนไขใด ๆ ของสหประชาชาติเลย เนื่องจาก

1.พื้นที่ที่ถูกอ้างอิงว่าเป็น “รัฐปาตานี” นั้นมิได้เป็น พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากส่วนอื่นของประเทศไทย หรือมีเขตน่านน้ำเค็มขวางกั้น เช่น เกาะ หรือ ดินแดนอาณานิคมที่แยกออกไปต่างหากประเทศแม่


2.“สิทธิในการกำหนดใจตัวเอง”ที่กลุ่มสนับสนุนผู้แบ่งแยกดินแดนอ้างอิง และกล่าวถึงอยู่เสมอ รวมถึงบุคลากรของว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติและพรรคเป็นธรรมอ้างถึงนั้นไม่สอดคล้องกับกฎบัตรของสหประชาชาติซึ่งกำหนดไว้ว่า การให้สัตยาบันกับกฎบัตรนี้ใช้เฉพาะกับดินแดนที่ถูกผนวกภายหลังปี 2488 (ค.ศ.1945) คือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น

ขณะที่พื้นที่ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน “รัฐปาตานี” อ้างถึง คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และ 4 อำเภอของสงขลานั้นถูกสยามหลอมรวมมาเนิ่นนานแล้วอย่างน้อย ๆ ก็คือ ตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ รวมถึงตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา จากเอกสารทั้งในและต่างประเทศต่างก็ยอมรับว่าดินแดนส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของสยาม หรือ ประเทศไทยตลอดมา

แผนภาพการแบ่งแยกรัฐปาตานี ออกจากประเทศไทยจากเฟซบุ๊กเพจ The Patani ซึ่งมีเบื้องหลังคือ นายอาเต็ฟ โต๊ะโก หนึ่งในผู้ร่วมเวทีเปิดตัว “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” ที่มีเบื้องหลังเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ และ มีการจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี”
ดังนั้นเมื่อกลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนเป็น“รัฐปาตานี”ประสบความล้มเหลวในการแยกประเทศโดยการใช้กำลัง หรือ จะอ้างกฎบัตรสหประชาชาติเพื่อเปิดทางให้มีการเข้าแทรกแซงโดยต่างชาติ ก็ติดเงื่อนไขหลาย ๆ ประการ เนื่องจากรัฐบาลไทยแต่เดินทีนั้นยืนยันหนักแน่นว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นความขัดแย้งในประเทศ ต่างชาติไม่มีสิทธิ์เข้ามาแทรกแซง ยกเว้นชาติเดียวคือ มาเลเซีย ที่มีพรมแดนติดกับไทยจะเข้ามาช่วยเจรจาได้

นอกจากนี้ยังยืนยันด้วยว่า การพูดคุยนั้นเป็นเพียงแค่ “การพูดคุยสันติสุข (Peace Talk)” เท่านั้น มิใช่ “การเจรจาสันติภาพ (Peace Negotiation)”

เนื่องจากในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงแล้ว การใช้คำว่า “การเจรจาสันติภาพ (Peace Negotiation)” นั้นอาจเป็นการยอมรับสภาวะสงครามภายในประเทศ และยกระดับขบวนการแบ่งแยกดินแดนคือโจรใต้ ให้มีสถานะเท่ากับ “รัฐไทย” ซึ่งสุดท้ายไม่พ้นเป็นการตกหลุมพราง-เสียรู้เปิดประตูให้กับต่างชาติเข้าแทรกแซง หรือ ชักศึกเข้าบ้าน ในที่สุดนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าหากรัฐบาลพรรคใดพยายามจะอ้างเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้โดยใช้คำว่า “การเจรจาสันติภาพ (Peace Negotiation)” แทนคำว่า “การพูดคุยสันติสุข (Peace Talk)” ก็อาจเป็นสัญญาณที่ชี้ได้ชัดเจนว่ารัฐบาลนั้น ๆ กำลังเกี้ยเซียะกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน

ไม่นับรวมกับความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ของ พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ และ พรรคเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็น
  • การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1
  • การลดขนาดกองทัพ / ขัดขวางการจัดซื้ออาวุธทุกวิถีทาง
  • การเข้าไปเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกา / เพิ่มงบประมาณในการฝึกซ้อมรบคอบร้าโกลด์
  • การยุบสภากลาโหม
  • การยุบ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร)
  • การยุบ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)
  • ยกเลิกกฎอัยการศึกชายแดนใต้ ฯลฯ

เรื่อยไปจนถึงการปลุกปั่นเยาวชน-นักเรียน-นักศึกษา บ่อนทำลายสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คือ Road Map ของกลุ่มคนเหล่านี้

สุดท้าย ฟันธงไว้ ณ ตรงนี้ได้เลยว่า พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่เมื่อมีอำนาจแล้วจะให้มีการแบ่งแยกดินแดนในที่สุด และเป็นพรรคที่จะเกิดประตูให้ต่างชาติโดยเฉพาะอเมริกาและอังกฤษ เข้ามาเพื่อที่จะแทรกแซงในเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านคือเมียนม่า เจาะลึกลงไปเพื่อให้มีการแยกดินแดนทางใต้ เมื่อแยกได้สำเร็จเมื่อลากเส้นจากดินแดนที่เรียกว่ารัฐปาตานีลงไปในทะเลก็จะทับเอาแหล่งก๊าซธรรมชาติที่เรียกว่า JDA การ่วมลงทุนระหว่างไทยและมาเลเซีย อีกหน่อยก็เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐปาตานีกับมาเลเซีย ซึ่งแน่นอที่สุดไม่มีใครอยู่เบื้องหลังนอกจาประเทศทางตะวันตก


“นโยบายเหล่านี้ จะไม่ได้นำประเทศชาติไปสู่สิ่งที่พวกเขาพยายามเรียกและจินตนาการว่า สิ่งเหล่านี้คืออาการ “หอมกลิ่นความเจริญ” ในทางกลับกันความคิดสุดโต่งเหล่านี้จะนำประเทศไทยของเราก้าวไปสู่เส้นทางแห่งความขัดแย้ง

“ท่าน ส.ว.ทั้งหลายที่มีความคิดจะเลือกคุณพิธาเป็นนายกฯ ถ้าท่านไม่คำนึงถึงคำเตือนผม เชิญทา่านตามสบาย แต่ขอบอกท่านอย่างหนึ่ง ท่านจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ประเทศเกิดการขัดแย้ง แบ่งแยก แตกสลาย และสิ้นชาติในท้ายที่สุด” นายสนธิกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น