xs
xsm
sm
md
lg

ปูตินจะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปูตินจะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป
โดย ทนง ขันทอง


ในช่วง1สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในแวดวงนักการเมือง นักคิด นักวิชาการ และนักวางแผนยุทธศาสตร์ของรัสเซียว่า มันจะเป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องความมั่นคงของมาตุภูมิ และปกป้องมนุษยชาติจากหายนะของสงครามที่ก่อโดยชาติมหาอำนาจตะวันตกให้จบสิ้นไปเลยตลอดกาล

ศาสตราจารย์เซอร์เก้ คารากานอฟ (Sergey Karaganov)
ผู้มีตำแหน่งเป็นถึงประธานกิติมศักดิ์ของ Council on Foreign and Defence Policy และที่ปรึกษาด้านวิชาการของ School of International Economics and Foreign Affairs Higher School of Economics ในกรุงมอสโคว เป็นผู้นำเสนอว่า มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป สำหรับรัสเซียที่จะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ยิงไปหลายพื้นที่ในยุโรป มิเช่นนั้นรัสเซีย และมวลมนุษยชาติอาจจะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ในอนาคต

คำพูดของคารากานอฟมีน้ำหนักและมีเหตุผลที่น่ารับฟัง เนื่องจากในอดีตเขาเคยเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีบอริส เยลซิน และประธานาธิบดีวราดิเมียร์ ปูติน ในฐานะผู้อำนวยการของสภานโยบายต่างประเทศ และกลาโหมของรัสเซีย

คารากานอฟเขียนบทความตีพิมพ์ในวันที่13 มิถุนายนในวาสาร Global Affairs ภายใต้หัวข้อที่ชื่อว่า “ การตัดสินใจที่ยากแต่จำเป็น: การใช้อาวุธนิวเคลียร์สามารถช่วยมนุษยชาติจากหายนะทั่วโลก” โดยเขาได้อธิบายบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ เงื่อนไขของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และความจำเป็นของการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปิดเกมสงครามที่ถูกยั่วยุจากฝ่ายมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งนอกจากจะช่วยปกป้องความอยู่รอดของรัสเซียแล้ว ยังจะช่วยป้องกันมนุษยชาติจากหายนะของสงครามที่ใหญ่กว่า
คารากานอฟอธิบายว่า รัสเซียกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และจะเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะตัดสินใจ เพราะว่ามันชัดเจนว่าการประจัญบานกับตะวันตกจะไม่มีวันหยุด แม้ว่ารัสเซียจะชนะสงครามยูเครนบางส่วน หรือท้ังหมดก็ตาม ใจความสำคัญของบทความมีดังนี้:

แม้ว่ารัสเซียจะยึดโดเน็กส์ ลูฮานส์ก ซาโปริเชีย และเคอร์สันได้ มันจะเป็นเพียงชัยชนะทีน้อยนิด ความสำเร็จที่ใหญ่กว่า คือการปลดปล่อยภาคตะวันออก และภาคใต้ทั้งหมดของยูเครนภายใน1 หรือ 2 ปีข้างหน้า แต่ชาวยูเครนที่เหลือจะยังคงเป็นพวกชาตินิยมที่รุนแรง และได้รับอาวุธสนับสนุนอย่างเต็มที่จากศัตรู ซึ่งจะทำให้สถานการณ์มีความสลับซับซ้อนหรือเลวร้ายลงไปอีก ถ้าหากรัสเซียยึดยูเครนได้ท้ังประเทศ จะต้องแลกกับการสูญเสียมาก จะมีเหลือแต่ซากปลักหักพัง และประชาชนยูเครนที่ยังมีชีวิตอยู่จะจงเกลียดจงชังรัสเซียไปอีกนานแสนนาน

2. รัสเซียต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ หันไปร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารกับยูเรเซีย หรือเอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ เนื่องจากยุโรปไม่ต้องการอยู่ร่วมกับรัสเซียอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรต้องมาเสียเวลากับทรัพยากรกับสงครามที่ยูเครนกลาง และยูเครนตะวันตก ในขณะที่มหาอำนาจตะวันตกยังมีความขัดแย้ง หรือความเป็นปฏิปักษ์กับรัสเซียต่อไปไม่เลิกรา จะยังคงให้การสนับสนุนสงครามกองโจรที่จะแซะพลังของรัสเซียลงไปเรื่อยๆ

3. จะจัดการเรื่องราวให้เด็ดขาด รัสเซียต้องยึดยูเครนตะวันออกและยูเครนใต้ให้ได้ พร้อมกับปลดอาวุธของทหารยูเครนท้ังประเทศ ให้ยูเครนเป็นรัฐกันชน แต่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องสามารถเอาชนะตะวันตก หรือให้ตะวันตกต้องถอนตัวออกไป แต่มันจะเป็นการยาก

4. ภัยของสงครามยูเครน ความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆของโลก และภัยของสงครามการทหารมาจากความล้มเหลวของผู้ปกครองอิลิทตะวันตก ที่ต้องการรักษาอำนาจแต่ฝ่ายเดียวของตัวเอง ในขณะที่ดุลอำนาจโลกกำลังเปลี่ยนไปจากการผงาดทางเศรษฐกิจของจีน และอินเดีย โดยมีรัสเซียเป็นพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์ และการทหาร ตะวันตกกำลังสูญเสียความได้เปรียบที่มีมาเป็นระยะเวลา 500 ร้อยปี จากการปล้นความมั่งคั่งของโลก ผ่านการบังคับใช้ระเบียบการเมือง และเศรษฐกิจ และอิทธิพลทางวัฒนธรรม และการใช้กำลังที่รุนแรง เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางที่ตะวันตกจะยกเลิกการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองไปได้อย่างง่ายๆ


5. สหรัฐก่อสงครามตัวแทนในยูเครน เพื่อที่จะทำลายรัสเซีย ซึ่งจะทำให้จีนอ่อนแอลงไปด้วย ในขณะเดียวกัน รัสเซียมีความชักช้าในการประเมินสถานการณ์ในยูเครนที่มีความผิดพลาดไป ปล่อยให้วิกฤติขยายวง ดังนั้นมันมีความจำเป็นที่ต้องลดระดับเงื่อนไขของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ให้ต่ำลง

6. ผู้ปกครองอิลิทตะวันตกมีอุดมการณ์ต่อต้านความเป็นมนุษย์ ปฏิเสธความเป็นครอบครัว ประเทศ และประวัติศาสตร์ ความรักระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ความศรัทธา และการกระทำเพื่ออุดมการณ์ที่สูงกว่า หรือทุกอย่างที่เป็นมนุษย์ พวกเขาทำลายทุกคนที่ขัดขวางทุนนิยมโลก ซึ่งไม่มีความยุติธรรมและเป็นภัยต่อมนุษย์ ตะวันตกกำลังมุ่งสู่เผด็จการเสรีนิยม ( liberal totalitarianism) สถานการณ์มีแต่จะเลวร้ายลงไป การปรองดองเป็นไปไม่ได้ และจะเกิดความท้อแท้หมดหวัง อันนำไปสู่สงครามโลกคร้ังที่3 ซึ่งความจริง มันได้เกิดขึ้นแล้ว แต่จะขยายวงเต็มรูปแบบจากความไร้ความรับผิดชอบของผู้ปกครองอิลิทตะวันตกที่แต่ก่อนมีการปรามกันในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ (nuclear deterrence) ที่จะทำลายซึ่งกันและกัน แต่ความกลัวนี้ได้หมดลงไปแล้วจากการก่อสงครามใต้ท้องรัสเซีย เราต้องสร้างความกลัวของสงครามนิวเคลียร์อีกคร้ัง มิเช่นนั้นมนุษยชาติจะประสบกับหายนะ

7. เราไม่สามารถให้ความผิดพลาดแบบยูเครนเกิดขึ้นได้อีก เป็นเวลากว่า 25 ปี ที่เราได้เตือนนาโต้ ไม่ให้ขยายสมาชิก ซึ่งจะนำไปสู่สงคราม เราได้พยายามที่จะเลื่อนสงครามออกไปด้วยการเจรจา แต่สิ่งที่เราได้คือความขัดแย้งทางสงคราม ราคาของการที่ไม่ตัดสินใจจะแพงขึ้นต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้นำตะวันตกไม่ยอมถอย บางทีพวกเขาสูญเสียจิตสำนึกของการป้องกันตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น เราต้องโจมตีกลุ่มเป้าหมาย (ในยุโรป ด้วยอาวุธนิวเคลียร์) เพื่อที่จะทำให้พวกที่สูญเสียจิตสำนึกได้กลับมามีสำนึกใหม่

คารากานอฟไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ถ้าหากรัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์จะโจมตียุโรปประเทศใด แม้ว่าเขาจะแสดงความเห็นว่า อาจจะต้องใช้นิวเคลียร์หลายลูกก็ตาม โดยหวังว่าจะทำให้สหรัฐที่อยู่เบื้องหลังยุโรปต้องยอมถอย เพราะว่าสหรัฐจะไม่ยอมปกป้องเมืองปอซนานของโปแลนด์ เพื่อแลกกับความปลอดภัยของเมืองบอสตัน

ความจริง มันไม่ใช่เป็นคร้ังแรกที่รัสเซียออกมาเตือนยุโรปว่า จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้ยุโรปที่ให้การสนับสนุนสงครามตัวแทนในยูเครน และดำเนินนโยบายปิดล้อมรัสเซียทางทหารผ่านนาโต้

ในเดือนพฤษาคม ปี 2022 นาย Dmitry Kiselyov ผู้นำเนินรายการข่าวทีวีรัสเซีย รายงานว่า ถ้าหากรัสเซียโจมตีอังกฤษด้วยโดรนโพไซดอนใต้น้ำจะทำให้เกิดคลื่นซึนามิวูง500เมตร ซึ่งสามารถทำลายเกาะอังกฤษให้จมใต้ท้องทะเลได้

ในช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ปูตินเตือนว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีเป้าหมายของตะวันตกได้ เพื่อป้องกันตัวเอง หรือในกรณีที่รัสเซียเล็งเห็นว่าการดำรงอยู่ของรัสเซียตกอยู่ภายใต้ภัยอันตราย หลังจากที่รัสเซียเสนอข้อตกลงความมั่นคงกับยุโรป นาโต้และสหรัฐ แต่ได้รับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิง

สหรัฐมีการปรับเปลี่ยนหลักนิยมทางทหารสำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน (preemptive strike) เพื่อโจมตีศัตรู โดยได้ปรับนำมาใช้แล้วในการเผชิญหน้ากับรัสเซีย และจีน

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐได้ตัดสินใจที่จะไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในปี 2020 ที่จะประกาศว่าจุดประสงค์เดียวของอาวุธนิวเคลียร์คือการยับยั้งการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ต่อสหรัฐฯ หรือพันธมิตร แต่เขากลับอนุมัตินโยบายฉบับหนึ่งจากรัฐบาลโอบามา ซึ่งเปิดทางเลือกให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ไม่เพียงแต่เป็นการตอบโต้ต่อการโจมตีด้วยนิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ด้วย

สหรัฐมีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ที่เยอรมันนี เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และตุรกี โดยมีรัสเซียเป็นเป้าใหญ่

ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกเหนือเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นตามลำดับ การทิ้งระเบิดทางอากาศได้คร่าชีวิตผู้คนไประหว่าง 129,000 ถึง 226,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และยังคงเป็นการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียวในการสู้รบ

แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าคนท่ัวไปจะลืมประวัติศาสตร์ไปแล้ว หรือไม่คิดว่าจะมีสงครามนิวเคลียร์อีก และผู้นำชาติต่างๆก็ไม่กลัวการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อันเห็นได้จากการยั่วยุจากมหาอำนาจตะวันตกให้เกิดสงครามใหญ่ในยุโรปและเอเชีย

สัปดาห์ทีผ่านมา ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกของเบลารุสยืนยันในคำพูดล่าสุดกับสถานีโทรทัศน์ของรัสเซียว่า เบลารุสเริ่มรับมอบอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีของรัสเซีย ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเคยสัญญาไว้ก่อนหน้านี้

ลูกาเชนโก กล่าวกับช่องทีวี Rossiya-1 ว่านิวเคลียร์ทางยุทธวิธีมีอานุภาพรุนแรงกว่าระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ทิ้งในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิถึง 3 เท่า

เบลารุสเป็นพันธมิตรที่สำคัญของรัสเซีย โดยจะช่วยรัสเซียในการทำสงครามในยูเครนเพื่อยึดเคียฟ และการที่รัสเซียติดต้ังอาวุธนิวเคลียร์ให้เบลารุสเพื่อที่จะข่มขวัญโปแลนด์ และนาโต้ และเพื่อตอบโต้ที่อังกฤษตัดสินใจติดตั้งกระสุนยูเรเนียมที่หมดแล้วให้ยูเครน

ผู้ที่อธิบายจุดยืนที่เป็นทางการของรัสเซียในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ดีที่สุดคือมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย โดยเธอพูดนอกรอบการประชุมเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (SPIEF) ซึ่งมีผู้แทนจากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัสเซียอาจหันไปใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ก็ต่อเมื่อการดำรงอยู่ของรัสเซียตกอยู่ในความเสี่ยงเท่านั้น

เธอย้ำว่า มอสโกถือว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นมาตรการป้องกันขั้นสุดท้าย

“นโยบายยับยั้งนิวเคลียร์ของรัสเซียมีลักษณะเป็นการป้องกันอย่างแท้จริง และการใช้อาวุธนิวเคลียร์ตามสมมุติฐานนั้นจำกัดเฉพาะสถานการณ์พิเศษอย่างชัดเจน” ซาคาโรวากล่าว

เธออธิบายว่าสิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงการโจมตีรัสเซียหรือพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างสูงอื่น ๆ หรือ “การรุกรานแบบเดิมที่คุกคามการดำรงอยู่ของรัฐรัสเซีย”

“ประเด็นพื้นฐานนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง” เธอเน้นย้ำ

โฆษกหญิงกล่าวย้ำว่า “รัสเซียมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในหลักการที่ว่าไม่ควรทำสงครามนิวเคลียร์” “อาจไม่มีผู้ชนะในเรื่องนี้” เธอกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ประเทศนิวเคลียร์อื่นๆ ยอมรับท่าทีนี้เช่นกัน


เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการ NATO แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันพฤหัสบดี ประณามวาทศิลป์นิวเคลียร์ของรัสเซียว่า "ประมาท" และกล่าวว่ากลุ่มทหารที่นำโดยสหรัฐฯ กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่า “จนถึงตอนนี้ เรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในท่าทีเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ซึ่งจะทำให้เราต้องปรับท่าที”

ในระหว่างการประชุมสัมนาในเวทีSt. Petersburg International Economic Forum ในวันศุกร์ที่ 16มิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวราดิเมียร์ปูตินได้ไม่ได้ปิดกันความเป็นไปได้ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ถ้าจะอ่านใจปูตินแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่เขาจะตัดสินใจที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อทำลายยุโรป และปิดเกมสงครามยูเครนไปในตัว เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

1. แม้ว่ารัสเซียจะชนะสงครามยูเครนแล้ว ความพยายามของมหาอำนาจตะวันตก นำโดยสหรัฐและอังกฤษที่จะทำลายความมั่นคงของรัสเซียจะยังคงดำเนินต่อไปไม่เลิก

2. มหาอำนาจตะวันตกจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องอำนาจแต่ฝ่ายเดียวของตัวเองที่ดูแลระเบียบโลกนี้มาเป็นเวลา 500 ปี โดยไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะตามมา หรือแม้ว่าจะต้องเกิดสงครามนิวเคลียร์ก็ตาม

3. รัสเซียพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องการดำรงอยู่ของมาตุภูมิ และมนุษยชาติจากภัยของเผด็จการนิยมแบบเสรีนิยมของตะวันตก ส่วนสหรัฐที่อยู่ทวีปอเมริกาเหนือห่างไกลจากความขัดแย้งในยุโรปไม่ได้มีภัยของการดำรองอยู่ของมาตุภูมิเหมือนรัสเซีย

4. ถ้าหากจะยิงนิวเคลียร์ รัสเซียอาจมุ่งเป้าไปที่อังกฤษ โปแลนด์ หรือเยอรมันนี แล้วดูว่าประเทศนาโต้อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไร ถ้าหากยอมความกันเร็ว สงครามจะยุติหลังจากนั้นไม่นาน ถ้าหากสหรัฐไม่ยอมแพ้ สงครามนิวเคลียร์จะทำลายโลก

5. ตะวันตกประเมินรัสเซียต่ำเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้เรียนรู้แนวความคิดความตายของรัสเซียน (Russian Fatalism)
Friedrich Nietzsche นักปรัญาเยอรมันในศตวรรษที่ 19 อธิบายว่า ไม่ว่าความเจ็บป่วยทางร่างกายจะทรุดโทรมหรือถูกเอาชนะด้วยความเจ็บปวดทางจิตใจ/อารมณ์จะเป็นอย่างไร เขา แนะนำให้ใช้วิธีการรักษาที่เขาเรียกว่า "ความตายแบบรัสเซีย" ผู้ที่ใช้วิธีการรักษาดังกล่าวจะยุติความพยายามในการรักษาตัวเอง และเพียงแค่นอนลงและยอมรับความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดของตน และยับยั้งปฏิกิริยาทางร่างกายหรืออารมณ์ใดๆ ก็ตาม ในการทำเช่นนั้น เขาประหยัดพลังงานอันมีค่าและเร่งการฟื้นตัวของเขา

ในแง่นี้ รัสเซียยอมทนทุกข์ทรมานนอนรอความตายมาร่วมกว่า100 ปี แล้วจากการถูกทำลายโดยตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการล้มราชวงศ์ซาร์ และการส่งลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปทำลายรัสเซีย รัสเซียยอมอยู่นิ่งๆสงวนกำลังจนบัดนี้มีอาวุธนิวเคลียร์มหาประชัยพร้อมที่จะตอบโต้กลุ่มแองโกลอเมริกันที่เป็นฝ่ายรุกราน และกระทำสิ่งที่เลวร้ายกับรัสเซียมาตลอด
กำลังโหลดความคิดเห็น