xs
xsm
sm
md
lg

พบ "ไข้เลือดออก" ป่วยพุ่ง 1.5 หมื่นคน สูงกว่าปีก่อน 5.4 เท่า เปิดศูนย์บัญชาการเร่งควบคุมช่วงหน้าฝน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมควบคุมโรค เผย "ไข้เลือดออก" ป่วยพุ่ง 1.5 หมื่ยคน สูงกว่าปีก่อน 5.4 เท่า ดับแล้ว 13 คน "น่าน" ป่วยสูงสุด เปิดศูนย์บัญชาการเร่งคุมยุงลายช่วงฤดูฝน ฝาก อสม.ช่วยรณรงค์ พบวัด-โรงเรียนแหล่งแพร่พันธุ์

วันที่ 26 พ.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ไทยพบผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ข้อมูลในปี 2566 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสัปดาห์ที่ 19 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 15,399 ราย มากกว่าปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งพบผู้ป่วย 2,942 ราย หรือมากกว่าถึง 5.4 เท่า ทั้งยังพบผู้เสียชีวิต 13 ราย พื้นที่ระบาดสูงสุด 5 จังหวัด คือ น่าน ตราด ชุมพร จันทบุรี และตาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ และเข้าเกณฑ์ที่จะต้องเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ของกรมควบคุมโรค จะมีอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และดำเนินการไปพร้อมกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ระบาด เพื่อระดมสรรพกำลังและทรัพยากรจัดการป้องกันควบคุมโรคให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด

กรมฯ เปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 พ ค. ที่ผ่านมา มี นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานส่วนตนเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ได้มอบข้อสั่งการเพื่อเร่งรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ดำเนินการร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ซึ่งดูแลกำกับ อสม.กว่าล้านคน จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลายให้หมดไปจากพื้นที่ตนเอง และจากข้อมูลการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ที่สำรวจลูกน้ำยุงลายในภาชนะน้ำขังตามสถานที่ต่างๆ พบว่า วัดพบลูกน้ำสูงสุด 64.6% โรงเรียน 55.1% สถานที่ราชการและโรงงานพบมากเป็นลำดับถัดมา

"วัดเป็นสถานที่มีประชาชนเข้ามาทำบุญมากมาย อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคเป็นอย่างมาก และโรงเรียนคือสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงคือเด็กนักเรียนกลุ่มวัย 5 ปีขึ้นไป ซึ่งจากสถิติเป็นกลุ่มที่มีรายงานการป่วยมากที่สุด" นพ.ธเรศกล่าว

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้คือช่วงฤดูฝนที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2566 และมีข่าวพายุลมฝนเกิดขึ้นเป็นระยะ ซึ่งทุกปีจะเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงสุด สืบเนื่องจากน้ำฝนที่ตกลงมาจะไปเพิ่มปริมาณแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในสถานที่ต่างๆ มากขึ้น การป้องกันควบคุมโรคให้ประสบผลสำเร็จจะต้องมีมาตรการทั้งในมิติของคน เชื้อโรค ยุงพาหะ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้หลายๆ วิธีการร่วมกัน เช่น การลดแหล่งเพาะพันธุ์โดยการจัดการสิ่งแวดล้อม การกำจัดลูกน้ำยุง การป้องกันไม่ให้ยุงกัด การใช้สารเคมีในการกำจัดยุง โดยเฉพาะในกรณีเกิดการระบาดของโรค

"หากมีอาการป่วยหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ซื้อยารับประทานเองโดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย และยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต" นพ.โสภณกล่าว

นพ.รัฐพงษ์ บุรีวงษ์ ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า การเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของประเทศไทยให้ไม่เกินค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี ภายใน มิ.ย.และตลอดช่วงฤดูฝนถึง ส.ค. และลดอัตราป่วยตายให้ไม่เกินร้อยละ 0.1 ในปี 2566 โดยใช้กลยุทธ์การติดตามกำกับและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในทุกจังหวัด สอบสวนแหล่งแพร่โรคและควบคุมโรคในจังหวัดที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก สื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์เรื่องโรคไข้เลือดออกด้วยสื่อที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย กำหนดให้มีภารกิจด้านต่างๆ คาดหวังให้มีการขับเคลื่อนระบบการจัดการทั้งด้านบนและในฐานพื้นที่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น