xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ สั่งเฝ้าระวังโควิดเพิ่มช่วงนี้ วางมาตรการใน ร.ร.แนะฉีดวัคซีนกระตุ้นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ สั่งการเฝ้าระวังโควิด-19 เพิ่มเติมในช่วงนี้ กำหนดมาตรการเฝ้าระวังในโรงเรียน แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ป้องกันป่วยหนักหรือเสียชีวิต

วันนี้ (28 พ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งยังพบการแพร่ระบาดต่อเนื่อง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด เน้นย้ำคำแนะนำกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 (กลุ่มอายุ 60 ปี, กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์) เร่งฉีดวัคซีน ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน หรือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต

โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ปัจจุบันผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย 7 วัน ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2566 พบจำนวนผู้เสียชีวิต 64 ราย เฉลี่ยวันละ 9 ราย ส่วนใหญ่อายุมาก 70 ปีขึ้นไป และไม่ยอมรับวัคซีน กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 401 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 226 ราย ซึ่งมักไม่ได้รับวัคซีนและยังพบการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มวัยทำงาน นักเรียน และในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น มีการกระจายของผู้ป่วยในหลายจังหวัด ส่วนกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรง พบว่า เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี และส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือบางรายพบฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรลดลงมาก สายพันธุ์ที่พบการระบาดเป็นสายพันธุ์ใหม่/สายพันธุ์ย่อยอื่นจากต่างประเทศ มีการระบาดเพิ่มทั้งในเมืองและชนบท ตามมาด้วยจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งในช่วงนี้ รัฐบาลยังได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคในโรงเรียน ภายหลังการเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยขอความร่วมมือให้ครูประจำสถานศึกษาเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังฯ ในโรงเรียนตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และหากพบเด็กนักเรียนป่วยจำนวนมาก อาจให้มีการหยุดเรียนเป็นรายห้องเรียน หรือชั้นเรียน โดยไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคโดยเร่งด่วน

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในลักษณะเป็นเข็มกระตุ้นประจำปี ในทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้อ อย่างน้อย 3 เดือน โดยมีการจัดเตรียมวัคซีนโควิด-19 ให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และได้มีการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีต่อเนื่อง โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ พิจารณา ปรับมาตรการ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมขอความร่วมมือประชาชนไม่ประมาท และปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข ติดตามประกาศของกรมควบคุมโรคอยู่เสมอ” นายอนุชา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น