xs
xsm
sm
md
lg

หาดูยาก! ปรากฏการณ์ "หมวกเมฆสีรุ้ง" สุดตื่นตาบนท้องฟ้า อช.ดอยอินทนนท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 66 ภาพจากเฟซบุ๊กเพจอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ - doi inthanon national park
ย้อนชมภาพปรากฏการณ์ "หมวกเมฆสีรุ้ง" ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา บนท้องฟ้าในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 66 ภาพจากเฟซบุ๊กเพจอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ - doi inthanon national park
เฟซบุ๊กเพจอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ - doi inthanon national park โพสต์ภาพความสวยงามของปรากฏการณ์หมวกเมฆสีรุ้ง พร้อมข้อความว่า หมวกเมฆสีรุ้ง ☁️🌈 พลบค่ำของวันนี้ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 💚

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 66 ภาพจากเฟซบุ๊กเพจอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ - doi inthanon national park
ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ที่เรียกว่า Iridescent Pileus Cloud โดย Pileus Cloud นั้นมาจากภาษาละติน แปลว่า "หมวก" เมฆหมวกเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีอากาศยกตัวขึ้นในแนวดิ่ง เช่น บนยอดเขา ชั้นอากาศที่มีความชื้นเบื้องบนจึงถูกยกตัวขึ้น และควบแน่นเป็นหยดน้ำ เกิดขึ้นเป็นเมฆที่ดูเหมือนจะ "สวม" อยู่บนเมฆอีกทีหนึ่ง เราสามารถยืนยันได้ว่าเมฆหมวกเหล่านี้อยู่สูงกว่าเมฆเบื้องล่างจากการที่เงาของเมฆเบื้องล่างทอดขึ้นไปบนเมฆหมวกเหล่านี้

ส่วนปรากฏการณ์ที่เกิดเป็นสีรุ้งนั้น เรียกว่า "Iridescent Cloud" หรือ "Cloud Iridescence" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางแสงที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ คล้ายกับรุ้งกินน้ำหรือดวงอาทิตย์ทรงกลด แต่ในขณะที่รุ้งกินน้ำนั้นมีรูปแบบสีที่ตายตัวชัดเจน และทำมุมคงที่กับดวงอาทิตย์ เมฆสีรุ้งนี้นั้นซับซ้อนกว่ามาก

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 66 ภาพจากเฟซบุ๊กเพจอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ - doi inthanon national park
สำหรับปรากฏการณ์เมฆสีรุ้งนั้น เกิดขึ้นจากการคุณสมบัติแทรกสอดของแสง โดยจะเกิดขึ้นได้เมื่อหยดน้ำหรือผลึกน้ำแข็งมีขนาดที่เล็กมากๆ มีขนาดที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันสม่ำเสมอ และอยู่เป็นแนวบางๆ ไม่หนาจนเกินไป

ซึ่งในบางครั้งปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิด Pileus Cloud นั้นก็สร้างสภาพแวดล้อมที่พอเหมาะที่จะเกิดเงื่อนไขเหล่านี้ได้ แสงที่เราเห็นนั้นจึงเกิดขึ้นจากการที่หยดน้ำขนาดจิ๋วเป็นจำนวนมาก มีระยะห่างกันพอดีให้แสงสีใดสีหนึ่งของแสงอาทิตย์เกิดการแทรกสอดกันเสียจนมีเพียงสีเดียวที่สามารถส่องมาทิศทางเราได้

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 66 ภาพจากเฟซบุ๊กเพจอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ - doi inthanon national park
ในขณะที่แสงที่มีความยาวคลื่นต่างไปเล็กน้อยจะไปปรากฏที่มุมที่ต่างกันออกไป จึงสร้างภาพปรากฏคล้ายกับสีรุ้ง เช่นเดียวกับที่เห็นบนเปลือกหอยมุก คราบน้ำมันบนผิวน้ำ หรือฟองสบู่

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline
กำลังโหลดความคิดเห็น