xs
xsm
sm
md
lg

คริปโต ทอง ดอลล่าร์ หยวน CBDC เงินสกุลร่วมของบริกส์: ตัวไหนจะเข้าวิน? (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



คริปโต ทอง ดอลล่าร์ หยวน CBDC เงินสกุลร่วมของบริกส์: ตัวไหนจะเข้าวิน? (ตอนที่ 2)
โดยทนง ขันทอง


#2. ทองคำ

ในรอบเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนได้เทขายทองออกไป ทำให้ราคาร่วง 3.40% หรือ $68 ไปอยู่ที่ $1947 ต่อออนซ์ในวันนี้ หลังจากที่ทำแรลลี่ก่อนหน้านั้น ราคาทองยังคงมีปัญหาในการขึ้นไปทดสอบระดับ $2,000 ต่อออนซ์
ในระยะสั้น นักลงทุนกำลังจับตาดูว่าธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินระหว่างวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.0%-5.25% หรือจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคาทองคำ
ตามกลไกของตลาดที่ผ่านมา ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะกดราคาทองคำลงมา เนื่องจากมันจะทำให้ดอลล่าร์แข็งค่าขึ้น และทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีความน่าดึงดูดมากขึ้น

ล่าสุดเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ที่4%ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมสินค้าหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐให้น้ำหนักมากกว่าในการดำเนินนโยบายทางการเงินยังคงอยู่ระดับสูงอยู่ที่ 5.3% โดยเทียบกับ 5.5% ในเดือนก่อนหน้านี้ แต่ยังถือว่ายังคงมีความร้อนแรงอยู่ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2.0%

นักวิเคราะห์มองกันว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐน่าที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.0%-5.25% และจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงคร้ังเดียวคือในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐไปพีคที่ระดับ 5.25%-5.50% โดยที่ท้ังปีหลังจากนั้นจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยลง เนื่องจากว่าจะเอาเงินเฟ้อให้ลงทุนระดับเป้าหมายจำต้องยอมเจ็บตัวในการคงดอกเบี้ยที่ระดับสูง

นักลงทุนในตลาดทองคำจึงมุ่งความสนใจไปที่การส่งสัญญานของนายเจโรม เพาแวลล์ ประธานของธนาคารกลางสหรัฐที่จะแถลงข่าวหลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ว่ามีความกังวลใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ ไม่ว่า จะเป็นตัวเลขการจ้างงาน การขยายตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมท้ังเสถียรภาพในระบบธนาคารที่ออกอาการเซตุปัดตุเป๋

ที่สำคัญ นักลงทุนอยากจะรู้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐเตรียมการรับมือการออกพันธบัตรของกระทรวงการคลังสหรัฐที่คาดกันว่าจะมีปริมาณมากถึง$1ล้านล้านภายในไตรมาสที่3อย่างไร เพื่อเติมเงินเข้าเงินคงคลัง ซึ่งจะดูดสภาพคล่องมหาศาลออกจากระบบ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังทำ QT หรือการดูดสภาพคล่องออกจากระบบที่ระดับ $90,000 ล้านต่อเดือน

ราคาทองคำ ซึ่งทำแรลลี่ในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ไปยืนเหนือระดับ $2,000 ในเดือนมีนาคมเป็นคร้ังแรกในปีนี้ หลังจากนั้นมีการปรับตัวลงมาจากการทำกำไร ในระยะสั้นต่อไป ทองคำอาจจะขึ้นต่อไปได้อีกไม่มาก เนื่องจากในรอบ1ปีที่ผ่านมา ทองให้ผลตอบแทนดีพอสมควร โดยทำราคาสูงขึ้นไปแล้ว 7.7% หรือ $139 ราคาทองคำพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ $2,075 ในเดือนสิงหาคมปี 2020 และนักลงทุนส่วนมากเชื่อว่า ราคาทองคำจะทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ในปี 2023 นี้

Jeffrey Gundlach ซีอีโอ ของ DoubleLine Capital เชื่อว่าสหรัฐกำลังจะเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และเขาคิดว่าทองคำเป็นเงินที่แท้จริง แม้ว่าราคาทองคำจะมีปัญหาในการยืนเหนือระดับ $2,000 ในช่วงที่ผ่านมา กุนแล็คบอกว่าพอร์ตการลงทุนของเขามีหุ้นอยู่ 30% มีพันธบัตร 60% และมีทรัพย์สินที่จับต้องได้อีก 10% ในส่วนของทรัพย์สินที่จับต้องได้มีทองคำอยู่ด้วย ซึ่งราคาได้สูงขึ้นในปีนี้ แม้ว่าจะมีปัญหายืนอยู่เหนือระดับ $2,000 ต่อออนซ์ โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทองคำแตะระดับ $2,085 จากราคา $1,600 วิ่งไปที่ $2,000 ราคาทองคำอาจจะไม่บูลลิสเหมือนเดิม แต่กุนแล็คบอกว่า เขายังคงมีความสบายใจที่จะถือทองคำอยู่

ในขณะเดียวกัน BlackRock ซึ่งเป็นบริษัทบริหารกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ออกมาแสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนการลงทุนในทองคำ แม้ว่าทองคำยังไม่สามารถรักษาระดับเหนือ$2,000ต่อออนซ์ แต่ทองคำขึ้นไปแล้ว8%ในปีนี้เนื่องจากปัจจัยบวกหลายอย่าง ราคาทองคำตกลงระดับ $2,050 ในช่วงต้นพฤษาภาคม ท่ามกลางความคาดหมายของตลาดว่ารัฐบาลสหรัฐจะเลี่ยงเส้นตายในการยกเพดานหนี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าราคาทองจะปรับตัวลงแต่หากสามารถยืนเหนือระดับ $2067 หรือระดับสูงสุดในรอบ10ปี มันอาจจะเริ่มออกตัวทำแรลลี่ในรอบใหม่ก็ได้


ที่กล่าวมาท้ังหมดคือมุมมองของตลาดทองคำในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว ทองคำกำลังได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นว่าเป็นทรัพย์สินที่มั่นคง หรือเป็นsafe haven เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงของการถูกเบี้ยวจากคู่กรณี (counterparty risk) ท่ามกลางความตึงเครียดของการเผชิญหน้าของมหาอำนาจโลกตะวันตก และตะวันออก ความกังวลใจของเงินเฟ้อ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงของสถาบันการเงิน และหนี้ที่พุ่งสูง และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสหรัฐ รวมท้ังความกังวลใจของสงครามยูเครนที่อาจจะขยายวง
ก่อนหน้านี้ มีความพยายามที่จะเปรียบเทียบบิทคอยน์ กับทองคำ โดยผู้ที่สนับสนุนคริปโตอ้างว่า บิทคอยน์เป็นDigital Goldที่จะเป็นตัวแทนของอนาคตของระบบเงินตรา ที่มีเทคโนโลยีบล็อคเชนรองรับ มีประโยชน์ใช้สอย และมีความคล่องตัวมากกว่าทองคำ ที่การเคลื่อนไหวของราคาค่อนข้างอืดอาด และไม่แน่นอน

แต่หลังจากที่ กลต. สหรัฐมีการฟ้องร้อง Binance และ Coinbase แพล็ตฟอร์มที่ให้บริการเทรดเงินคริปโตรายใหญ่ และมีการส่งสัญญานจากประธานกลต นายแกรี่ เกนส์เลอร์ว่า เงินคริปโตไม่มีความจำเป็น เพราะว่าเรามีสกุลเงินดิจิตัลอยู่แล้วที่เรียกว่าดอลล่าร์ ยูโร หรือเยน ทำให้นักลงทุนเริ่มเห็นความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดคริปโตมากขึ้น ว่าอาจจะถูกเงินดิจิตอลของธนาคารกลางมาแทนที่ (Central Bank Digital Currency) ทำให้ตลาดคริปโตหดหู่ และเซื่องซึมไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน

นอกจากนี้นักลงทุนในคริปโตมีความเสี่ยงว่า ตลาดรองจะถูกปิด ทรัพย์สินคริปโตอาจถูกอายัด หรือไม่สามารถถอนออกมาได้ด้วยเหตุผลนานาประการ แต่การลงทุนในทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทองคำแท่ง ไม่มีความเสี่ยงของ counterparty risk เป็นที่ทราบกันดีว่า ราคาทองมีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ตรงข้ามกับเงินดอลล่าร์ เมื่อดอลล่าร์แข็งค่าขึ้น ราคาทองจะอ่อนตัวลง ในทางกลับกันเมื่อทองคำมีราคาสูงขึ้น ดอลล่าร์จะอ่อนตัวลง
แนวโน้มดอลล่าร์จะอ่อนค่าลง เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐมีปัญหาจากฟองสบู่ที่แตก และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับจีน ซึ่งจะเป็นอานิสงค์ให้กับทองคำ

ยิ่งสหรัฐใช้มาตรการติดอาวุธดอลล่าร์ ด้วยการยึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียไปกว่า $300,000 ล้านหลังจากรัสเซียโจมตียูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ที่ผ่านมา ทำให้รัสเซีย จีน กลุ่มประเทศบริกส์ ซาอุดิ อาราเบีย และประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆต่างก็ไม่มั่นใจที่จะถือครองดอลล่าร์ต่อไป ทำให้ในขณะนี้กำลังเกิดกระแส de-dollarization หรือการไม่เอาดอลล่าร์มากขึ้น โดยจะหันมาค้าขายกันผ่านการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และจะลด หรือยกเลิกการใช้เงินดอลล่าร์

จีนกำลังใช้หยวนซื้อน้ำมัน แทนที่จะใช้ดอลล่าร์ การยอมรับหยวนแทนดอลล่าร์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ต้องการออกจากระบบดอลล่าร์ และอิทธิพลของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลกได้ประกาศว่า จะค้าขายกับเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกาด้วยเงินหยวน

กลุ่มบริกส์ ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้เตรียมเปิดตัวเงินสกุลร่วมในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ โดยจะเอาทองคำ หรือสินค้าโภคภัณฑ์หนุนหลัง และจะให้เงินสกุลร่วมบริกส์ทำหน้าที่เป็นเงินที่ใช้ค้าขายกันแทนเงินดอลล่าร์ นอกจากนี้ เงินสกุลร่วมบริกส์ยังจะทำหน้าที่เป็นรีเสิร์ฟ ซึ่งประเทศต่างๆสามารถเก็บในพอร์ตของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงของเงินตราของประเทศตัวเอง และใช้สำหรับชำระสินค้าและบริการที่มาจากต่างประเทศได้

การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างระบบการเงินโลกนี้จะมีนัยยะที่สำคัญต่ออนาคตของทองคำที่จะเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น เพราะว่าทองคำจะถูกใช้เป็นสินทรัพย์ไปหนุนค่าเงินสกุลร่วมของบริกส์ ซึ่งกำลังผงาดขึ้นมาเป็นองค์กรที่จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกแทนกลุ่ม G7 ในอนาคต

เมื่อมีดีมานด์ของทองคำเพิ่ม ราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ดอลล่าร์กำลังเข้าสู่ยุคเสื่อม
เมื่อประเทศต่างๆลดการพึ่งพาดอลล่าร์ รวมท้ังลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาถือกันว่าเป็นทรัพย์สินเกรดAที่มั่นคงปลอดภัยที่สุด และน่าถือครองมากกว่าทองคำ เพราะว่าให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ในขณะที่ทองคำไม่ให้ผลตอบแทนไม่ว่าจะในรูปดอกเบี้ย หรือเงินปันผล จะทำให้ทองคำกลับมาเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
กระแส de-dollarization จะทำให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนในสหรัฐน้อยลง เพราะว่าเมื่อมีดอลล่าร์ในมือน้อยลง จะทำให้ลดการลงทุนหรือถือครองทรัพย์สินดอลล่าร์โดยปริยาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของดอลล่าร์ ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ตลาดอสังหาฯ หรือเศรษฐกิจของสหรัฐโดยรวม รัฐบาลสหรัฐที่ก่อหนี้ที่เกินตัวมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษผ่านการออกพันธบัตรจะมีปัญหาในการไฟแนนซ์การทำสงคราม ซึ่งจะเป็นผลดีของสันติสุขของชาวโลก

อีกปัจจัยที่ทำให้ทองมีความน่าสนใจที่ควรจะลงทุนคือการที่ ธนาคารกลางท่ัวโลกกำลังแห่ซื้อทองเข้าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากการถือครองดอลล่าร์ ที่มีแนวโน้มจะเสื่อมค่าจากการเพิ่มประมาณเงิน หรือเพิ่มหนี้อย่างมหาศาลของรัฐบาลสหรัฐ ท่ามกลางโครงสร้างมหาอำนาจโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง ในปีที่แล้วธนาคารกลางของประเทศต่างๆมีการซื้อทองรวมกัน 1,136 ตัน และในไตรมาสแรกของปีนี้ ซื้อเพิ่มอีก 228 ตัน โดยที่ทุกคนเริ่มมองเห็นว่าระบบการเงินโลกกำลังเปลี่ยนไป โลกจะกลับมาอิงทองคำมากขึ้นในระบบเงินตรา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของเงินตราหลังจากที่โลกอยู่ในระบบเงินกระดาษมาตั้งแต่ปี 1971

มีบางคนมองว่า ถ้าหากสหรัฐจนมุมในการบริหารเศรษฐกิจที่แนวโน้มมีแต่ทรงกับทรุด เนื่องจากมีหนี้มาก ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน และมีการบริโภคที่เกินตัวมาตลอด ทองออกคือการลดค่าเงินดอลล่าร์ด้วยการตีค่าราคาทองใหม่ (revaluation of the gold price) เพื่อทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐมีความสามารถในการแข่งขั้นมากยิ่งขึ้น
เรื่องนี้ไม่ไม่เรื่องแปลก เพราะว่าเคยทำมาแล้ว ในปี 1933 หลังเกิดเหตุการณ์ The Great Depression รัฐบาลสหรัฐสั่งให้ประชาชนคนอเมริกันทุกคนที่มีทอง ต้องเอามาขายให้กับกระทรวงการคลังในราคา $20 ต่อออนซ์ มิเช่นนั้นจะต้องโทษปรับและจำคุก หลังจากที่ได้ตุนทองแล้ว รัฐบาลปรับราคาทองคำใหม่ที่ $35 ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นการลดค่าดอลล่าร์ไปเลย 75%

ถ้าหากสหรัฐตัดสินใจปรับฐานราคาทองใหม่ เพื่อรื้อฟื้นความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจ เหมือนกับที่ไทยลดค่าเงินบาทในช่วงต้มยำกุ้งปี 1997 ราคาทองจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว หรือจะพุ่งกระฉูดจนหยุดไม่อยู่เลยทีเดียว

( ติดตามตอนที่ 3 เกี่ยวกับดอลล่าร์ในวันพรุ่งนี้)


กำลังโหลดความคิดเห็น