xs
xsm
sm
md
lg

คริปโต ทอง ดอลล่าร์ หยวน CBDC เงินสกุลร่วมของบริกส์: ตัวไหนจะเข้าวิน? (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



คริปโต ทอง ดอลล่าร์ หยวน CBDC เงินสกุลร่วมของบริกส์: ตัวไหนจะเข้าวิน? (ตอนที่ 1)
โดยทนง ขันทอง


วันนี้เรามาดูแนวโน้มของทรัพย์สินที่สำคัญของโลก ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่สูง ดอกเบี้ยอยู่ในวงจรขาขึ้น ความผันผวนของตลาด และสงครามยูเครนที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติได้ง่ายๆ โดยเราจะเปรียบเทียบคริปโต ทองคำ เงินดอลล่าร์ CBDC เงินหยวน และเงินสกุลร่วมของบริกส์ที่เตรียมเปิดตัวในเดือนสิงหาคมปีนี้ว่า ทรัพย์สินตัวใดจะมาแรง หรือจะเข้าวินในที่สุด

#1. คริปโตระส่ำระสาย
สภาพของตลาดคริปโตตอนนี้เรียกได้ว่าดูน่าหดหู่และสิ้นหวังอย่างสุดขีดหลังจากที่กลต.ของสหรัฐได้ออกมาเล่นงานในแง่กฎหมายต่อทางเว็บเทรดผู้ให้บริการเทรดคริปโตยักษ์ใหญ่ 2 เจ้าได้แก่ Binance ยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ของโลกและ Coinbase เว็บเทรดยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯเหมือนกับว่าต้องการตัดตอนการพัฒนาหรือการขยายตัวของตลาดคริปโตทำให้นักลงทุนต้องเสียหายอย่างหนัก

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางการสหรัฐได้ปิดกิจการของธนาคาร Silicon Valley Bank ธนาคาร Silvergate และธนาคาร Signature ทำให้หลายคนมองว่าเป็นการเปิดฉากการสกัดตลาดคริปโตอย่างมีเงื่อนงำ เพราะว่าธนาคารเหล่านี้มีการทำธุรกิจทางการเงินเชื่อมโยงกับตลาดคริปโต และรัฐบาลสหรัฐเตรียมออกเงินดิจิตอลดอลล่าร์และไม่ต้องการให้คริปโตมาแข่งกับเงินดิจิตอลดอลล่าร์

ในขณะที่อุตสาหกรรมคริปโตกำลังระส่ำระสายกับมาตรการคุมเข้มของกลต.สหรัฐ นายแกรี่ เกนส์เลอร์ ประธานของกลต. ได้ออกมาประกาศว่า “สหรัฐฯ ไม่ต้องการสินทรัพย์คริปโตไปมากกว่านี้” โดยกล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Squawk on the Street ของสื่อข่าว CNBC เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา

“พวกเรามีสกุลเงินดิจิทัลอยู่แล้ว มันเรียกว่าดอลลาร์สหรัฐฯ เรียกว่ายูโร หรือเรียกว่าเยน ตอนนี้พวกมันเป็นดิจิทัลแล้ว พวกเรามีการลงทุนดิจิทัลแล้วเหมือนกัน” เขากล่าว

คำพูดของนายเกนส์เลอร์เหมือนกับคำประกาศิตว่า ยุคของตลาดคริปโตกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว
นายสก็อตต์ เมลเกอร์ เจ้าของบัญชีทวิทเตอร์ ‘Wolf of All Street’ ที่มีคนติดตามหลายแสนคน เชื่อด้วยว่าหลังจากที่เล่นงานคริปโตตัวรองต่างๆแล้ว กลต. จะหันมาจัดการกับบิทคอยน์ในวาระต่อไป

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้สร้างบิทคอยน์คือ Satoshi Nakamoto ซึ่งเป็นชื่อคนญี่ปุ่น แต่มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ผู้สร้างบิทคอยท์จะไม่ใช่คนญี่ปุ่น หรือเป็นบุคคลเพียงคนเดียว มีการคาดคะเนว่าผู้สร้างบิทคอยน์น่าจะทีมงานหลายคนของความมั่นคงของซีไอเอ หรือสภาความมั่นคงของสหรัฐ รวมท้ัง MI5 ของอังกฤษโดยน่าจะมีการดึงพวกเฮดจ์ฟันด์และแบงค์ยักษ์เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้าง "ดอลล่าร์ 2.0”


Satoshi หมายถึง intelligence หรือแลาด ส่วน Nakamoto หมายถึงcentral หรือ กลาง หรือผู้ที่อยู่ภาคกลาง ส่วนมากบนเกาะ Ryukyu ของญี่ปุ่น เอา 2 คำมารวมกันเราจะได้ Central Intelligence ถ้าเติมคำว่าหน่วยงาน Agency จะได้ คำว่า CIA พอดี
โครงการบิทคอยน์เริ่มต้นในห้องแล็ปของฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐก่อนที่จะปล่อยเสือเข้าป่าเพื่อให้คนคุ้นเคยกับคำจำกัดความใหม่ของเงิน ที่มีส่วนประกอบของเทคโนโลยี ต่างจากคำจำกัดความเดิมของเงินที่เป็น commodities เช่นทองคำ หรือเงิน ที่ต่อมาพัฒนาเป็นเงินกระดาษล้วนๆ ก่อนที่พัฒนาการของเงินในขั้นตอนต่อไปคือการเปิดตัวเงินดิจิตอลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency) มาใช้ เพื่อควบคุมระบบการเงินแบบเบ็ดเสร็จ

บิทคอยน์คือเงินคริปโต ที่มีการกระจายอำนาจการถือครองออกจากธนาคารกลาง หรือผู้บริหารเจ้าเดียว บิทคอยน์สามารถส่งจากผู้ใช้หนึ่งคนไปยังอีกหนึ่งคนบนเครือข่ายเพื่อนรักหักเหลี่ยมเพียร์ทูเพียร์โดยไม่ต้องมีคนกลาง เช่นธนาคาร

คำว่าคริปโตในความหมายของตัวมันเองคือสิ่งที่คลุมเคลือ หรือมีการสร้างรหัสลับเพื่อปกปิดตัวเอง
ด้วยเหตุนี้ Satoshi Nakamoto จึงเป็นชื่อที่อำพราง (cryptic) เพื่อไม่ให้คนทั่วไปรู้ว่ามีแหล่งกำเนิดที่แท้จริงมาจากที่ใด หรือวาระแอบแผงของบิทคอยน์

หลังบิทคอยน์เปิดตัวในปี 2010 และมีคริปโตตัวอื่นๆ (Alternative coins) ที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีคลอดตามออกมามากมากมาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับการเงินของสหรัฐ ยุโรป และประเทศต่างๆเพ่งเล็งตลาดคริปโตว่าอาจจะเป็นแหล่งฟอกเงิน หรือถูกใช้เพื่อการก่ออาชญกรรมหรือการก่อการร้าย เพราะว่าตรวจสอบที่มาที่ไปไม่ได้ จึงมีการข่มขู่ผู้เล่นในตลาดคริปโตเป็นระยะๆว่าอาจจะถูกมาตรการจำกัด ตัดตอน หรือการออกกฎหมายแบนไปเลยก็ได้ แต่ก็ยังปล่อยให้ตลาดคริปโตเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะว่าผู้ดูแลระบบการเงินโลกในปัจจุบันต้องการให้คริปโตเป็นใบเบิกทางให้ CBDC นั่นเอง

เมื่อได้เวลาเปิดตัว CBDC ซึ่งเป็นเงินดิจิตัลออกโดยธนาคารกลาง คริปโต ซึ่งเป็นนวัตกรรมของเอกชนล้วนๆจะหมดประโยชน์ และจะถูกแบนเพื่อไม่ให้มาแข่งกับ CBDC
ถ้าจะว่าไปแล้ว การลงทุนในคริปโตเป็นการลงทุนในลักษณะการเก็งกำไรล้วนๆ โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานอะไรมารองรับ เพราะว่าคริปโตเป็นเงินอากาศดีๆนี่เอง

ตลาดคริปโตเริ่มตั้งลำและกลายเป็นกระแสฮิตไปทั่วโลกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ปี 2017 โดยที่ราคาหรือมูลค่าของคริปโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนที่ตลาดรวมของตลาดคริปโตไปพีคที่ระดับ $3ล้านล้าน และบิทคอยน์ทำราคาสูงทุดที่ $68,991 ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021

การเติบโตของตลาดคริปโตไปเคียงคู่ขนานกับสภาพคล่องของดอลล่าร์ที่ล้นจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำ และการเพิ่มปริมาณเงินผ่านการทำคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งทำให้ทรัพย์สินทางการเงินต่างๆบูมไปหมด บิทคอยน์และเงินคริปโตตัวอื่นๆได้รับอานิงส์จากนโยบายการเงินที่ผ่านคลายนี้ เริ่มมีการยอมรับในทรัพย์สินคริปโตที่ถือว่าเป็นการลงทุนทางเลือก (alternative investment) มากขึ้นจากสถาบันการเงิน และกองทุนต่างๆแม้ว่าจะมีราคาผันวนขึ้นลงหวือหวาเป็นอย่างมาก นักลงทุนหน้าใหม่ หรือนักลงทุนยุคมิลเลนเนียลต่างก็กลายเป็นมหาเศรษฐี ร่ำรวยขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากการแห่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดคริปโต

แต่หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปี 2022 อย่างรุนแรง และรวดเร็ว เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยดึงดอกเบี้ยจาก 0%-0.25% จนถึง 5.0%-5.25% ในปัจจุบัน ปรากฎว่าทรัพย์สินทางการเงินต่างๆมีการปรับตัวลงมาอย่างแรง ฟองสบู่ของคริปโตก็แตกตามไปด้วย เพราะว่าไม่มีสภาพคล่องหล่อเลี้ยงเหมือนเดิม มูลค่าตลาดรวมของคริปโตลดลงจาก $3ล้านล้าน เหลือเพียง $1ล้านล้าน ในเวลานี้ ทำให้นักลงทุนคริปโตที่เข้ามาทีหลังขาดทุนมหาศาล

จีนไหวตัวทันในเรื่องคริปโต เพราะไม่ไว้ใจกับเงินอากาศที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล่อแมงเม่าให้เข้ากองไฟ จอร์จ โซรอสเป็นผู้เง่นเงินคริปโตรายใหญ่ ถ้าหากจีนปล่อยเสรีให้นักลงทุนจีน หรือสถาบันการเงินจีนเข้าไปลงทุนหรือเกี่ยวข้องกับคริปโต จะเกิดหายนะอย่างใหญ่หลวงต่อนักลงทุน และระบบการเงินที่เชื่อมโยงกัน อาจทำให้ระบบการเงินจีนพินาศได้ เพราะว่าในท้ายที่สุดจีนจะถือคริปโตที่ไร้ค่า ส่วนเงินหยวนที่มีค่าจะไหลไปอยู่ในมือต่างๆชาติ


ดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างรวดเร็วมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของระบบธนาคารของสหรัฐที่ปรับตัวไม่ทัน ถูกผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินจนรับมือแทบไม่ไหว ทำให้ธนาคารหลายแห่งถูกทางการเข้าไปแทรกแซงยึดกิจการขายให้ผู้ถือหุ้นใหม่ที่มีกำลังซื้อ และรัฐบาลสหรัฐต้องออกมาประกาศว่าจะค้ำประกันเงินฝากทุกเม็ด คาดกันว่ากว่าครึ่งของธนาคารในสหรัฐที่มีอยู่ทั้งหมด 4,500 กว่าแห่งล้มละลายทางบัญชีไปแล้ว รอวันที่จะถูกเช็คบิลด้วยการถูกสั่งให้ปิดกิจการ หรือถูกบังคับขายทอดตลาด

เงินฝากในระบบธนาคารสหรัฐมีอยู่ประมาณ $17ล้านล้าน ไม่มีทางที่ธนาคารกลาง หรือกระทรวงการคลังจะแบกรับภาระได้ ในกรณีที่ถูกถอนเงินท้ังระบบ หรือมีการล้มละลายที่ส่งกระทบแบบลูกโซ่ จึงทำให้มีหลายคนเชื่อว่าต่อไประบบธนาคารของสหรัฐจะมีธนาคารเหลืออยู่เพียง 5-6 แห่งเท่านั้น เพื่อเป็นการง่ายในการควบคุมดูแล โดยรัฐบาลจะยกเงินดอลล่าร์กระดาษ และนำเอาเงินดิจิตัลดอลล่าร์ที่ไม่มีกายภาพมาใช้ ซึ่งจะช่วยสกัดการแห่ถอนเงิน เพราะว่าไม่สามารถจะถอนเงินดิจิตัลที่ไม่มีรูปร่างไปเก็บที่บ้านได้
นอกจากนี้ สหรัฐยังมีปัญหาหนี้สินที่พะรุงพะรัง แม้ว่าจะมีการผ่านกฎหมายเพื่อเพิ่มเพดานหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว ทำให้หนี้สาธารณะ $31.4 ล้านล้าน จะพุ่งต่อไปแตะระดับ $35 ล้านล้าน ในปี 2025 ก่อนไปถึง $50 ล้านล้าน ในปี 2030 หนี้ที่พุ่งอย่างรวดเร็วจากการไร้วินัยทางการคลังแบบนี้ทำให้ความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลล่าร์จะหมดไป เพราะทุกคนรู้ดีว่ารัฐบาลสหรัฐไม่มีความตั้งใจที่จะใช้หนี้ มีแต่จะพิมพ์เงินเพิ่มในการก่อหนี้ใหม่ และจ่ายหนี้เก่า เนื่องจากต้องใช้จ่ายเงินมากในงบประมาณกลาโหม และงบประมาณผูกพัน

ยิ่งรัสเซีย จีนและกลุ่มประเทศ BRICS รวมท้ังประเทศผู้ผลิตนำ้มันกำลังทิ้งดอลล่าร์ เพื่อสร้างระบบการเงินโลกใหม่ที่ไม่ใช้ดอลล่าร์ แต่จะใช้เงินหยวน หรือเงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างกัน และจะตั้งเงินสกุลร่วมบริกส์ แรงกดดันของดอลล่าร์ในทิศทางขาลงยิ่งจะเพิ่มไปเรื่อยๆในอนาคต

วิธีทางแก้หนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐ และแก้ปัญหาในระบบธนาคารสหรัฐคือการเอา CBDC มาแทนดอลล่าร์ในปัจจุบัน เพื่อลดหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือเบี้ยวหนี้และเพื่อควบคุมการถอนเงินจากธนาคารของผู้ฝากเงิน คาดกันว่าเมื่อระบบการเงินสหรัฐไปต่อไม่ไหวจากการที่ดอลล่าร์ถูกนักลงทุนและธนาคารกลางของประเทศต่างๆดัมพ์ทิ้ง รัฐบาลสหรัฐจะนำเอา CBDC หรือดิจิตัลดอลล่าร์มาใช้

เมื่อถึงเวลานั้นบิทคอยน์ หรือเงินคริปโตท้ังหลายที่ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมาเป็นเป็นใบเบิกทางให้ CBDC จะหมดประโยชน์ และจะถูกกวาดล้างหรือถูกแบน เพราะว่ารัฐบาลสหรัฐย่อมไม่ต้องการให้คริปโตมาแข่งกับการผูกขาดของ CBDC
ด้วยเหตุนี้อนาคตของเงินคริปโตต่างๆ รวมท้ังบิทคอยน์จึงเปรียบเหมือนกำลังถูกแขวนบนเส้นด้าย ไม่รู้ว่าจะถูกควบคุมเพิ่มจากกลต สหรัฐ หรืออาจจะถูกแบนไปเลยผ่านการออกกฎหมายโดยสภาของสหรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดคริปโตที่ได้กระจายไปทั่วโลก หลังจากที่คริปโตถูกสร้างให้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเงินกระดาษ และเงิน CBDC และกำลังจะหมดประโยชน์

Zoltan Pozsar อดีตนักวิเคราะห์การเงินของเครดิต ซูอิสบอกว่า เขาไม่ได้ลงทุนในบิทคอยน์ หรือเงินคริปโต เพราะว่าเขาไม่ต้องการลงทุนอะไรที่เขาไม่เข้าใจ เขามองว่าบิทคอยน์ไม่น่าที่จำทำหน้าที่เป็นเงินได้ เพราะว่าจากการศึกษาตามประวัติศาสตร์ เงินต้องมีส่วนเชื่อมโยงวกับรัฐบาลเพื่อที่จะมีความยั่งยืน แต่บิทคอยน์เป็นนวัตกรรมของเอกชน และไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับรัฐบาลเลย

Nassim Taleb ผู้แต่งหนังสือ Black Swan บอกว่า อนาคตของคริปโตค่อนข้างจะง่อนแง่น เพราะว่ามันใช้การไม่ได้สำหรับการฟอกเงิน เพราะว่าสามารถจะตรวจสอบได้ ในขณะที่ทองคำสามารถเอาไปหลอมแปลงโฉมได้ แต่บิทคอยน์เป็นเหมือนการลงบัญชี Book Entry ที่มีหลักฐานทิ้งไว้

เขาเปรียบบิทคอยน์เหมือนกับเป็นการผสมเงินกับลัทธิของความเชื่อ (cult) เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นคร้ังแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่มีการทำเช่นนี้ เขาบอกว่า เราอาจผสมผสานลัทธิ Cult กับโยคะ หรือกับดนตรีได้ แต่จะไปทำกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินไม่ได้

เขาเชื่อว่า เมื่อรัฐบาลสหรัฐเปิดตัว FedNow หรือระบบชำระเงินในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้เพื่อรองรับเงินดิจิตอลของรัฐบาล ตลาดคริปโตอาจจะหมดอนาคตไปเลย

(ติดตามเรื่อง#2ทองคำ และ#3ดอลล่าร์ได้ในวันพรุ่งนี้)
กำลังโหลดความคิดเห็น